ธุรกิจการตลาด

"บิ๊กซี" จ่อเข้ากลับเข้าตลาดหุ้น เล็ง IPO กว่า 1.8 หมื่นล้าน

9 พ.ย. 65
"บิ๊กซี" จ่อเข้ากลับเข้าตลาดหุ้น เล็ง IPO กว่า 1.8 หมื่นล้าน

"บิ๊กซี" เล็งแยกธุรกิจจาก BJC กลับเข้าตลาดหุ้นอีกครั้ง มีแผนออกไอพีโอกว่า 18,500 ล้านบาท ด้าน BJC ชี้แจงตลาดยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน

 

สํานักข่าวบลูมเบิร์กได้รายงานอ้างแหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องซึ่งไม่เปิดเผยนามว่า บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ "Big C" กำลังพิจารณาจะกลับเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้ง โดยอยู่ระหว่างการหารือกับที่ปรึกษาทางการเงิน ถึงความเป็นไปได้ในการเข้าระดมทุน ซึ่งอาจเกิดขึ้นอย่างเร็วในปีหน้า โดยคาดว่าอาจมีการระดมทุนมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือมากกว่า 1.85 หมื่นล้านบาท)

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวระบุว่า รายละเอียดเรื่องการทำไอพีโอ รวมถึงช่วงเวลาในการออก และเป้าหมายการระดมทุน อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ โดยทางบิ๊กซีกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอของวาณิชธนกิจ (Investment bank) หลายแห่ง

ปัจจุบัน Big C ประกอบธุรกิจซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ และร้านสะดวกซื้อ มีจำนวนร้านค้าทั้งสิ้น 1,792 แห่ง ในประเทศไทย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา ล่าสุดได้เข้าซื้อร้าน Kiwi Mart ในประเทศกัมพูชา และวางแผนที่จะรีแบรนด์ร้านดังกล่าวเป็นร้าน Big C Mini

สำหรับ Big C นั้นเคยจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ก่อนที่จะถอนการซื้อขายในปี 2560 โดยปัจจุบันอยู่ในกลุ่ม บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC

อย่างไรก็ตาม นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ตามข่าวที่ปรากฏในสื่อออนไลน์ว่า บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัท”) อยู่ระหว่างการพิจารณาการเสนอ ขายหุ้นครั้งแรกให้กับประชาชนทั่วไปของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)

บริษัทขอเรียนชี้แจงว่า บริษัทยังไม่มี ข้อสรุปในเรื่องดังกล่าว ณ ขณะนี้ ทั้งนี้ เมื่อบริษัทมีความคืบหน้าที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าว บริษัทจะแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพร้อมรายละเอียดต่อไป

 
231692

จาก "กลุ่มเซ็นทรัล" สู่ "กลุ่มไทยเบฟ"

ทั้งนี้ Big C ก่อตั้งขึ้นในปี 2537 โดย "กลุ่มเซ็นทรัล" ของตระกูลจิราธิวัฒน์ ร่วมทุนกับกลุ่มอิมพีเรียล ของตระกูลกิจเลิศไพโรจน์ และเปิดสาขาแรกขึ้นที่ถนนแจ้งวัฒนะ ก่อนที่บริษัทจะเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นใหญ่จากกลุ่มเซ็นทรัลไปเป็น "กลุ่มกาสิโน" (Casino Group) ซึ่งเป็นกลุ่มค้าปลีกรายใหญ่จากประเทศฝรั่งเศส ในปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ (วิกฤตต้มยำกุ้ง)

Big C เข้าตลาดหุ้นครั้งแรกในปี 2555 โดยสามารถระดมทุนจากการทำ IPO ได้มากถึง 4.2 พันล้านบาท

จากนั้นในปี 2559 กลุ่มกาสิโนได้ตัดสินใจขายหุ้นใหญ่ 58.6% ในวงเงิน 3,100 ล้านยูโร (ราว 2 แสนล้านบาท) ให้กับ "กลุ่มทีซีซี" (TCC Holding) บริษัทในเครือไทยเบฟของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี จากนั้นจึงมีการถอน บิ๊กซี ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และย้ายมาเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (BJC) จนถึงปัจจุบัน

 

BJC กำไรไตรมาส 2 ฟื้นแตะ 1,200 ล้าน

เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ เผยผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2565 มีกำไรสุทธิ 1,203 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 46.3% ในขณะที่กลุ่มธุรกิจส่วนใหญ่มียอดขายเติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่มีผลการดำเนินงานเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยและเวียดนาม รวมถึงธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ จากการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของยอดขายต่อสาขาเดิม (SSSG) โดยได้แรงหนุนจากยอดขายที่กลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของกลุ่มสินค้าอุปโภคและกลุ่มสินค้าอาหารแห้ง หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงและเทศกาลตามฤดูกาลที่ดีขึ้น เช่น วันหยุดสงกรานต์ และเทศกาลเปิดภาคเรียนในช่วงไตรมาสนี้

ในไตรมาสที่ 2/2565 บริษัทมีรายได้รวมเท่ากับ 41,390 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,289 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.6% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับแรงหนุนหลักจากยอดขายรวมและรายได้ค่าบริการที่เพิ่มขึ้น 11.5% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการเติบโตของยอดขายในกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ธุรกิจเวชภัณฑ์และเทคนิค และธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่

ในขณะที่รายได้อื่นรวม เท่ากับ 3,242 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 324 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.1% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้อื่นในกลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ เนื่องจากการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องส่งผลให้อัตราการเช่ากลับมาดีขึ้นและการให้ส่วนลดเฉลี่ยแก่ผู้เช่าลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

advertisement

SPOTLIGHT