ข่าวเศรษฐกิจ

บาทอ่อนค่าสุดรอบ 5 ปี! ธปท. ชี้กังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย พร้อมเข้าดูแลหากผันผวนผิดปกติ

27 เม.ย. 65
บาทอ่อนค่าสุดรอบ 5 ปี!  ธปท. ชี้กังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย พร้อมเข้าดูแลหากผันผวนผิดปกติ

ค่าเงินบาททรุด อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 5 ปี แบงก์ชี้บาทอ่อนตามเงินสกุลเอเชีย หลังดอลลาร์แข็งค่าสุดในรอบ 5 ปี ระบุติดตามสถานการณ์การใกล้ชิดพร้อมดูแลหากเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ

 

นางสาวดารณี แซ่จู ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นกว่าคาดของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าอย่างต่อเนื่องและทำสถิติแข็งค่าสูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี ทำให้สกุลเงินภูมิภาครวมทั้งเงินบาทอ่อนค่าลง โดยตั้งแต่ต้นปีนี้ เงินบาทปรับอ่อนค่าลง 2.5% ขณะที่สกุลภูมิภาคอ่อนค่าระหว่าง 1% ถึง 5.5%

 

สำหรับการอ่อนค่าของสกุลเงินภูมิภาคมีปัจจัยเสริมจากความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนภายหลังการ lockdown ในหลายเมืองสำคัญ ขณะที่เงินบาทยังมีปัจจัยกดดันระยะสั้นเพิ่มเติมจากการส่งกลับเงินปันผลของนักลงทุนต่างชาติ

 

ทั้งนี้ แบงก์ชาติได้ติดตามสถานการณ์การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทและเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมดูแลหากเงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนมากผิดปกติ โดยภาคเอกชนควรบริหารความเสี่ยงอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินในสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

 

"เคแบงก์" มองบาทอ่อนกดดันเศรษฐกิจไทย


นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า เงินบาทที่อ่อนค่าหนักสุดในรอบ 5 ปีมาจาก 2 ปัจจัยกดดันหลัก ได้แก่

1. ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. นี้จะเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียน(บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จ่ายเงินปันให้กับนักลงทุน โดยประเมินว่าจะมีการจ่ายเงินปันผลให้กับนักลงทุนต่างชาติรวมประมาณ 75,000 ล้านบาทซึ่งจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติที่ได้รับเงินปันผลจะมีการขายเงินบาทเพื่อแลกนำเงินดอลลาร์กลับ

2. ท่าทีของธนาคารสหรัฐ(เฟด) ที่ส่งสัญญาณเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยตลาดคาดการณ์ว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกกเบี้ยต่อเนื่อง 10 ครั้ง โดยทุกการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่ 0.25% จะส่งผลให้หนี้การคลังของสหรัฐเพิ่มขึ้น 75,000 ล้านดอลลาร์

 

ทั้งจึงยังต้องติดตามท่าทีในการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐที่ล่าสุดออกมาอยู่ในระดับสูงที่ 8.50% แต่การเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วในอีกด้านก็จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐให้มีความเสี่ยงเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือมีอัตราการขยายตัวที่ติดลบติดต้อกัน 2 ไตรมาสซึ่งจะเกิดขึ้นในไตรมาส 4/2565 นี้

 

ดังนั้นต้องติดตามนโยบายการเงินในการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดว่าจะสามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วและถี่เพื่อใช้อแก้ไขปัญเงินเฟ้อที่ปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูงตามที่ประกาศไว้หรือไม่ เพราะจะมีผลกระทบเศรษฐกิจค่อนข้างมากจนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงมีความเสี่ยงให้หนี้สาธารณะของสหรัญเพิ่มจากปัจจัยอยู่ที่สัดส่วน 130% ของจีดีพี

 

นายกอบสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ปัจจัยการอ่อนค่าของเงินบาทในขณะนี้มีมุมมองว่าจะส่งผลกระทบในเชิงลบมากกว่าเป็นผลบวก เนื่องจากแม้เงินบาที่อ่อนค่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อภาคส่งออก แต่จะมีผลกระทบต่อภาพรวมต่อเศรษฐกิจที่มากกว่า เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มสินค้าโภคภัณฑ์ที่ไทยต้องนำเข้าอยู่ในทิศทางปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจะเป็นปัจจัยเสริมให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีราคาที่แพงขึ้นไปอีก ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่เคยเป็นรายได้หลักของประเทศไทยกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก็ยังเดินทางกลับมาท่องเที่ยวในระดับที่ยังน้อย

 

ข้อมูลการเคลื่อนไหวของค่าเงินตั้งแต่ต้นปี 2565 ถึงปัจจุบันบันมีดังนี้

-เงินบาทอ่อนค่า 2.4%

-เงินเยนอ่อนค่า 9.9%

-เงินดอลลาร์ไต้หวัน

 

สำหรับข้อมูลการเคลื่อนไหวของค่าเงินปี 2564 มีดังนี้

-เงินบาทอ่อนค่า 10.30%

-เงินเยนอ่อนค่า 10.50%

 

ปัจจัยที่ต้องติดตามคือ ในวันที่ 5 พ.ค. นี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(FOMC)ของเฟดจะมีการประชุมดอกเบี้ยนโยบาย และในวันที่ 9 พ.ค. นี้ นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย จะมีการแถลงประกาศความสำเร็จในการทำสงครามสู้รบกับยูเครน โดยระหว่างนี้จึงน่าจะเห็นการเคลื่อนไหวของตลาดค่าเงินจากปัจัยกดดัน 2 เรื่องดังกล่าว

 

"ซีไอเอ็มบี" ชี้เงินบาทเสี่ยงอ่อนต่อรับเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย และที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาทครึ่งปีหลัง มีโอกาสอ่อนค่าช่วง 1-2 เดือนนี้ หลังเฟดเร่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยและดูดกลับสภาพคล่องด้วยการลดงบดุล จะทำให้เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ อีกทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศไทยน่าจะขาดดุลสูงที่สุดในรอบปีจากการนำเข้าสินค้ากลุ่มพลังงานที่สูงตามราคาน้ำมัน รายได้การท่องเที่ยวที่ยังต่ำ

 

และการจ่ายเงินปันผลและเงินโอนไปต่างประเทศที่สูงในช่วงไตรมาสสอง ล้วนทำให้มีความต้องการเงินดอลลาร์สหรัฐสูงเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดี เงินบาทน่าจะถึงจุดสูงที่สุดในช่วงไตรมาสสองนี้ ก่อนจะปรับแข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

 

“คาดว่าเงินบาทจะอ่อนค่าช่วงไตรมาสสองไปที่ระดับ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แต่สิ่งที่ต้องกังวลไว้บ้าง นั่นคือหากเงินบาทอ่อนค่าแรงและเร็วเกินไป เช่น จากระดับราว 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วงปลายเดือนเมษายน ไปสู่ระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤษภาคมแล้วละก็

 

ผู้ส่งออกคงยากที่จะตั้งราคาหรือบริหารงบการเงินเพื่อดูแลต้นทุนการใช้จ่ายอื่นๆ แสดงว่าบาทอ่อนในภาพเช่นนี้ก็อาจไม่ใช่ผลดีเสมอไป โดยเฉพาะเงินบาทที่อ่อนจะทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะน้ำมันสูงขึ้น จนอัตราเงินเฟ้อเร่งแรง” ดร.อมรเทพ กล่าว

 

โดยสรุป ปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นจากเศรษฐกิจไทยโตช้าต้องอาศัยมาตรการดอกเบี้ยต่ำลากยาวมาสนับสนุน สวนทางกับฝั่งสหรัฐและประเทศในยุโรปที่เร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้เงินดอลาร์สหรัฐแข็งค่าเทียบสกุลอื่น เงินไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ ขณะที่ไทยมีความเสี่ยงขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงตามรายจ่ายค่าน้ำมันและขาดรายได้การท่องเที่ยว แม้คาดว่าเงินบาทจะไปแตะ 34.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐช่วงกลางปี

 

ทั้งนี้หากมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นกระทบเงินไหลออกหรือราคาน้ำมันเพิ่มสูงกว่าคาด มีโอกาสที่บาทจะอ่อนค่าไปถึงระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และน่าจะมีผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องปรับมุมมองว่าจะควบคุมการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนหรือจะปล่อยให้บาทอ่อนเพื่อช่วยผู้ส่งออก

แต่ก็อาจช่วยได้ไม่มากเพราะมีปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าระวางเรือสูง และขาดแคลนวัตถุดิบ เช่นชิปเซมิคอนดักเตอร์ในการผลิต นอกจากนี้ เงินบาทอ่อนค่าเร็วและแรงรอบนี้ อาจไม่ช่วยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ดีเช่นอดีต จากราคาสินค้านำเข้าที่สูงจะยิ่งกดดันการบริโภคฟื้นตัวช้า อีกทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวยังต่ำ ผู้ส่งออกที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อนมีไม่มาก ส่วนกลุ่มผู้นำเข้าเพื่อส่งออกจะเผชิญต้นทุนนำเข้าที่สูงแต่ไม่สามารถผลักภาระต้นทุนไปให้ผู้บริโภคได้

 

ดังนั้น ไตรมาสสองนี้ ผู้ส่งออกอาจเตรียมบริหารอัตราแลกเปลี่ยนไว้ให้ดี ทั้งการทำ natural hedging หรือใช้รายได้จากการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐมาจ่ายการนำเข้า การฝากเงินในสกุลเงินตราต่างประเทศ ผู้นำเข้าเองน่าจะป้องกันความเสี่ยงค่าเงินไว้บ้าง เงินบาทน่าจะอ่อนค่าแรงที่สุดถึงช่วงกลางปี ก่อนพลิกกลับมาแข็งค่าได้ในช่วงครึ่งปีหลัง

 

"กรุงไทย" แนะผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยง

ด้านธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเช้านี้(27เม.ย.) เปิดที่ระดับ 34.28 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปี และอ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.25 บาทต่อดอลลาร์ โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.20-34.40 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท มองว่า บรรยากาศในตลาดการเงินที่ยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง รวมถึงความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีน ยังอาจกดดันให้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลง

 

อีกทั้งล่าสุด เงินบาทได้อ่อนค่าทะลุแนวต้านที่ประเมินไว้ ทำให้บรรดาผู้ประกอบการทั้งฝั่งนำเข้าและส่งออกยังไม่แน่ใจว่าควรวางออเดอร์การทำธุรกรรมในจุดไหน ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจทำให้ เงินบาทสามารถผันผวนและอ่อนค่าขึ้นไปทดสอบแนวต้านแถว 34.40 บาทต่อดอลลาร์ ได้ นอกจากนี้ โฟลว์ธุรกรรมทยอยซื้อทองคำเพื่อถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงนี้ ก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันเงินบาทในฝั่งอ่อนค่า

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง แนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

นอกจากนี้ตลาดการเงินโดยรวมยังคงผันผวนหนักและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงเดิมๆ ที่กดดันตลาดการเงินพร้อมกัน อาทิ ความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่อาจกดดันให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก ปัญหาความไม่แน่นอนของสงคราม และความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในจีนที่อาจกดดันให้เศรษฐกิจจีนซบเซาหนัก ฉุดการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ซึ่งแม้ว่ารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ

 

ล่าสุด จะไม่ได้เลวร้ายมากนัก อาทิ ยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนพื้นฐาน ที่ไม่รวมเครื่องบินและอาวุธ (Core Durable Goods Orders) ยังสามารถขยายตัวได้มากกว่า 1.1% จากเดือนก่อนหน้าในเดือนมีนาคม หรือ ดัชนีภาวะภาคการผลิตอุตสาหกรรมของเฟด Richmond ในเดือนเมษายน ก็ยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลโอกาสทีเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะซบเซาลงหนักหรืออาจเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยจากการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT