ธุรกิจการตลาด

"สีลมเอจ" โครงการมิกซ์ยูส เปิด24 ชม. มูลค่าเฉียด 2 พันล้าน เตรียมเปิด ก.ย.นี้

5 ม.ค. 65
"สีลมเอจ" โครงการมิกซ์ยูส เปิด24 ชม. มูลค่าเฉียด 2 พันล้าน เตรียมเปิด ก.ย.นี้

นายธนพล ศิริธนชัยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) (FPT) กล่าวกับทีมข่าว "SPOTLIGHT" ว่า บริษัทได้ใช้งบลงทุนมูลค่ากว่า 1,800 ล้านบาท แบ่งเป็นการซื้ออาคารเดิมมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท และอีกราว 800 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงการนี้ซึ่งเป็นโครงการที่ฟื้นฟูปรับปรุงพัฒนาโครงการเดิมที่มีอยู่แล้วขึ้นมาใหม่ (Re-development)โครงการมิกซ์ยูสภายในชื่อ สีลมเอจ(Silom Edge) มีทำเลที่ตั้งบริเวณหัวมุมถนนสีลม–พระราม 4 ภายในโครงการประกอบไปด้วยพื้นที่ 2 โซนหลัก คือ โซนอาคารสำนักงาน เริ่มตั้งแต่ชั้น 10-21 และโซนพื้นที่ค้าปลีก

สำหรับเหตุผลที่บริษัทเลือกพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสแห่งใหม่บริเวณหัวมุมถนนสีลม-พระราม 4 เนื่องจากทำเลดังกล่าวถือเป็นสุดยอดทำเลใจกลาง CBD ที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อได้ทั้งรถไฟฟ้า BTS และ MRT อีกยังเคยเป็นแลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพฯ และเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำหลายแห่งในประเทศไทย จึงทำให้ถนนสีลมเป็นหนึ่งในถนนเศรษฐกิจสายสำคัญของกรุงเทพฯ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาที่ดินในย่านดังกล่าวก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปัจจุบันไม่มีแลนด์แบงก์มากพอที่จะพัฒนาโครงการใหม่ และเมื่อมีโอกาสบริษัทฯ จึงตัดสินใจเข้าลงทุน เป็นเจ้าของในทรัพย์สินนี้เมื่อช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ยังถือเป็นการเพิ่มสัดส่วนของรายได้ประจำ (Recurring Income) ให้กับพอร์ตฯคอมเมอร์เชียล ซึ่งหลังจากโครงการสีลมเอจ เปิดให้บริการในช่วงเดือน ก.ย. 2565 บริษัทคาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการดังกล่าวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2565

fpt2

 

ด้านนางสาวธีรนันท์ กรศรีทิพา รองกรรมการผู้จัดการ สายงานพัฒนาธุรกิจรีเทล เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ คอมเมอร์เชียล (ประเทศไทย) (FPCT) ในเครือ บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แผนงานในปี 2565 บริษัทจะรุกขยายพอร์ตรีเทลด้วยโครงการใหม่โครงการมิกซ์ยูสภายในชื่อ สีลมเอจ เพื่อขยายเจาะฐานกลุ่มคนรุ่นใหม่และสตาร์ทอัพโดยเฉพาะ พร้อมเป็นแพลตฟอร์มให้ทุกธุรกิจเริ่มต้นได้ง่าย โดยปัจจุบันสีลมเอจอยู่ระหว่างการดำเนินการพัฒนาพื้นที่

สำหรับโครงการสีลมเอจในโซนรีเทลที่ทำการเปิดตั้งแต่ 11.00 น.ถึงเที่ยงคืน และโซนพิเศษ 2 ชั้นแรกที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมรองรับลูกค้าที่ต้องการใช้บริการร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา และเครื่องจำหน่ายสินค้าคุณภาพด้วยระบบอัตโนมัติ

ทั้งนี้โครงการมิกซ์ยูสสังคมแซนด์บ็อกซ์แห่งใหม่ใจกลางกรุงเทพ ภายในโครงการจะประกอบด้วยพื้นที่สำนักงานและรีเทล 7 ชั้น รวมพื้นที่กว่า 10,000 ตารางเมตร พร้อมโซนเปิดให้บริการถึงเที่ยงคืนทุกวันตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิมๆ รองรับกลุ่มผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพที่ต้องการทดสอบตลาดและวางจำหน่ายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มแซนด์บ็อกซ์ด้านรีเทล ทั้งยังส่งเสริมการทำธุรกรรมในรูปแบบดิจิทัล (Cashless Society) และสนับสนุนการชำระค่าบริการด้วย คริปโตฯ และคาดว่าจะมีผู้เข้าใช้บริการในโครงการสีลมเอจไม่ต่ำกว่า 46,000 คน/วัน


"แผนการดำเนินธุรกิจในปีนี้เชื่อมั่นว่าธุรกิจของกลุ่มจะสามารถสร้างสีสันให้กับวงการรีเทลด้วยรูปแบบการให้บริการและกิจกรรมทางการตลาดที่น่าจับตามอง ซึ่งการเพิ่มโครงการใหม่อย่างสีลมเอจเข้ามาในพอร์ตรีเทล จะช่วยขยายขีดความสามารถในการรองรับดีมานด์ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มรายได้และกระจายความเสี่ยงให้แก่บริษัทฯอีกด้วย" นางสาวธีรนันท์ กล่าว

ด้านภาพรวมการดำเนินงานของศูนย์การค้าในพอร์ตของ FPCT ในช่วงปีที่ผ่านมา ในส่วนของโครงการสามย่านมิตรทาวน์ ถึงแม้ในปีที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อ แต่ FPCT ก็ยังคงรักษาอัตราผู้เช่าไว้ในระดับสูงที่ 98% ในพื้นที่ทั้งหมด 30,000 ตารางเมตร โดยหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศคลายล็อคดาวน์ โครงการสามย่านมิตรทาวน์ก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้า มีจำนวนผู้เข้าใช้บริการในโครงการเพิ่มขึ้นทุกวันเฉลี่ย 55,000 คน/วัน สะท้อนให้เห็นถึงความมั่นใจของลูกค้าที่มีต่อมาตรฐานความปลอดภัยของโครงการ

ประกอบกับ การดำเนินงานเชิงรุกหรือ Fluid Approach ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการดึงดูด Traffic ให้กับศูนย์การค้าที่เน้นการจับกระแสอย่างรวดเร็ว แล้วลงมือสร้างกิจกรรมทางการตลาดผ่านแคมเปญต่างๆ อย่างทันท่วงที สำหรับปี 2565 นี้ สามย่านมิตรทาวน์ ได้เตรียมแคมเปญใหญ่ เรียนทาวน์ เพื่อตอกย้ำการเป็นแหล่งอาหารและการเรียนรู้ ประกอบกับการทำอีเว้นท์และคอนแทนท์ต่างๆในสามย่านมิตรทาวน์เพิ่มขึ้น และมีความหลากหลายที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของคนในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดรเว เพื่อผลักดันให้ Traffic ของสามย่านมิตรทาวน์ในปี 65 เพิ่มขึ้นเป็นเฉลี่ย 70,000 คน/วัน

ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจรีเทลในปี 2565 คาดว่าจะยังเป็นภาพที่คล้ายกับในปี 2564 กลุ่มผู้เข้ามาใช้บริการยังคงเป็นคนในประเทศเป็นหลัก และการแข่งขันไม่ได้รุนแรง ยังคงเน้นไปที่การทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นให้คนเข้ามาใช้บริการและจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการในร้านค้าที่อยู่ในศูนย์รีเทลเป็นหลัก ขณะที่ภาพรวมของกำลังซื้อในปัจจุบันคนในประเทศเริ่มระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของปัจจัยโควิด-19 ที่ยังมีอยู่

ส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมาอย่างชัดเจน และยังต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักใหญ่ ซึ่งหากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามามากขึ้น มองว่าจะเห็นผู้ประกอบการศูนย์รีเทลมีการแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่เชื่อว่าพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังจากนี้อาจจะเปลี่ยนไปจากการเดินทางไปใช้บริการศูนย์รีเทลขนาดใหญ่มาเป็นศูนย์รีเทลขนาดเล็กใกล้ที่พักอาศัยมากขึ้น และสามารถซื้อสินค้าและอาหารเล็กๆน้อยๆได้อย่างสะดวก

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT