ธุรกิจการตลาด

‘ชาไทย’ ติดอันดับ 5 เครื่องดื่มอร่อยที่สุดในโลก ทำไมคน 'ติดชาไทย'

6 ธ.ค. 66
‘ชาไทย’ ติดอันดับ 5 เครื่องดื่มอร่อยที่สุดในโลก ทำไมคน 'ติดชาไทย'

‘ชาไทย’ เครื่องดื่มขวัญใจคนไทยและต่างชาติจนคว้ารางวัล ‘เครื่องดื่มที่อร่อยที่สุดในโลก’ อันดับที่ 5 แบบสดๆ ร้อนๆ เมื่อสิ้นเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ในหมวดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ จากเว็บไซต์ Taste Atlas

 

ซึ่งชาไทย ไม่ได้มีดีที่รสชาติเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ชาไทยยังหอมหวล เย้ายวนใจ ชวนทำให้สาวกชาส้มซื้อกินได้ทุกวันแบบไม่มีเบื่อ จนร้าน ‘ฉันจะกินชาเย็นทุกวัน’ หยิบไปตั้งเป็นชื่อของร้าน แม้แต่ตัวผู้เขียนตอนนี้ ก็กำลังเพลิดเพลินกับชาไทยหวานร้อยใส่น้ำแข็งบด ที่ทั้งอร่อย สดชื่ด และปลุกให้ตื่นได้ดียิ่งนัก

 

ว่าแต่ ‘ชาไทย’ มีอะไรที่ทำให้แฟนคลับกลับมาซื้อได้ทุกวัน SPOTLIGHT ได้รวบรวมประวัติศาสตร์ของชาไทย รวมถึงสมมติฐานที่ทั้งอ้างอิงจากฟากของวิทยาศาสตร์ และคหกรรม ว่าทำไม คนไทย และชาวโลก ถึงติดชาไทยกันงอมแงมเช่นนี้

 

1701861064795

 

ทำไมคนไทยชอบกินชาเย็น?

 

สามสิ่งที่คาดว่า ทำให้คนรักชาไทยเกิดอาการเสพติดได้ นอกจากรสชาติที่แสนอร่อยแล้ว คือ คาเฟอีน น้ำตาล และสีส้ม

 

ความหวาน

 

-ส่วนการ ติดดหวาน (Sugar Blues) หรือภาวะเสพติดน้ำตาล คือ ร่างกายมีความต้องการรับประทานอาหาร เครื่องดื่มที่มีรสชาติหวานอยู่ตลอดเวลา หากไม่ได้ทานจะแสดงอารมณ์ที่ผิดปกติ จากการหิวโหย ที่เรียกว่าการ ‘โหยน้ำตาล’ โดยเฉพาะช่วงเวลาประมาณสิบโมงเช้า และบ่ายสามโมง 

 

สาเหตุเกิดจาก เมื่อรับประทานของหวานเข้าไปแล้ว จะไปกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุขที่ชื่อว่า Dopamine จนเกิดการเสพติด ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในผู้ที่ประสบกับภาวะเครียดเรื้อรัง นอนดึก พักผ่อนไม่เพียงพอ ตามกลไกของธรรมชาติจะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมน Cortisol ที่ขาดสมดุล ความอยากรับประทานอาหารหวาน หรือมีไขมันสูงจึงมีมากขึ้น รับประทานในปริมาณมากเท่าใดก็ไม่อิ่ม หากรสชาตินั้นไม่หวานจัด

 

คาเฟอีน

 

- ‘คาเฟอีน’ เป็นสารในกลุ่ม Xanthine alkaloid พบมากใน เมล็ดกาแฟ ใบชา เมล็ดโกโก้ เมล็ดโคล่า มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของสมองและระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว กระปรี้กระเปร่า ลดความง่วง ทำให้รู้สึกสดชื่น มีสมาธิ และลดความเหนื่อยล้าลงได้ จากการที่คาเฟอีนมีโครงสร้างทางเคมีคล้ายคลึงกับสาร Adenosine ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งในสมองที่ทำให้สมองรู้สึกผ่อนคลาย และทำให้ร่างกายรู้สึกง่วงหงาวหาวนอน เมื่อคาเฟอีนเข้าสู่ร่างกายแล้ว จะเข้าไปยับยั้งการทำงานของ Adenosine และทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว ช่วยลดความเหนื่อยล้า และเพิ่มสมาธิได้

 

ซึ่งหากเราดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนต่อเนื่องทุกวัน จะเพิ่มความเสี่ยงต่อ ‘การติดคาเฟอีน’ (Caffeinism) ได้ ทำให้มีความต้องการดื่มกาแฟ ชา หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนทุกวัน โดยสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้คือ

 

-เริ่มดื่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะรู้สึกว่าการดื่มเท่าเดิมไม่ได้ช่วยอะไร อาการนี้เรียกว่า “ภาวะดื้อคาเฟอีน”

 

-หากวันไหนไม่ดื่มจะส่งผลให้ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย และต้องการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีน เรียกว่า “ภาวะถอนคาเฟอีน”

 

สีส้ม

 

 ตามหลักจิตวิทยาของสีกับอาหารแล้ว สีที่ส่งผลกระตุ้นความอยากอาหารของมนุษย์ได้ดีนั้นคือสีโทนร้อน ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ร้านอาหารโดยเฉพาะกลุ่ม Fast Food จะเน้นใช้สีกลุ่มแดง เหลือง ส้ม เพื่อกระตุ้นให้คนอยากกิน และรีบกิน สีของชาไทยซึ่งเป็นการแต่งสีให้ส้มขึ้นกว่าปกติ จากวัตถุดิบหลักคือ ชาซีลอน ในกลุ่มชาดำ ซึ่งเมื่อเทียบกับรูปลักษณ์ต้นฉบับ อย่างชาซีลอน หรือชาชนิดอื่นๆ แล้ว ชาไทยสีส้มจะดูโดดเด้ง ชวนให้ลิ้มลองมากกว่า เดินผ่านหน้าร้านทีไรก็อยากจะเข้าไปซื้อทุกที

 

fb_img_1701869406590

 

‘เชฟบิลลี่’ เผยความลับ ‘ชาไทย’ ทำไมถึงกลายเป็นขวัญใจคนทั่วโลก

 

‘เชฟบิลลี่’ หรือคุณชัชวาร บุญทอง ผู้เข้าแข่งขันรายการมาสเตอร์เชฟไทยแลนด์ ซีซั่น 4 และ Co-Founder คาเฟ่ The Attic ที่จังหวัดกาญจนบุรี เผยว่า รสชาติของชาไทยนั้นเป็นรสชาติที่มีเอลักษณ์ต่างชาติชาในตระกูล ‘ชาดำ’ อื่นๆ แม้คาดว่าจะมีที่มาเดียวกับชา Masala Chai ของอินเดีย แต่ก็ถูกปรับกลิ่นรสจนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งนอกจากกลิ่นหอมของใบชาซีลอนแล้ว ยังมี ‘โป๊ยกั้ก’ เครื่องเทศที่ช่วยเพิ่มกลิ่นหวานหอม พร้อมกับ ‘สีส้ม’ ที่ทำให้ดูน่าทานมากยิ่งขึ้น ทำให้เกิดเป็นรสชาติหาทานไม่ได้ที่ไหนในโลก

 

ใบชาดำนั้นเกิดจากการหมักหรือบ่ม และผ่านความร้อน เมื่อนำมาทำเป็นทำเป็นเครื่องดื่มจึงมีรสชาติเข้ม และมีคาเฟอีนสูงกว่าชาชนิดอื่นๆ เมื่อนำมาชงกับนมข้นหวาน นมสด จึงเกิดเป็นรสชาติที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนาน เป็นรสชาติที่เข้าใจง่าย และคุ้นเคย ส่วนการที่ทำให้คนติดนั่น คาดว่ามีสาเหตุหลักมาจาก ‘การติดความหวาน’ เหมือนกับที่คนติดชานมไข่มุก หรือกาแฟ ‘เอสเย็น’

 

ด้วยรสชาติที่ชัดเจน เป็นเอกลักษณ์ ชาไทยจึงเป็นรสชาติที่ผสมผสานกับขนมอื่นๆ ได้ง่าย ซึ่งรวมถึงขนมต่างชาติด้วย จุดนี้กลายเป็นข้อดีของธุรกิจที่ทำเมนูเกี่ยวกับชาไทย ที่จะสามารถต่อยอด แตกไลน์ เพิ่มมูลค่าของชาไทยได้ด้วยการนำไปฟิวชั่นกับเบเกอรี่ที่มีราคาสูง ซึ่งตรงนี้จะทำได้ง่ายกว่าการปรับสูตรชา ปรับวัตถุดิบให้พรีเมียม แล้วเรียกค่าตัวแพง เพราะคนไทยค่อนข้างติดภาพชาเย็นเป็นเมนูคู่ใจ ที่หาซื้อได้ทุกที่ ในราคาที่เข้าถึงง่าย

 

อีกสิ่งที่เชฟบิลลี่มองว่าจะช่วยยกระดับชาไทยให้ไปไกลถึงทั่วโลกได้คือการพัฒนาชาไทย ในแบบที่กินที่ไหนก็ได้รสชาติออริจินัล เพราะรูปลักษณ์ที่ขายอยู่ในปัจจุบัน คือ เป็นใบชาแห้งแบบนี้ ต่างชาติซื้อไปก็อาจจะชง หรือหานมข้นได้ยากในบางประเทศ หากพัฒนาออกมาเป็นรูปแบบชาดริป หรือผงสำเร็จรูปที่รสชาติเหมือนกับต้นฉบับ จะยิ่งเพิ่มอิมแพ็คให้ชาไทย ส่งต่อรสชาติ และกลิ่นหอมมันขจรขจายไปได้ทั่วโลก

 

ชาไทยขึ้นอันดับ 5 ‘อร่อยที่สุดในโลก’

 

หลังชาไทย เคยติดอันดับ Top 10 เครื่องดื่มที่อร่อยที่สุดในโลก กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ จากผลสำรวจของ Taste Atlas ไปแล้ว เมื่อต้นปี ซึ่งจากการจัดอันดับล่าสุดนี้ ชาไทยทำผลงานดีจนขยับขึ้นเป็นอันดับ 5 จากการจัดอันดับเครื่องดื่ม 100 ชนิดทั่วโลก โดยเครื่องดื่ม 10 อันดับที่ครองใจชาวโลกได้ในช่วงท้ายปี 2023 มีดังนี้

 

  • อันดับ 1 : Aguas Frescas
  • ประเทศ Mexico

 

  • อันดับ 2 : Mango Lassi
  • ประเทศ อินเดีย

 

  • อันดับ 3 : Chai masala
  • ประเทศอินเดีย

 

  • อันดับ 4 :  Hojicha
  • ประเทศญี่ปุ่น

 

  • อันดับ 5 : ชาไทย
  • ประเทศไทย

 

  • อันดับ 6 : Lulada
  • ประเทศโคลอมเบีย

 

  • อันดับ 7 : Maghrebi mint tea
  • หลายประเทศ 

 

  • อันดับ 8 : Salep
  • ประเทศตุรกี

 

  • อันดับ 9 : Chocolate Caliente
  • ประเทศสเปน

 

  • อันดับ 10 : Cuban Espresso
  • ประเทศคิวบา

 

 1701861067729

  

เปิดที่มาชาไทย ชาเย็นแบบทุกวันนี้เริ่มต้นเมื่อไร?

 

แน่นอนว่าแม่บทของชาก็ต้องมาจาก ‘จีน’ และ ‘อินเดีย’ ซึ่งการบริโภคชาในประเทศไทย คาดว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยาหรือก่อนหน้านนั้น โดยอาศัยหลักฐานจากบันทึกของมองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ ราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในอยุธยา ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ระบุว่า คนไทยมีการดื่มชามาก่อนหน้านั้นแล้ว โดยเป็นการชงดื่มร้อนแบบไม่ใส่น้ำตาล นิยมชงชารับแขก แพร่หลายในเขตเมืองหลวง โดยหนึ่งวิธีการดื่มที่เห็นได้ยากในปัจจุบัน คือการอมน้ำตาลกรวดไว้ในปาก จากนั้นดื่มน้ำร้อนตาม

 

ส่วนการดื่มชานมแบบไทยนั้นสันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจาก ‘Masala Chai’ (มาซาลา จาย - ชาอินเดียที่เติมนมและเครื่องเทศเฉพาะลงไป เมื่อให้ได้รสชาติหอมมันแบบเฉพาะตัว) แต่การชงแบบนี้ไม่ได้รับความนิยมมากในสังคมไทย ส่วนชาไทยใส่นมแบบที่นิยมกันในปัจจุบันนี้ มีต้นกำเนิดมาจากช่วงปี 1893 ที่บริษัท Nestle ได้นำนมข้นหวานตรา ‘แหม่มทูนหัว’ เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย จึงเกิดการประยุกต์เติมนมข้นหวานลงไป

 

เกิดเป็นรสชาติที่ถูกปากคนไทย และเมื่อมีการจัดตั้งโรงน้ำแข็งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1903 มีร้านกาแฟโบราณผุดขึ้นมากมายและมีการขายชาไทยควบคู่กันไปด้วย คาดว่าในช่วงนี้เองที่ ‘ชาไทยเย็น’ ถือกำเนิดขึ้น ส่งต่อความนิยมพร้อมทั้งรสชาติหอม หวาน สดชื่น แถมยังราคาถูก ชาไทยจึงกลายเป็นเมนูยอดนิยมทั่วพระนคร

 

ด้านสี และรสของชาไทยที่ไม่เหมือนเมนูอื่นๆ นั้น มีที่มาจาก 2 แหล่งด้วยกัน แหล่งที่มาแรกคาดว่า ในสมัยก่อนนั้นสีของชาไทยซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ใบชาซีลอน มีสีที่คล้ายกับกาแฟ จึงมีการเติมสีผสมอาหารลงไป รวมถึงเติมเครื่องเทศ เช่น ดอกโป๊ยกั๊ก หรือมะขามบดลงไป เพื่อให้แตกต่างจากกาแฟ

 

1701861121327

 

ส่วนอีกที่มานั้นย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 4 และ 5 ระบุว่า ชาวอังกฤษได้นำวัฒนธรรมการดื่มชามาในไทยด้วย แต่คนรับใช้ชาวไทยนั้นไม่อยากทิ้งกากชาที่ชงแล้วเพราะยังมีกลิ่น มีรสชาติ ชงต่อได้อยู่ จึงเติมสีผสมอาหาร มะขามเปียก และเครื่องเทศต่างๆ ลงไป เพื่อยืดอายุและเพิ่มสีสันให้กับชา ซึ่งจะถูกส่งต่อมากลายเป็นชาเย็นสีส้มชวนน้ำลายสอดังในปัจจุบัน

advertisement

SPOTLIGHT