ข่าวเศรษฐกิจ

จับตาราคาดีเซล 1 ก.ค. จ่อทะลุ 35 บาทหลังกองทุนน้ำมันฯ ติดลบเกินแสนล้าน

28 มิ.ย. 65
จับตาราคาดีเซล 1 ก.ค. จ่อทะลุ 35 บาทหลังกองทุนน้ำมันฯ ติดลบเกินแสนล้าน
นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผย ภายหลังประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานว่า ที่ประชุมมีมติคงราคาดีเซลไว้ที่ลิตรละ 35 บาทต่อไป
 
 
โดยจะปรับขึ้นหรือคงราคาต่อไปอีกถึงเมื่อไหร่นั้น ตอนนี้ยังไม่สามารถยืนยันได้โดยจะพิจารณาจากปัจจัยราคาพลังงาน อัตราเงินชดเชย และฐานะกองทุนน้ำมัน
 
 
อย่างไรก็ตาม ในการคงราคาดีเซลไว้ในครั้งนี้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้ใช้น้ำมันดีเซลกว่า 66 ล้านลิตรต่อวัน หรือในสัดส่วน 66% จากปริมาณการใช้น้ำมันในประเทศไทย ซึ่งจนขณะนี้เวลา 19.30 น. กระทรวงพลังงาน ยังคงหารือเพื่อหาข้อสรุปในมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงาน อย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีแนวโน้วว่าจะยุติการประชุม
 
 
ทั้งนี้ ฐานะกองทุนบนเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ พบว่า ณ วันที่ 27 มิ.ย.2565 กองทุนติดลบ 102,586 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 65,202 ล้านบาท เป็นบัญชีก๊าซหุงต้ม LPG (ภาคครัวเรือน) ติดลบ 37,384 ล้านบาท มีเงินฝากเป็นสภาพคล่องของกองทุน 3,310 ล้านบาท
 
 
โดยกองทุนชดเชยราคาขายปลีกอยู่ที่ลิตรละ 10.91 บาท เพื่อตรึงราคาดีเซลไว้ที่ลิตรละ 34.94 บาท ตามเจตนารมณ์ในการที่จะตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกินเพดานที่ลิตรละ 35 ไปถึงสิ้นเดือนมิ.ย. 2565 จากราคาจริงจะอยู่ที่ประมาณลิตรละ 45.85 บาท
 
 
 
รายงานข่าวระบุว่า มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 22 มี.ค.2565 กำหนดให้กองทุนอุดหนุนราคาดีเซลครึ่งหนึ่งและประชาชนรับภาระครึ่งหนึ่ง ที่เพดานราคาไม่เกินลิตรละ 35 บาท แต่ข้อเท็จจริงหากดูราคาตลาดโลกวันนี้จะต้องปรับอีกลิตรละ 2.48 บาท หรือเป็นเกือบลิตรละ 38 บาท ซึ่งหลังจากรัฐบาลให้ตรึงราคาไว้ไม่เกินลิตรละ 35 บาท สิ้นสุดลงวันที่ 30 มิ.ย. 2565 นี้ โดยมาตรการที่จะดำเนินต่อไปในเดือนก.ค. 2565 จะเป็นอย่างไรนั้นต้องรอเชิงนโยบาย
 
 
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายฝ่ายกำลังระดมความคิดเห็นหารือถึงแนวทางดำเนินนโยบายดูแลราคาพลังงานอย่างเข้มข้น ซึ่งเป็นที่น่าจับตามองว่ากระทรวงพลังงานจะดำเนินการอย่างไรโดยเฉพาะหลังจากวันที่ 30 มิ.ย. 2565 นี้ไปแล้ว สถานะกองทุนน้ำมันที่ต้องติดลบเกิน 1 แสนล้านบาท อย่างต่อเนื่อง เฉพาะอย่างยิ่งหากยังต้องดูแลราคาเชื้อเพลิงต่อไป จนถึงเดือนก.ย.2565 ตามนโยบายของรัฐบาล โดยที่ยังไม่มีเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องในระบบเพิ่มเติมแต่อย่างใด
 
 
 

จับตา ครม.วันนี้ ถกเก็บกำไรโรงกลั่น

 
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่าการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (28 มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุม ครม.โดย ครม.จะมีการหารือกันในเรื่องเกี่ยวข้องต่อเนื่องกับการแก้ปัญหาค่าครองชีพของประชาชน ที่ ครม.มีการออกชุดมาตรการไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
 
แต่ในส่วนที่ยังไม่มีความชัดเจนคือการขอเก็บเงินกำไรบางส่วนจากโรงกลั่นเพื่อนำมาเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปัจจุบันมีสถานะติดลบกว่า 1 แสนล้านบาท
 
 
โดยกระทรวงพลังงานจะนำเสนอผลการหารือกับภาคเอกชนโรงกลั่นน้ำมันทั้ง 6 รายถึงประมาณการกำไรที่จะส่งเข้ากองทุนน้ำมันฯ ทั้งนี้แต่เดิมเคยมีตัวเลขจากการแถลงของนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานว่าจะมีการเก็บเงินกำไรจากโรงกลั่นสูงสุด 2.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่นานสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน บอกว่ายังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับตัวเลขที่แน่นอน ต้องมีการหารือกับเอกชนให้ได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์ที่ผ่านมา
 
 
อย่างไรก็ตามได้มีข้อเสนอเพิ่มเติมจากนายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรมว.คลัง ให้กระทรวงพาณิชย์ออกประกาศคุมราคาเพดานค่าการกลั่นเพื่อให้ราคาน้ำมันหน้าปั๊มลดลง
 
 
โดยนายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ระบุว่าไม่มีอำนาจทำได้ อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรีได้เรียกรองนายกฯทั้งสองคนมาหารือที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยมีเลขาธิการคณะกรรมกรากฤษฎีกาเข้าหารือด้วย โดยมีการคาดการณ์ว่าจะมีการออกประกาศ หรือกฎกระทรวงเพื่อกำหนดการส่งกำไรค่าการกลั่นที่ชัดเจน มากกว่าที่จะเป็นแต่การขอควาทร่วมมือจากกลุ่มโรงกลั่น
 
 
 
 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT