ข่าวเศรษฐกิจ

สรรพากร ไม่มีนโยบายรีดภาษี ร้านค้ารายย่อย “คนละครึ่ง” แจงเก็บตามฐานรายได้เข้าข่าย

12 ก.พ. 65
สรรพากร ไม่มีนโยบายรีดภาษี  ร้านค้ารายย่อย “คนละครึ่ง”  แจงเก็บตามฐานรายได้เข้าข่าย
ไฮไลท์ Highlight
“จริงๆมีเรื่องร้องเรียนเรื่องความเป็นธรรม กรมสรรพากรไม่มีนโยบายเก็บภาษีร้านค้าคนละครึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เราไปเจอร้องเรียนออนไลน์เยอะมาก เช่น เรื่องการขายออนไลน์ อีกคนหนึ่งจ่ายภาษีถูกต้อง อีกคนจ่ายไม่ถูกต้อง ก็มีการร้องเรียนกันเองกันเยอะมาก ทั้งประเทศ ถ้าไม่ทำ ก็เกิดการไม่แฟร์” อธิบดีกรมสรรพากร กล่าว

อธิบดีสรรพากรยัน กรมฯไม่มีนโยบายสั่งรีดภาษีพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยที่ร่วมโครงการคนละครึ่งของรัฐบาล แต่รายที่มีรายได้สูงจากธุรกิจอื่น เช่น ค้าขายออนไลน์ ถือเป็นกลุ่มที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี - คลัง ชี้แจงปมเก็บภาษีย้อนหลังร้านค้าร่วมคนละครึ่ง ยันฐานข้อมูลไม่เชื่อมโยงสรรพากร

 

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่ากรณีที่มีกระแสข่าวว่ากรมสรรพากรเข้าไปจัดเก็บภาษีผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อยที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งของรัฐบาลว่า กรมสรรพากรไม่ได้มีนโยบายจะเข้าไปจัดเก็บภาษีร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งตามที่เป็นคนข่าวแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้จากการตรวจสอบและพบว่า เป็นร้านค้าคนละครึ่งที่เข้าข่ายการเสียภาษีนั้น เป็นเพราะร้านค้าดังกล่าวได้ทำธุรกิจอื่นๆด้วย เช่น ธุรกิจค้าขายผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งผู้ค้าเหล่านี้ จะมีฐานรายได้ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี

 

ทั้งนี้ที่ผ่านกรมสรรพากรได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงภาษีของผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์จำนวนมาก โดยเป็นข้อร้องเรียนในลักษณะที่แจ้งเข้ามาในเรื่องของความไม่เป็นธรรมในการเสียภาษีจากผู้ประกอบธุรกิจในรายที่เสียภาษีอย่างถูกต้อง เมื่อกรมฯเข้าไปตรวจสอบก็พบว่า ผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว มีการเสียภาษีไม่ถูกต้องจริง

 


“จริงๆมีเรื่องร้องเรียนเรื่องความเป็นธรรม กรมสรรพากรไม่มีนโยบายเก็บภาษีร้านค้าคนละครึ่ง แต่เป็นเรื่องที่เราไปเจอร้องเรียนออนไลน์เยอะมาก เช่น เรื่องการขายออนไลน์ อีกคนหนึ่งจ่ายภาษีถูกต้อง อีกคนจ่ายไม่ถูกต้อง ก็มีการร้องเรียนกันเองกันเยอะมาก ทั้งประเทศ ถ้าไม่ทำ ก็เกิดการไม่แฟร์” อธิบดีกรมสรรพากร กล่าว

 

 

ทั้งนี้เวลาไปตรวจสอบเรามักจะพบว่า ผู้ประกอบธุรกิจออนไลน์ที่มีรายได้ ก็ไม่ได้มาจากคนละครึ่ง ที่เป็นดราม่า เพราะเขาขายคนละครึ่งด้วย แต่พอโชว์สเตรทเมนท์ กลับเป็นแบงก์อื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมคนละครึ่ง ซึ่งคนละครึ่งใช้ผ่านแอพของธนาคารกรุงไทย ฉะนั้น ไม่ใช่เราจับคนละครึ่ง ที่ทำเพราะความเป็นธรรม


นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นตามที่มีกระแสข่าวผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการร้านค้าที่จังหวัดขอนแก่นรายหนึ่งรับทราบข่าวการประชาสัมพันธ์ของกรมสรรพากรเกี่ยวกับการยื่นเสียภาษีและสามารถขอคำแนะนำได้จากสรรพากรทั่วประเทศ จึงได้เข้าปรึกษาและขอคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่พร้อมเอกสารหลักฐานเพื่อประสงค์ชำระภาษีให้ถูกต้อง


โดยหลังจากที่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้ตรวจสอบจากหลักฐานการยื่นของผู้ประกอบการแล้วพบว่า รายได้ของผู้ประกอบการดังกล่าวเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่ได้ให้คำแนะนำว่า เมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีต้องมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และเจ้าหน้าที่ได้คำนวณภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม พร้อมทั้งให้คำแนะนำว่า เบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถยื่นคำร้องของดเบี้ยปรับได้ ซึ่งผู้ประกอบการรายดังกล่าวก็ได้ยื่นชำระภาษีพร้อมทั้งได้รับการพิจารณางดเบี้ยปรับทำให้มีการชำระภาษีลดลงกว่าที่ปรากฎในข่าวเรียบร้อยแล้ว

 

สำหรับการปฎิบัติตามกฎหมายผู้ประกอบกิจการที่เป็นบุคคลธรรมดาประกอบกิจการแล้วมีรายได้ หากในปี พ.ศ. 2564 มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดก็มีหน้าที่ต้องนำรายได้มายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาภายในวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นการประเมินตนเองของผู้ประกอบการ โดยมีหน้าที่นำรายได้จากการประกอบการกิจการยื่นเสียภาษีตามข้อเท็จจริง ส่วนพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์การมีรายได้ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของการประกอบกิจการ

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถนำเอกสารหลักฐานต้นทุนในการประกอบกิจการมาหักค่าใช้จ่ายจากยอดขายเพื่อคำนวณภาษีเงินได้ที่จะต้องชำระ หรือหากไม่มีการเก็บเอกสารหลักฐานต้นทุนก็สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาตามที่กฎหมายกำหนดได้ ซึ่งในบางกรณีก็จะไม่มีภาษีที่ต้องชำระแต่อย่างใด สำหรับผู้ประกอบการมีรายได้จากการขายสินค้าตั้งแต่ 1.8 ล้านบาทต่อปี จะมีภาระหน้าที่ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่กฎหมายกำหนดไว้อีกประการหนึ่งด้วย

 

นอกจากนี้ยืนยันว่า ฐานข้อมูลโครงการคนละครึ่งไม่ได้มีการเชื่อมต่อระบบกับกรมสรรพากรเพื่อตรวจสอบรายได้แต่อย่างใด โดยการที่รัฐบาลดำเนินโครงการคนละครึ่งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ประชาชน และส่งผ่านกำลังซื้อไปสู่ผู้ประกอบการให้มีรายได้เพิ่ม เมื่อผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้วและอยู่ในเกณฑ์เสียภาษีตามกฎหมายก็สามารถไปชำระภาษีได้ ยกตัวอย่างกรณีของผู้ประกอบการร้านค้าที่จังหวัดขอนแก่นรายข้างต้นที่มีเจตนาบริสุทธิ์และประสงค์ดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายก็ได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่และได้รับการพิจารณาให้งดเบี้ยปรับด้วย

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT