ข่าวเศรษฐกิจ

เด็กจบใหม่ตกงานพุ่ง! สายสังคม-บริหาร ครองแชมป์เตะฝุ่น

1 มี.ค. 65
เด็กจบใหม่ตกงานพุ่ง! สายสังคม-บริหาร ครองแชมป์เตะฝุ่น

ตลาดงานสำหรับเด็กจบใหม่ยังแย่ จบปริญญาว่างงานมากสุด 49.3% "สาขาสังคมศาสตร์-ธุรกิจ-การบริหาร-พาณิชย์" ครองแชมป์เตะฝุ่น

 

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า ในไตรมาส 4 ของปี 2564 ประเทศไทยมีจำนวนคนว่างงานทั้งหมด 630,000 คน คิดเป็นสัดส่วน 1.64% ซึ่งแม้ในภาพรวมจะเป็นอัตราที่ลดลงต่ำสุดตั้งแต่ไตรมาส 2 ของปี 2563 หรือนับตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่สำหรับกลุ่มเด็กจบใหม่ที่ยังไม่เคยทำงานมาก่อน ถือเป็นตัวเลขที่สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

 

การว่างงานในกลุ่ม "เด็กจบใหม่ยังไม่เคยทำงานมาก่อน" มีอัตราเพิ่มขึ้น 4.1% โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กจบใหม่ระดับอุดมศึกษามากที่สุด (ปริญญาตรีขึ้นไป) มากที่สุด 3.22%

 

ทั้งนี้ เมื่อดูรายละเอียดของการว่างงานในกลุ่มเด็กจบใหม่ที่ไม่เคยทำงาน จะพบว่า เป็นสัดส่วนของเด็กที่จบระดับอุดมศึกษามากที่สุดถึง 49.3% ในขณะที่กลุ่ม ปวส. มีอัตราว่างงาน 7.2% และ ปวช. 2.9% ส่วน ม.ปลายอยู่ที่ 15.9% และ ม.ต้น 15.7%

 

สำหรับกลุ่มเด็กจบใหม่ในระดับปริญญาที่ว่างงานนั้น เป็นสาขาทางด้านธุรกิจและสังคมศาสตร์มากที่สุด ซึ่งสะท้อนถึงปัญหา Mismatching ของตลาดแรงงาน หรือการผลิตบัณฑิตในจำนวนที่ไม่ตรงกับที่ตลาดแรงงานต้องการ ซึ่งนับเป็นปัญหาที่ยืดเยื้อมานานต่อเนื่องตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการว่างงานในกลุ่มผู้ที่เคยทำงานมาก่อนแล้ว มีจำนวนอยู่ที่ 3.8 แสนคน ลดลงร้อยลง 21.7% จากไตรมาสก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 5.84 แสนคน

 

ส่วนสถานการณ์แรงงานปี 2564 การจ้างงานมีจำนวน 37.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.2% โดยเพิ่มจากภาคเกษตรกรรม 1.8% จากการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดเข้ามาทำงานในสาขานี้ ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมการจ้างงานลดลง 0.6% ซึ่งเป็นการลดลงในเกือบทุกสาขา ยกเว้นสาขาขนส่งที่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.7% โดยสาขาที่เกี่ยวข้องกับภาคท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากวิด มีการจ้างงานลดลง 3.1% เช่นเดียวกันกับสาขาการศึกษาที่การจ้างงานปรับตัวลดลง 6.5%

 

ด้านภาพรวมของชั่วโมงการทำงานภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ 44.4 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 43.2 ชั่วโมง/สัปดาห์ แต่การทำงานต่ำระดับยังอยู่ในระดับสูง อัตราการว่างงาน อยู่ที่ 1.93% เพิ่มสูงขึ้นจาก 1.69% ในปี 2563 จากผลกระทบที่สะสมตั้งแต่ต้นปี อย่างไรก็ดีการว่างงานในระบบที่สะท้อนจากผู้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน (รายใหม่) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
ขณะที่แนวโน้มตลาดแรงงานปี 2565 คาดว่า สถานการณ์ด้านแรงงานจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากโควิด “โอมิครอน” ไม่รุนแรง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อได้ ส่วนประเด็นที่ต้องติดตามต่อไป คือ

  1. การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมการระบาด โดยต้องเน้นให้เกิดมาตรการทางเศรษฐกิจมากขึ้น และเอื้อต่อการฟื้นตัวของกลุ่มเอสเอ็มอี
  2. การขยายตัวของแรงงานนอกระบบเพิ่มมากขึ้น จะต้องออกมาตรการจูงใจให้คนกลุ่มนี้สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนในระบบ
  3. ภาระค่าครองชีพของประชาชน ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ของปี 2564 ส่งผลทำให้แรงงานมีภาระค่าครองชีพเพิ่มขึ้น
  4. การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาทักษะ และการปรับเปลี่ยนทักษะที่สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและท้องถิ่น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ว่างงานระดับอุดมศึกษาและผู้ว่างงานระยะยาวยังมีอัตราว่างงานอยู่ในระดับสูง

advertisement

SPOTLIGHT