ข่าวเศรษฐกิจ

พาณิชย์ ชงงบครม. 1400 ล้าน แก้ปัญหาของแพง จัดงานลดค่าครองชีพ 3 เดือน!

14 ม.ค. 65
พาณิชย์ ชงงบครม. 1400 ล้าน แก้ปัญหาของแพง จัดงานลดค่าครองชีพ 3 เดือน!
ไฮไลท์ Highlight
“การเข้าไปกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค กระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่อยู่อย่างเต็มที่ แม้จะเป็นส่วนปลายทางของภาคการผลิตก็ตาม ซึ่งผมได้ให้เป็นนโยบายและการดำเนินการใดให้ถือหลักทุกฝ่ายสามารถอยู่ได้ ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ให้เกิดความสมดุล ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย”นายจุรินทร์กล่าว    

กระทรวงพาณิชย์ชง ครม. ของบกลาง 1,400 ล้านบาท ทำโครงการลดค่าครองชีพประชาชน 3 เดือน เผยวิธีการแก้ปัญหาเนื้อหมู เช็กสต๊อกทั้งระบบ เพิ่มจุดขายถูกกิโลละ 150 บาท 667 จุดทั่วประเทศ รณรงค์บริโภคโปรตีนทางเลือก ส่วนไข่ไก่สรุปแล้ว ตรึงไข่คละหน้าฟาร์มฟองละ 2.90 บาทจนกว่าจะคลี่คลาย ด้านเนื้อไก่นัดถกอีกครั้ง 17 มกราคมนี้ กำหนดรายละเอียดตรึงราคา แย้มเปิดจุดขายไก่ถูก 3,050 จุด ทั้งในห้าง ปั๊มพีที ตลาด

 

14 ม.ค 65 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ตรวจติดตามราคาสินค้า ที่โลตัส รัตนาธิเบศร์ ว่า กระทรวงพาณิชย์จะเสนอของบกลางในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 มกราคม 2565 วงเงินประมาณ 1,400 ล้านบาท มาจัดทำโครงการพาณิชย์ลดราคา! ลดค่าของชีพประชาชน เพื่อเพิ่มทางเลือก สร้างความสมดุลด้านราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพในตลาดและการบริโภคภาคครัวเรือนในสถานการณ์นี้ ซึ่งจะเป็นโครงการระยะ 90 วัน หรือ 3 เดือน

 

ส่วนกลไกการเพิ่มปริมาณเนื้อหมู กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการห้ามการส่งออก มีการเช็กสต๊อกหมูทั้งระบบ และได้เพิ่มจุดขายหมูเนื้อแดงราคาถูกกิโลกรัมละไม่เกิน 150 บาท 667 จุดทั่วทั้งประเทศ เพื่อชี้นำและแทรกแซงราคาในช่วงจำเป็น เพื่อแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคส่วนหนึ่ง และมีหลายฝ่ายออกมาช่วยรณรงค์ให้บริโภคโปรตีนทางเลือกอื่น เช่น ไก่ ไข่ ซึ่งได้เข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้หนีจากหมูราคาสูงมาเจอไก่ราคาแพง ถ้ามีการฝ่าฝืนจะเร่งดำเนินการตามกฎหมาย โดยเฉพาะการค้ากำไรเกินควร ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นกลไกหลักนำทีมแก้ปัญหาเรื่องนี้ในแต่ละจังหวัด

 

แนวทางแก้ปัญหาหมูแพง

ส่วนปัญหาหมูราคาแพง มีสาเหตุเพราะปริมาณหมูในระบบขาดหายไป การแก้ปัญหา คือ ทำอย่างไรให้ปริมาณเพิ่มขึ้น ราคาปรับลดลงในระดับที่ผู้บริโภคสามารถรับได้ ซึ่งต้องใช้ยาหลายขนาน ที่ดำเนินการไปแล้ว เช่น

  1. เพิ่มปริมาณหมูในตลาด โดยห้ามส่งออกหมู จะช่วยเพิ่มปริมาณหมูได้ปีละประมาณ 1,000,000 ตัวโดยประมาณ
  2. เร่งส่งเสริมการเลี้ยงหมูป้อนเข้าระบบ เป็นหน้าที่โดยตรงของกรมปศุสัตว์ ได้รับแจ้งจากกรมปศุสัตว์ว่า กำลังเร่งผลิตลูกหมูป้อนเข้าระบบสัปดาห์ละ 300,000 ตัวโดยประมาณ
  3. เร่งส่งเสริมการเลี้ยงหมู โดยรัฐบาลจัดให้มีโครงการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำผ่าน ธ.ก.ส. ให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยสามารถกู้เงิน
  4. ส่งเสริมการเลี้ยงหมูรายใหม่โดยเฉพาะรายย่อย มุ่งเน้นฟาร์มระบบมาตรฐานเพื่อป้องกันการติดโรค หากพบว่ามีการติดเชื้อปศุสัตว์จะต้องเร่งรัดดำเนินการแก้ปัญหา แต่ต้องเร่งจ่ายเงินชดเชย ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยดำเนินการเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน

แนวทางแก้ปัญหาไข่แพง

สำหรับไข่ไก่ ได้มีมติร่วมกันทั้งสมาคมผู้เลี้ยงไข่ทั่วทั้งประเทศ คนกลาง ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ รวมถึงผู้ส่งออก ตกลงกันตรึงราคาหน้าฟาร์มฟองละไม่เกิน 2.90 บาท จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ซึ่งจะมีผลให้การขายปลีกราคาปรับลดลงอยู่ที่ 3 บาทกว่าต่อฟอง ขึ้นอยู่กับขนาด และต้นทุนอื่น ๆ เช่น ค่าแผงบรรจุ เป็นต้น

แนวทางแก้ปัญหาไก่แพง

ขณะที่เนื้อไก่ มีการเจรจาเบื้องต้นและมีข้อสรุปแล้ว แม้ยังมีบางฝ่ายที่ยังติดขัด ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเรียกประชุมอีกครั้งวันที่ 17 ม.ค.2565 โดยมาตรการที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมการไว้ คือ 1.ด้านปริมาณได้รับการยืนยันจากเกษตรกรและผู้ผลิตรายต่าง ๆ ว่าจนถึงขณะนี้ ไก่มีปริมาณอย่างเพียงพอกับความต้องการของผู้บริโภค ชิ้นส่วนสำคัญ 3 ตัว คือ 1.ไก่สดทั้งตัว 2.น่องติดสะโพก และ 3.เนื้อหน้าอก ที่จะเป็นราคานำไปสู่ชิ้นส่วนอื่น ๆ ให้กำหนดข้อตกลงร่วมกันว่าจะตรึงราคาแต่ละชิ้นส่วนที่ราคาเท่าไร และ 2.แทรกแซงราคาชี้นำตลาดในราคาพิเศษ เพื่อป้องกันการดึงราคาสูงจนเกินไปเพื่อเป็นทางเลือก โดยจะจัดจุดจำหน่ายไก่ราคาถูก 3,050 จุด โดยต้องของบกลาง มาช่วยบริหารจัดการ และดูแลให้สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งจุดจำหน่ายไก่ราคาถูกที่เตรียมการไว้ จะมีในส่วนของห้างสรรพสินค้า ปั๊มน้ำมัน โดยเฉพาะปั๊มพีทีทั่วประเทศ 1,500 ปั๊ม ร้านสะดวกซื้อ ห้างท้องถิ่น รวมทั้งตลาดสด รถโมบาย และลานสาธารณะชุมชน

แนวทางดูแลอาหารสัตว์แพง

กรณีวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เมล็ดและกากถั่วเหลือง ฯลฯ และผู้ผลิตอาหารสัตว์ รวมถึงผู้เลี้ยงสัตว์ เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหา เช่น ลดภาษีนำเข้านั้นว่า ได้สั่งการให้นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ หารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวแล้ว เพราะมีเรื่องของภาษี เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ ในส่วนของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ล่าสุด ราคาอยู่ที่กก.ละ 10 บาทกว่า ถือเป็นเรื่องดี ที่เกษตรกรได้ประโยชน์ แต่ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ผู้เลี้ยงสัตว์ และผู้ประบริโภคเสียประโยชน์ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ต้องสร้างสมดุลให้กับทุกฝ่าย เพื่อให้อยู่รอดได้ทั้งหมด

แนวทางดูแลน้ำมันปาล์ม

ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรมได้หารือกับผู้ผลิตน้ำมันปาล์มขวดเพื่อการบริโภคให้ช่วยตรึงราคาขายไปก่อน เพื่อช่วยเหลือประชาชน ซึ่งผู้ประกอบการยอมกลืนเลือดให้ความร่วมมือ ปัจจุบันราคายังขายอยู่ที่ขวดละ 50-55 บาท ซึ่งเป็นราคาที่ต้นทุนน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ยังอยู่ที่กิโลกรัมละประมาณ 40-45 บาทเท่านั้น

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ราคาซีพีโอปรับขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 55 บาท และผลปาล์มสดปรับขึ้นไปอยู่ที่กิโลกรัมละ 10.90 บาท จากผลผลิตออกสู่ตลาดหมดแล้ว แต่ยืนยันว่า น้ำมันปาล์มขวดในท้องตลาดยังมีเพียงพอ ทั้งนี้ เชื่อว่าเดือนก.พ. 65 เมื่อผลผลิตเริ่มออกสู่ตลาด ราคาน่าจะอ่อนตัวลงได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดปรับขึ้นต่อเนื่อง หลังจากเมื่อปลายปี 63 ขึ้นมาอยู่ที่ขวดละ 50-52 บาท แต่ล่าสุดราคาที่ขายตามร้านสะดวกซื้อ ร้านโชห่วยขยับขึ้นเป็นขวดละ 55-57 บาทแล้ว เกินกว่าราคาที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือตรึงไว้ที่ 55 บาท และยังมีแนวโน้มขึ้นไปถึงขวดละ 60 บาท

จากการสอบถามผู้ประกอบการน้ำมันปาล์มได้รับแจ้งว่า สาเหตุมาจากผลผลิตปาล์มออกมาน้อย ทำให้ราคาผลปาล์มสด เพิ่มขึ้นจากเดือนกิโลกรัม 9 บาท เป็นกิโลกรัมละ 10-11 บาท ซีพีโอปรับขึ้นจากกิโลกรัมละ 46 บาท เป็น 55 บาทแล้ว และหากนำมาสกัดและบรรจุขวดสำหรับใช้บริโภค จะต้องขายเกิน 60 บาทขึ้นไปถึงจะคุ้มทุน ส่งผลให้ผู้ค้าอาหารทอดปรับขึ้นราคาขายกันแล้ว เช่น ร้านขายปลาทอด ย่านดอนเมืองขึ้นราคาขายรายการละ 5 บาท

แนวทางดูแลราคาสินค้าอื่นๆ 

ทางด้านสินค้าอื่นที่จำเป็นต่อการบริโภค เช่น เป็นอาหารกึ่งสำเร็จรูป กรมการค้าภายในยืนยันว่ายังไม่มีการอนุญาตให้สินค้ารายการใดขึ้นราคา ใครฉวยโอกาสขึ้นราคาต้องดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 29 จำคุกไม่เกิน 7 ปีปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ให้ดำเนินการโดยเคร่งครัด และตนสนับสนุนให้รัฐบาลเร่งโครงการคนละครึ่งมาดำเนินการเร็วขึ้น เพราะชาวบ้านตอนนี้ ต้องยอมรับว่าเดือดร้อนมาก คนละครึ่งจะเข้ามาช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชน 

“การเข้าไปกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภค กระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่อยู่อย่างเต็มที่ แม้จะเป็นส่วนปลายทางของภาคการผลิตก็ตาม ซึ่งผมได้ให้เป็นนโยบายและการดำเนินการใดให้ถือหลักทุกฝ่ายสามารถอยู่ได้ ทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ ผู้บริโภค ให้เกิดความสมดุล ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน เพื่อประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย”นายจุรินทร์กล่าว

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT