ข่าวเศรษฐกิจ

ดีเดย์เก็บ "ค่าเหยียบแผ่นดิน" 1 เม.ย. นักท่องเที่ยวต่างชาติ หัวละ 300 บาท

12 ม.ค. 65
ดีเดย์เก็บ "ค่าเหยียบแผ่นดิน" 1 เม.ย. นักท่องเที่ยวต่างชาติ หัวละ 300 บาท

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในไตรมาส 2 นี้ช่วงเดือนเม.ย. ปีนี้ รัฐบาลวางแผนจะเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าไทย 300 บาทต่อคน หรือเรียกกันว่า "ค่าเหยียบแผ่นดิน" เพื่อนำเงินที่ได้รับไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในไทย และทำประกันให้แก่นักท่องเที่ยว กรณีประสบอุบัติเหตุ หรือเสียชีวิต ก็จะได้รับวงเงินสูงสุด 1 ล้านบาท หรือ ค่ารักษาพยาบาล ได้รับสูงสุด 5 แสนบาท เป็นต้น โดยวางแผนเก็บรวมกับค่าตั๋วเครื่องบินกรณีเดินทางทางอากาศ และอยู่ระหว่างการพิจารณาวิธีการเรียกเก็บจากการเดินทางทางบก

 

ทั้งนี้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินหน้าแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในปีนี้ ซึ่งเป็นปีท่องเที่ยวไทย โดยกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กำหนดโปรโมทการท่องเที่ยวไทยภายใต้แนวคิด “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ นิว แชปเตอร์” (Amazing Thailand New Chapter) จุดขายใหม่ด้านการท่องเที่ยวของไทย ภายในเดือนมกราคม นี้ รวมถึงเดินหน้าจัดทำเส้นทางท่องเที่ยวสีขาว สอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (BCG) ในภาคการท่องเที่ยว ที่จะช่วยให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและปลอดภัยขึ้น

 

สำหรับเป้าหมายการท่องเที่ยวในปีนี้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดว่าไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ราว 1.3-1.8 ล้านล้านบาท คาดว่าจะมีต่างชาติเที่ยวไทย อยู่ที่ระหว่าง 5-15 ล้านคน สร้างรายได้ราว 8 แสนล้านบาท

 

โดยประเมินว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเหมือนปกติทั่วไป หากมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปและสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ไทยน่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 5 ล้านคน กรณีหากมีนักท่องเที่ยวอินเดียเพิ่มเข้ามา ก็จะได้ถึง 7 ล้านคนและ หากกรณีหากมีนักท่องเที่ยวจีนเปิดให้คนออกนอกประเทศได้ หลังกลางปีนี้ไปแล้ว ก็น่าจะมีประมาณ 9 ล้านคน

 

นอกจากนี้หากมีการเปิดชายแดนให้ท่องเที่ยวได้ก็จะมีนักท่องเที่ยวชาว เมียนมา, ลาว, มาเลเซีย ซึ่งน่าจะได้ถึง 15 ล้านคน ส่วนการเดินทางเที่ยวในประเทศ คาดว่าจะอยู่ที่ 160 ล้านคน จะสามารถสร้างรายได้ราว 7 แสนล้านบาทซึ่งในปีนี้ภาครัฐยังเดินหน้าโครงการกระตุ้นไทยเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้แม้จะมีโอมิครอน แต่การคาดการณ์ท่องเที่ยวในปี 2565 จะยังคงยืนเป้าหมายนี้ไว้อยู่เพื่อเป็นเป้าหมายสำหรับการทำงานต่อไป

 

“แม้จะมีการแพร่ระบาดของโอมิครอน แต่ล่าสุดหลายประเทศในแถบยุโรป และสหรัฐอเมริกา ก็ได้เลิกล็อกดาวน์แล้วเพราะได้รับการฉีดวัคซีน และแม้โอมิครอนจะแพร่กระจายเชื้อเร็ว แต่ความรุนแรงของอาการน้อยกว่าเดลต้า


ด้านนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ในวันที่ 1 เม.ย. 2565 ประเทศไทยจะเริ่มเก็บเงินจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยคนละ 300 บาท หรือเรียกกันว่าค่าเหยียบแผ่นดิน เบื้องต้นประเมินว่า หากปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา 5 ล้านคน จะสามารถจัดเก็บเงินได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท

 

ทั้งนี้จะนำเงินก้อนนี้ไปใส่ไว้ในกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ ซึ่งตั้งขึ้นตามพ.ร.บ. นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ 2562 ฉบับปรับปรุง และเมื่อได้เก็บมาแล้วสำนักปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ จะรับผิดชอบดูแลนำไปพัฒนาภารกิจเร่งด่วนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว

 

“จำนวนเงินที่เก็บจากนักท่องเที่ยวคนละ 300 บาทนั้น จะดึงออกมา 50 บาทเพื่อนำไปซื้อประกันภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ซึ่งในปีแรกอาจจะเหลือเงินใส่เข้าไปในกองทุนนี้ 1,250 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยเฉพาะการสร้างทางขึ้นลงสำหรับคนพิการในสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ และการสร้างห้องน้ำสำหรับนักท่องเที่ยวให้เหมือนห้องน้ำของญี่ปุ่นที่สะอาดและดีมาก ซึ่งจะต้องให้ท้องถิ่นเข้ามาร่วมลงทุนตรงนี้เพื่อให้บริหารและดูแลต่อเนื่อง”

 


โดยการจัดเก็บเงินเข้าประเทศจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติคนละ 300 บาท เดิมกำหนดไว้ว่าจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 แต่ต้องเลื่อนออกไป เพราะมีการหารือกับทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ถึงปัญหาเรื่องการจัดเก็บเงินที่ที่ทางไออาต้า ระบุว่าต้องจัดเก็บกับทุกคนทั้งคนไทยและต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย ซึ่งการเก็บเงินคนไทยด้วยนั้นขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญของไทย

 

ดังนั้น จึงเปลี่ยนมาประสานทางสายการบินให้จัดเก็บเงินนี้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้นแทน โดยจะคิดรวมอยู่กับราคาตั๋วเครื่องบินเลย ซึ่งกระทรวงคมนาคมกำลังเจรจากับสายการบินเกือบครบทุกสายการบินแล้ว คาดว่าในเดือนมีนาคม 2565 จะเสร็จสิ้น ขณะที่การเดินทางเข้าประเทศไทยทางบกจะมีการพัฒนาแอพพลิเคชันขึ้นมาให้นักท่องเที่ยวจ่ายเงินก่อนเดินทางเข้ามาและให้แสดงหลักฐานก่อนเข้าประเทศว่าได้จ่ายเงินแล้ว

 

ส่วนข้อเสนอของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้จัดเก็บเพิ่มอีก 200 บาท รวมเป็นคนละ 500 บาท เพื่อนำเงินไปดำเนินการปรับโครงสร้างท่องเที่ยวนั้น ได้หารือกับ ททท.แล้วว่า เรื่องนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ที่กระทรวงให้ดำเนินการเรื่องนี้ ระบุว่า 300 บาทต่อคน เป็นอัตราที่เหมาะสม

 

อย่างไรก็ตาม ททท. สามารถเสนอโครงการมาขอใช้เงินในกองทุนนี้ได้เช่นกันทั้งนี้ การจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินนี้ หลายประเทศได้มีการจัดเก็บเกือบหมดแล้ว ทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น มาเลเซีย โดยส่วนใหญ่จะรวมอยู่ในราคาตั๋วเครื่องบิน หรือราคาห้องพัก

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT