ข่าวเศรษฐกิจ

อียู จ่อคว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย? จับตาประชุมร่วม ไบเดน นาโต้ 24 มีนาคมนี้

21 มี.ค. 65
อียู จ่อคว่ำบาตรพลังงานรัสเซีย?  จับตาประชุมร่วม ไบเดน นาโต้  24 มีนาคมนี้
ไฮไลท์ Highlight
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ EU ต้องพิจารณาว่า อาจจำเป็นต้องใช้ทางเลือกที่รุนแรงขึ้นอย่างการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซีย ซึ่งสหรัฐและอังกฤษได้เดินหน้านำร่องไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่สมาชิกยุโรป 27 ประเทศยังคงสงวนท่าที เนื่องจากยังต้องพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียจำนวนมาก หาก EU เลือกวิธีนี้ก็ต้องเตรียมแผนพลังงานสำรองของประเทศตัวเองไว้เช่นกัน เนื่องจากจะได้รับผลกระทบไปด้วย  

รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป (EU) เตรียมพิจารณาว่าจะใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียหรือไม่ โดยในสัปดาห์นี้บรรดาผู้นำใน EU จะร่วมหารือกับประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐ เกี่ยวกับนโยบายที่จะใช้ตอบโต้รัสเซียซึ่งเข้าบุกโจมตียูเครนเมื่อเดือนที่ผ่านมา

 

การคว่ำบาตรต่อการนำเข้าน้ำมัน หรือพลังงานจากรัสเซีย ดูจะเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญที่ใช้ลิดรอนศักยภาพของประเทศรัสเซีย เนื่องจากรายได้หลักที่สำคัญของรัสเซียมาจากพลังงาน แต่จนถึงขณะนี้รัสเซีย ยังไม่มีท่าทีว่า จะหยุดการบุกยูเครนแต่อย่างใด ทำให้แรงกดดันต่อการคว่ำบาตรกำลังจะเพิ่มสูงขึ้นตามมา

 

ล่าสุดทูตอาวุโสจาก EU ระบุว่า  ขณะนี้ EU กำลังอยู่ในระหว่างกำหนดมาตรการคว่ำบาตรระลอกที่ 5 ต่อรัสเซีย โดยในวันนี้ (21 มีนาคม) รัฐมนตรีต่างประเทศจากสหภาพยุโรปจะร่วมหารือกัน ก่อนที่จะเปิดฉากการประชุมร่วมกับประธานาธิบดี ไบเดนในวันพฤหัสบดี (24 มีนาคม.) รวมถึงชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) 30 ประเทศ, ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศ G7 ซึ่งรวมถึงญี่ปุ่น

 

แม้จะโดนมาตรการคว่ำบาตรไปถึง 4 รอบ แต่ขณะนี้รัสเซียยังไม่มีทีท่าว่าจะถอนกำลังออกจากยูเครน โดยในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมานานาประเทศมีการคว่ำบาตรทางการเงินและการค้าต่อบุคคลของรัสเซียและเบลารุสไปแล้วถึง 685 คน

 

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวส่งผลให้ EU ต้องพิจารณาว่า อาจจำเป็นต้องใช้ทางเลือกที่รุนแรงขึ้นอย่างการคว่ำบาตรน้ำมันของรัสเซีย ซึ่งสหรัฐและอังกฤษได้เดินหน้านำร่องไปก่อนหน้านี้แล้ว แต่สมาชิกยุโรป 27 ประเทศยังคงสงวนท่าที เนื่องจากยังต้องพึ่งพาน้ำมันจากรัสเซียจำนวนมาก หาก EU เลือกวิธีนี้ก็ต้องเตรียมแผนพลังงานสำรองของประเทศตัวเองไว้เช่นกัน เนื่องจากจะได้รับผลกระทบไปด้วย

 

ทั้งนี้ ทูตเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า กลุ่มประเทศบอลติกซึ่งรวมถึงลิทัวเนียนั้น ได้สนับสนุนแนวทางการคว่ำบาตรภาคน้ำมันของรัสเซีย ขณะที่เยอรมนีออกมาเตือนว่า การดำเนินการดังกล่าวอาจเร็วเกินไป เนื่องจากราคาพลังงานในยุโรปนั้นยังคงสูงมาก และตั้งข้อสังเกตุว่า เยอรมัน พึ่งพาพลังงานจากรัสเซียมากที่สุดในยุโรป 

 

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กเมื่อวันศุกร์ 18 มี.ค. ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้น  แต่ยังคงลดลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากที่การซื้อขายเป็นไปอย่างผันผวนในสัปดาห์นี้ ท่ามกลางความวิตกเกี่ยวกับภาวะตึงตัวในตลาดน้ำมันหลังจากรัสเซียถูกคว่ำบาตรการส่งออกน้ำมัน

 

ทั้งนี้ สัญญาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 1.72 ดอลลาร์ หรือ 1.7% ปิดที่ 104.70 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลง 4.2% ในสัปดาห์นี้  ส่วนสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ส่งมอบเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้น 1.29 ดอลลาร์ หรือ 1.2% ปิดที่ 107.93 ดอลลาร์/บาร์เรล แต่ลดลง 4.2% ในสัปดาห์นี้

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT