ข่าวเศรษฐกิจ

คว่ำบาตรรอบใหม่จะได้ผลมั้ย? เศรษฐกิจรัสเซีย หรือ ประเทศยูเครน จะพังก่อนกัน?

27 ก.พ. 65
คว่ำบาตรรอบใหม่จะได้ผลมั้ย? เศรษฐกิจรัสเซีย หรือ ประเทศยูเครน จะพังก่อนกัน?

สหรัฐเคยประกาศก่อนหน้านี้ว่า จะใช้มาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่กับรัสเซียแรงสุดเท่าที่เคยมีมา หรือเรียกได้ว่าเป็น "แม่แห่งการคว่ำบาตรทั้งปวง" (Mother of all Sanctions)

 

แม้นักวิเคราะห์จะมองกันว่าแผนที่ผ่านสภาคองเกรสมาจริงๆ จะไม่ได้แรงถึงขั้นนั้น โดยเฉพาะเมื่อยังไม่คว่ำบาตร "น้ำมัน-ก๊าซ" และ "ระบบชำระเงิน Swift" แต่ก็เชื่อว่า จะสามารถค่อยๆ บ่อนทำลายปราการทางเศรษฐกิจของรัสเซียลงมาได้ ซึ่งทีมข่าว SPOTLIGHT สรุปมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และชาติพันธมิตร มาให้ดังนี้

1. ช่องทางการเงิน - มุ่งเป้าแบงก์ใหญ่โดยตรง

ในการคว่ำบาตรรอบใหม่นี้ สหรัฐมุ่งเป้าไปที่ธนาคารขนาดใหญ่โดยตรง คือ สเบอร์แบงก์ (Sberbank) และวีทีบี (VTB) ซึ่งเป็นแบงก์รัฐและมีขนาดใหญ่สุด 2 อันดับแรกในประเทศ Sberbank นั้นมีสินทรัพย์ถึง 1 ใน 3 ของสินทรัพย์แบงก์รัสเซียทั้งหมด ส่วน VTB มีสินทรัพย์ประมาณ 16% นอกจากนี้ ยังรวมถึงแบงก์ใหญ่อีก 3 แห่งคือ Otkritie Novikom และ Sovcom ไม่ให้ทำธุรกรรมทางการเงินภายใต้การช่วยเหลือของธนาคารต่างๆ ในสหรัฐ แต่ยังไม่ตัดออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือ SWIFT

ส่วนอียูนั้น คว่ำบาตรแบงก์พาณิชย์รัสเซียเพิ่มเติมอีก 2 แห่ง นักเศรษฐศาสตร์มองว่าการคว่ำบาตรโดยตรงไปที่แบงก์ใหญ่ที่มีสินทรัพย์มากกว่าครึ่งประเทศแบบนี้ จะกระทบต่อระบบเศรษฐกิจรัสเซียไปด้วย โดยปัจจุบัน 80% ของสถาบันการเงินในรัสเซีย มีการทำธุรกรรมรายวันอยู่ที่ 46,000 ล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม แบงก์น้ำมัน หรือพวกธนาคารที่ทำธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายพลังงานโดยเฉพาะ เช่น Gazprombank (ในเครือบริษัทน้ำมัน ก๊าซพรอม) ไม่ได้ถูกคว่ำบาตรไปด้วย

2. ช่องทางการค้า - ควบคุมเทคโนโลยี

สหรัฐและยุโรปไม่ได้คว่ำบาตรการส่งออกน้ำมันและก๊าซ เพราะจะกระทบประชาชนและส่งผลเสียมากกว่าผลดี แต่เลือกที่จะคว่ำบาตรการค้าโดยมุ่งไปที่ภาค "เทคโนโลยี" เป็นหลัก โดยเฉพาะเทคโนโลยีการสื่อสาร การทหาร ความมั่นคง อากาศยาน เลซอร์ เซนเซอร์ ระบบนำวิถี เทคโนโลยีโรงกลั่นน้ำมัน เทคโนโลยีทางทะเล และหัวใจหลักอย่าง "เซมิคอนดักเตอร์" หรือชิปคอมพิวเตอร์ ซึ่งบริษัทชิปเบอร์ใหญ่ของโลกจากไต้หวันอย่าง TSMC ก็ได้ร่วมวงคว่ำบาตรด้วย นอกจากนี้ ยังรวมถึงการระงับโครงการท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 2 ในเยอรมนีอีกด้วย


3. ตัดท่อน้ำเลี้ยง "ปูติน & เดอะแก๊งค์"

แต่ที่ไม่เหมือนการคว่ำบาตรรอบที่ผ่านๆ มาก็คือ งวดนี้มีการแบล็กลิสต์ระดับผู้นำประเทศ อย่างประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน และรัฐมนตรีต่างประเทศ เซอร์เก ลาฟรอฟ รวมอยู่ด้วย ทั้งในแง่การอายัดทรัพย์สินในต่างประเทศและการห้ามเดินทางเข้าประเทศ
000_1q00vu
นอกจากนี้ ยังมีการขึ้นบัญชีดำเดอะแก๊งค์ที่เป็นนักธุรกิจ "คนวงในของปูติน" (ถูกตะวันตกเรียกว่าเป็นกลุ่มคณาธิปไตย Oligarch) หลายคนเป็นอดีต KGB มาด้วยกัน ก่อนจะผันตัวสู่เส้นทางธุรกิจจนเป็นมหาเศรษฐีในวันนี้ หลายคนเคยถูกขึ้นบัญชีดำไปก่อนแล้ว งวดนี้จึงลามไปถึงลูกหลานที่เป็นมือไม้สำคัญในการทำธุรกิจด้วย เช่น Sergei Sergeevich Ivanov, Ivan Igorevich Sechin และ Andrey Patrushev

4. ตัดท่อน้ำเลี้ยงรอบๆ รัสเซีย

นอกจาก "เบลารุส" จะเป็นมหามิตรที่ร่วมซ้อมรบและเป็นฐานในการส่งกำลังบุกโจมตียูเครนแล้ว ก็ยังถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐและพันธมิตรในครั้งนี้ด้วย โดยมีการคว่ำบาตรบุคคลและหน่วยงาน 24 แห่ง ซึ่งรวมถึงแบงก์รัฐ 2 แห่ง และบริษัทอาวุธ 9 แห่งด้วย


นักวิเคราะห์เชื่อ ป้อมปราการเศรษฐกิจรัสเซียจะค่อย ๆ ทลายลง

Reuters ได้อ้างความเห็นนักวิเคราะห์หลายคนว่า แม้รัสเซียจะใช้เวลาในช่วงเจ็ดปีที่ผ่านมา สร้างป้อมปราการทางการเงินที่แน่นหนาของประเทศ หลังจากที่ถูกลงโทษเมื่อครั้งยึดไครเมีย (ทางใต้ของยูเครน) ในปี 2014 แต่ในระยะยาว เศรษฐกิจของรัสเซียจะไม่สามารถทนต่อการโจมตีด้วยมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจของตะวันตกได้ ซึ่งเจพีมอร์แกนได้หั่นคาดการณ์จีดีพีรัสเซียในครึ่งหลังของปีนี้ไปถึง 3.5%

รัสเซียเพิกเฉยต่อการคว่ำบาตรงวดนี้ว่า จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจรัสเซียที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศกว่า 643,000 ล้านดอลลาร์ และมีรายได้มหาศาลจากธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ รัสเซียยังมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลถึง 5% ของจีดีพี และมีสัดส่วนหนี้เพียง 20% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดแห่งหนึ่งในโลก และเหล่านี้จึงถือเป็น “ป้อมปราการทางเศรษฐกิจ” ของรัสเซีย

อย่างไรก็ตาม คริสโตเฟอร์ แกรนวิลล์ ผู้อำนวยการจัดการของบริษัทที่ปรึกษา ทีเอส ลอมบาร์ด (TS Lombard) ย้ำว่า การมองว่ารัสเซียจะไม่ได้รับผลกระทบเลยนั้นเป็นการคิดที่ผิด มาตรการคว่ำบาตรอาจจะไม่มีผลโดยทันที แต่จะเป็นอุปสรรคต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจของรัสเซียในระยะยาว

000_1gr417

แม้ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นมาก จะช่วยให้รัสเซียมีรายได้เพิ่มขึ้นมา 17,200 ล้านดอลลาร์ในปีนี้ จากการเก็บภาษีกำไรของบริษัทพลังงานต่าง ๆ แต่มันก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่ต้องจ่าย ซึ่งก็คือ การถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อย ๆ จากเศรษฐกิจ ตลาด และการลงทุนของโลก ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิต การสร้างรายได้ การเพิ่มผลผลิต และผลกำไรของบริษัทต่างๆ ในรัสเซีย โดยอ้างถึงรายได้ครัวเรือนรัสเซียที่ยังต่ำกว่าระดับของปี 2014 และ 2019 และจีดีพีประเทศ

อิทธิพลของรัสเซียเองยังแผ่วลง สะท้อนจากการถือพันธบัตรสกุลเงินรูเบิลโดยนักลงทุนต่างชาติ ที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ตลาดหุ้นย่ำแย่หนัก การเข้าถึงเงินทุนต่างชาติเป็นไปอย่างจำกัด สถาบัน Peterson Institute for International Economics มองว่าการคว่ำบาตรจะบังคับให้รัสเซียต้องพึ่งพาตนเองในกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น จะลดการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ลดการลงทุนทางทหาร และหากมีการลงโทษที่รุนแรงกว่านี้ อาจจะทำให้รัสเซียถูกตัดออกจากระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ (SWIFT) และการห้ามไม่ให้มีการลงทุนใด ๆ ทั้งสิ้นในรัสเซีย

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT