ข่าวเศรษฐกิจ

G7 อเวนเจอร์กู้ยูเครน? ผู้นำ 7 ชาติห้ามนำเข้าทองรัสเซีย

27 มิ.ย. 65
G7 อเวนเจอร์กู้ยูเครน? ผู้นำ 7 ชาติห้ามนำเข้าทองรัสเซีย

 

G7 เปิดฉากการประชุม ลั่นจะอยู่เคียงข้างยูเครน พร้อมแบนนำเข้าทองคำรัสเซีย ขณะที่สื่อนอกจับสัญญาณประชุมครั้งนี้ "บรรยากาศร้อนรุ่ม" เยอรมนีกังวลภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่อังกฤษไม่หนุนต้านจีน

การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 7 ประเทศ (G7 Summit) ซึ่งประกอบด้วย สหรัฐ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา และญี่ปุ่น ร่วมด้วยสหภาพยุโรป (อียู) เริ่มเปิดฉากขึ้นแล้วที่ ชลอส เอลโม (Schloss Elmau) แคว้นบาวาเรีย ประเทศเยอรมนี โดยมีประเด็นหลักๆ อยู่ที่เรื่อง "ยูเครน-รัสเซีย" และ "เศรษฐกิจโลก"


ในการประชุมวันแรกเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่ประชุมได้ประกาศมาตรการ "แบนทองคำจากรัสเซีย" ซึ่งเป็นสัญญาณเบื้องต้นของการแสดงท่าทีต่อต้านรัสเซีย และยืนหยัดอยู่เคียงข้างยูเครน


ในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทองคำกลายมาเป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับสองของรัสเซีย รองจากพลังงานเชื้อเพลิง โดยรัสเซียครองสัดส่วนเกือบ 5% ของตลาดทองคำโลก คิดเป็นมูลค่าเกือบ 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.74 แสนล้านบาท) เมื่อปี 2563 แต่ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 15,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 5.5 แสนล้านบาท) เมื่อปีที่แล้ว


ขณะที่ 90% ของทองคำที่ส่งออกจากรัสเซีย มีประเทศกลุ่ม G7 เป็นลูกค้ารายใหญ่ที่สุด โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร ด้านสหรัฐซื้อทองคำจากรัสเซียเป็นมูลค่าไม่ถึง 1 ล้านดอลลาร์ (ราว 35 ล้านบาท) เมื่อปี 2563 และ 2564


ทั้งนี้ มาตรการแบนทองคำของรัสเซีย ถือได้ว่าเป็นการยกระดับกดดันทางเศรษฐกิจฝ่ายเดียวต่อรัฐบาลมอสโก “ที่น่าจะหนักหน่วง และมีความหมายมากที่สุด” ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งยืดเยื้อเข้าสู่เดือนที่ 5 แล้ว


สำนักข่าว Bloomberg รายงานด้วยว่า ที่ประชุมจะมีมติร่วมกันสนับสนุนยูเครนต่อไป โดยจากเอกสารอย่างไม่เป็นทางการที่ได้มานั้น คาดว่าที่ประชุม G7 จะประกาศว่า กลุ่มประเทศจี 7 จะยังคงสนับสนุนยูเครนในทุกด้าน ทั้งการเงิน มนุษยธรรม การทหาร และการทูต และจะยืนเคียงข้างยูเครนไม่เปลี่ยนแปลง


ขณะเดียวกันสำนักข่าว Reuters ระบุว่า สมาชิกจี 7 ที่นำโดย "สหรัฐ" ยังเห็นชอบในหลักการระดมทุน 6 แสนล้านดอลลาร์ (ราว 21.28 ล้านล้านบาท) ทั้งจากภาครัฐและเอกชน ภายในปี 2570 เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา “ในการรับมือกับการขยายอิทธิพลของจีน" ตลอดจนการบรรเทาผลกระทบของวิกฤติเงินเฟ้อโลก ที่มีต่อราคาอาหารและเชื้อเพลิง


ทั้งนี้ จีนมีโครงการแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiatives) ที่เน้นเข้าไปช่วยลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก โดยมีแหล่งเงินสำคัญมาจากธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB) ซึ่งมีจีนเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ขณะที่ประเทศฝั่งตะวันตกแสดงความกังวลต่อเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว จนเมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐได้เสนอแผน G-7 B3W เพื่อรับมือกับจีน โดยมีการรีแบรนด์ชื่อเป็นโครงการ "หุ้นส่วนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานโลก" และเสนอแผนระดมทุนในการประชุม G7 ครั้งนี้


อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของอังกฤษ และประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ไม่ได้เข้าประชุมด้วยตนเอง เพียงแต่ส่งผู้แทนเข้าร่วมประชุม โดยเฉพาะในฝั่งอังกฤษนั้นมีรายงานว่า จอห์นสันได้พูดระหว่างการให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า ควรมีการหาจุดสมดุลให้ได้ ระหว่างการปกป้องคุณค่าร่วมกัน กับการทำธุรกิจกับจีน โดยทุกวันนี้ ทุกประเทศต่างก็มีการทำธุรกิจมหาศาลกับจีนอยู่

 

Bloomberg รายงานว่า แม้ภาพหมู่ผู้นำ G7 ที่ถ่ายหน้าเทือกเขาแอลป์ จะดูเย็นสบายและชื่นมื่น แต่บรรยากาศจริงของการประชุมปีนี้ กลับร้อนไปด้วยประเด็นปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาน้ำมันแพง จนกดดันเงินเฟ้อและกำลังเป็นปัญหาใหญ่ทั่วโลก


นอกจากนี้ บรรยากาศนอกสถานที่ประชุมก็ยัง "ร้อน" ของจริงด้วย เนื่องจากเป็นหน้าร้อนของยุโรปพอดี โดยอุณหภูมิช่วงกลางวันอาจสูงถึง 27 องศาเซลเซียส โดยระหว่างการถ่ายภาพหมู่นั้น มีผู้นำบางรายขอให้ถอดเสื้อสูท แต่นายกฯ อังกฤษยืนยันว่าต้องใส่ เพราะเป็นการโชว์ให้เห็นว่า แข็งแกร่งกว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ที่เคยถ่ายภาพถอดเสื้อโชว์กล้ามอกขณะขี่ม้าในช่วงหน้าร้อน ซึ่งเป็นภาพไวรัลไปทั่วโลกเมื่อหลายปีก่อนหน้านี้

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT