ข่าวเศรษฐกิจ

ธนาคารโลก หั่นจีดีพีไทยเหลือ 2.9% กำลังซื้อลด เหตุจากของแพง กระทบเศรษฐกิจไทย

5 เม.ย. 65
ธนาคารโลก หั่นจีดีพีไทยเหลือ 2.9% กำลังซื้อลด เหตุจากของแพง กระทบเศรษฐกิจไทย
ไฮไลท์ Highlight
  อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ประเทศคู่ค้ามีเศรษฐกิจอ่อนแอลง ส่วนนี้หากรุนแรงขึ้นอาจส่งผลให้จีดีพีไทยต่ำลงกว่าการประเมินตามมาตรฐานจาก 2.9 % ไปอยู่ที่ 2.6% ได้ การคาดการณ์นี้อยู่ในสมมติฐานเช่นส่งครามยูเครนส่งผลกระทบกับตลาดการเงิน มาตรการการคลังที่ส่งผลบวกกับเศรษฐกิจน้อยกว่าที่ประเมิน

นางสาววรันธร ภู่ทอง นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกประจำประเทศไทย(เวิลด์แบงก์)ระบุว่า ล่าสุดธนาคารโลกปรับประมาณการณ์จีดีพีไทยลงเหลือ 2.9% ลดลงค่อนข้างมากจากที่เคยประเมินไว้ที่ 3.9% ประเด็นสำคัญมาจากความเสี่ยงในต่างประเทศโดยเฉพาะสงครามยูเครนที่ส่งผลต่อราคาพลังงาน

 

โดยไทยได้รับผลกระทบมากเพราะนำเข้าพลังงานเป็นสัดส่วนถึง 4.5 % ของจีดีพี นั่นส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น กระทบกับการบริโภคในประเทศ การลงทุน และการส่งออกที่อ่อนแอลง

 

อย่างไรก็ตามมีปัจจัยบวกที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวนั่นก็คือการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว โดยธนาคารโลกคาดการจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยในปีนี้ที่ 6.2 ล้านคน อย่างไรก็ตามยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงเวลาก่อนโควิด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยบวกจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ที่ทำให้การบริโภคในประเทศฟื้นตัวขึ้น

 

อย่างไรก็ตามยังมีความเสี่ยงเรื่องราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ประเทศคู่ค้ามีเศรษฐกิจอ่อนแอลง ส่วนนี้หากรุนแรงขึ้นอาจส่งผลให้จีดีพีไทยต่ำลงกว่าการประเมินตามมาตรฐานจาก 2.9 % ไปอยู่ที่ 2.6% ได้ การคาดการณ์นี้อยู่ในสมมติฐานเช่นส่งครามยูเครนส่งผลกระทบกับตลาดการเงิน มาตรการการคลังที่ส่งผลบวกกับเศรษฐกิจน้อยกว่าที่ประเมิน

 

 

"เวิลด์แบงก์" ดอกเบี้ยนโยบายไทยยังคงที่ 0.5%

ในส่วนของนโยบายการเงินของไทย ประเมินว่าว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังคงอยู่ที่ 0.5% ภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่แม้จะเติบโตมากกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว แต่ภาคการท่องเที่ยวนั้นยังคงอ่อนแอ อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด 40% ดังนั้นแนวโน้มของเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างอ่อนแอ ธนาคารแห่งประเทศไทยคงต้องดำเนินนโยบายการเงินผ่อนคลายเพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ

 

ในส่วนของเงินเฟ้อในไทย เป็นแรงกดดันจากห่วงโซ่อุปทานเป็นส่วนใหญ่ แรงกดดันสำคัญคือราคาพลังงาน อย่างไรก็ตามแรงกดดันนี้จะมีเพียงชั่วคราว ด้านแรงกดดันภายนอกกับค่าจ้างแรงงานยังจำกัดเนื่องจากเศรษฐกิจยังฟื้นตัวค่อนข้างต่ำ

 

สำหรับนโยบายการคลังจะเริ่มลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มปรับฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เช่นเดียวกับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นทำให้ภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น เพราะฉะนั้นการคาดการณ์ดุลการคลังมีแนวโน้มขาดดุลลดลง จากปี 2564 ทำให้หนี้สาธารณะไม่ได้ปรับขึ้นมาก อยู่ที่ 62% ต่อจีดีพี และจะทรงตัวในปีต่อๆ ไป

 

ด้านเสถียรภาพหนี้สาธารณะในสกุลเงินต่างประเทศยังอยู่ในระดับต่ำมาก ความเปราะบางภาคหนี้สาธารณะจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐยังไม่ส่งผลกระทบกับหนี้สาธารณะของไทยเท่าใดนัก

 

ขณะที่ส่วนของนโยบายภาครัฐในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างตรงจุด เช่นนโยบายคนละครึ่ง ช่วยสนับสนุนร้านค้าต่างๆที่ได้รับผลกระทบจากโควิด สนับสนุนให้การใช้จ่ายคึกคักมากขึ้นถือเป็นนโยบายเหมาะสม โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาน้ำมันพุ่งสูง ทำให้ภาคครัวเรือนรับผลกระทบมากเพราะมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารและพลังงานสูงถึง 50% ของรายได้ ดังนั้นนโยบายต่างๆของภาครัฐนับเป็นการลดภาระการใช้จ่ายได้ และตรงจุด โดยธนาคารโลกประเมินว่านโยบายเหล่านี้ทำได้อย่างเหมาะสม

 

ส่วนของหนี้ครัวเรือน ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการไกล่เกลี่ยหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีเป้าหมายที่หนี้ครัวเรือน สามารถผ่อนคลายภาระหนี้ครัวเรือน ช่วยเพิ่มช่องว่างการใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีการปรับภาระดอกเบี้ยให้ต่ำลงเป็นอีกมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย

 

โดยธนาคารโลกประเมินว่า มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เพิ่มเติมก็ยังคงมีความจำเป็น แต่ปัจจุบันภาระหนี้ยังคงสูงอยู่เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การกู้ยืมสูงขึ้น และแม้โครงการต่างๆในการช่วยลูกหนี้ยังคงช่วยได้ แต่หนี้ครัวเรือนที่จะปรับตัวลงมานั้นต้องใช้เวลา และเรื่องนี้ยังคงเป็นแรงกดดันกับการบริโภคในประเทศในระยะยาวต่อไป

 

กกร.หั่นจีดีพีไทยปีนี้เหลือ 2.5-4% 

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานที่ประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยและทั่วโลกปี 2565 ไม่แจ่มใส ขณะที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระทบต่อสินค้าพลังงานและสินค้านำเข้า

 

ดังนั้นจึงปรับประมาณการ GDP ปี 2565 (ณ เม.ย.2565) โต 2.5-4.0% ลดลงจากเดิมที่คาเการณ์ไว้ว่าจะโตได้ในกรอบ 2.5-4.5% โดยเงินเฟ้อปรับขึ้นเป็น 3.5-5.5% จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2-3% เท่านั้น ขณะที่การส่งออกยังคงไว้ที่กรอบเดิม 3-5%

 

โดยปัจจัยหลักที่จะผลักดันให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้ คือการที่ภาครัฐคลายล็อคมาตรการ Test&Go ด้วยการกระตุ้นการท่องเที่ยวให้ฟื้นตัวกลับมาให้เร็วที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ที่ยืดเยื้อและยังมีความรุนแรง ส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกมีแนวโน้มทะยานสูงขึ้น และทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มลดลง ความตึงเครียดดังกล่าวกดดันให้อุปทานน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมีทิศทางตึงตัว โดยทั้งปี 2565 ราคาน้ำมันดิบมีโอกาสอยู่เหนือ 100 ดอลลาร์ฯ ต่อบาร์เรล

 

นอกจากนี้ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ เช่น ในกลุ่มเกษตรและกลุ่มโลหะก็สูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งหมดนี้ ได้ทำให้ภาคธุรกิจต้องเผชิญภาระต้นทุนที่สูงขึ้น และส่งผลต่อเนื่องไปยังระดับราคาสินค้า ซึ่งเริ่มกระทบต่อความเชื่อมั่นของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุน

 

โดย OECD ประเมินว่า วิกฤตรัสเซียและยูเครนจะทำให้เศรษฐกิจโลกโตน้อยลงกว่าเดิมกว่า 1% และทำให้อัตราเงินเฟ้อโลกเพิ่มขึ้น 2.5% จากที่ประเมินไว้ก่อนเกิดวิกฤต ซึ่งเศรษฐกิจโลกจะเผชิญความเสี่ยงมากขึ้น จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในจีนที่ทำให้หลายพื้นที่ต้องล็อกดาวน์ และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ การล็อกดาวน์พื้นที่ในจีนเพื่อหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและอาจทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตในอัตราที่น้อยลงกว่าเดิม

 

รวมทั้งอาจเกิดภาวะ supply chain disruption ที่รุนแรงขึ้นได้ นอกจากนั้น ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นทั่วโลกส่งผลให้หลายประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มเติบโตลดลงเช่นกัน รวมถึงตลาดการเงินเริ่มกังวลความเสี่ยงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย

 

นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงที่สุดในรอบ 10 ปี คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 4.9% เป็นอัตราที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นมากจะเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์และกำลังซื้อในประเทศ

 

ดังนั้น แม้ว่าวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน จะกระทบการส่งออกและการท่องเที่ยวโดยตรงไม่มากนัก แต่ผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าพลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอื่น ๆ เช่น ปุ๋ย สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะหากไปทำให้ราคาอาหารสดและราคาอาหารสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยที่เผชิญความเสี่ยงรอบด้าน แต่ยังคาดว่าจะเติบโตได้ ความมุ่งมั่นของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในการปรับตัวให้สามารถอยู่กับโควิด-19 แบบเป็นปกติมากขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้

 

ทั้งนี้หากมีการยกเลิกมาตรการ Test&GO จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ในยามที่เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอื่นๆ มีข้อจำกัด และจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้เกิน 3%

 

อย่างไรก็ดี กกร. มีความเห็นว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจยังต้องการแรงกระตุ้น ภาครัฐควรพิจารณาต่ออายุโครงการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2565

 

ขณะที่สถานการณ์การส่งออกสินค้าของไทยไปจีน เป็นปัญหาที่ภาคเอกชน ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้องขอขอบคุณรัฐบาลในการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

 

โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศที่มีการการเจรจากับรัฐบาลจีนเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยรัฐบาลจีน ได้มีการสั่งการให้ส่งเจ้าหน้าที่จีนเข้าตรวจผลไม้ในประเทศก่อนส่งออกไปจีน รวมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่การขนส่งผลไม้จากไทยไปจีนอีกทางหนึ่งด้วย

ซึ่งสำหรับการดูแลคุณภาพและความปลอดภัย ก็ต้องขอบคุณกระทรวงมหาดไทยที่จะมีการประสานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ที่มีการส่งผลไม้ไปยังประเทศจีน ให้นำแนวทางปฏิบัติของจังหวัดจันทบุรี เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยจากโควิดในผลไม้ ไปใช้สำหรับเกษตรกรชาวสวน ล้ง และผู้ประกอบขนส่ง นอกจากนี้ต้องขอขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ที่ช่วยผลักดันประเด็นการแก้ไขปัญหานี้ด้วย

 

เสนอแผนสำรองส่งออกผลไม้ไทย

ทั้งนี้ กกร. ยังเสนอให้ภาครัฐพิจารณาแผนสำรองในการส่งออกผลไม้ ผ่านทางเรือและทางอากาศ รวมทั้งช่วยส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคผลไม้ภายในประเทศให้มากขึ้น นอกเหนือจากนี้ ปัญหาการส่งออกทุเรียน ซึ่งเป็นสินค้าหนึ่งในสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย เพื่อให้การบริหารจัดการทุเรียนเพื่อการส่งออก มีระบบการจัดการที่มีคุณภาพอย่างปลอดภัย ตามเกณฑ์ GAP,GMP+, SHA โดยคาดหมายว่าจะเริ่มส่งออกทุเรียนไปประเทศจีนผ่านระบบการจัดการดังกล่าว ได้ในเดือนเมษายน 2565

 

อย่างไรก็ตาม กกร. ตระหนักถึงความสำคัญของการบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เศรษฐกิจโดยรวมได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องทุ่มเททรัพยากรเพื่อฟื้นฟูธุรกิจ และปรับตัวให้อยู่รอด อีกทั้งปัจจุบันกฎหมายลำดับรอง ยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ และควรมีเวลาให้ทุกภาคส่วนพิจารณาทำความเข้าใจพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ นี้ด้วย

 

ดังนั้น กกร. จึงมีความเห็นว่าภาคเอกชนควรมีส่วนร่วมในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะในการพิจารณากฎหมายลำดับรอง จึงเห็นควรเสนอให้รัฐบาลพิจารณาเลื่อนการบังคับใช้กฏหมายฉบับนี้ไปก่อน ประมาณ 2 ปี เพราะจะทำให้เป็นต้นทุนที่เอกชนทุกขนาดต้องแบกรับคิดเป็นมูลค่าทั้งระบบกว่า 50,000 ล้านบาท

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

1.เปิด Test&Go วันนี้วันแรก รัฐบาลเชื่อท่องเที่ยวฟื้น มั่นใจจีดีพีโต 4%

 

2.Kbank จับมือ OR ช่วยลดผลกระทบน้ำมันแพง เปิดทางธุรกิจ-ลูกค้าบลูการ์ด ได้เครดิตเงินคืน


3.เงินเฟ้อไทยพุ่ง 5.73% สูงสุดรอบ13ปี สินค้า 178 รายการราคาสูงขึ้นกว่าเดือนก่อน


4.คนซื้อบ้านต้องรู้ อยากมีบ้านท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อควรทำอย่างไร?
 

 

advertisement

SPOTLIGHT