เคยรู้สึกมั้ยครับว่า ประเทศไทยมีร้านตัดสูท ตัดเสื้อผ้าอยู่เยอะมากโดยเฉพาะในกรุงเทพ เช่น พาหุรัด สีลม หลายจุดมีร้านตัดสูทดั้งเดิมที่สืบทอดกิจการต่อกันมายาวนานหลาย 10 ปี แต่ร้านตัดสูทที่จะพาไปรู้จักวันนี้เป็นร้านตัดสูทแห่งยุคดิจิทัลแล้ว เพราะเค้าใช้ AI หรือปัญญาประดิษฐ์มาช่วยคำนวณการตัดอย่างแม่นยำครับ
“SUITCUBE” ร้านตัดสูทสำหรับสุภาพบุรุษที่มีความฝันใหญ่ ‘มาก่อนกาล’ ว่าอยากตัดสูทใส่กล่อง แล้วส่งถึงมือของลูกค้า ดังที่มาของชื่อ ‘SUITCUBE - สูทใส่กล่อง’ ซึ่งเกิดขึ้นจริงได้ด้วยโรคระบาด เทคโนโลยี AI และฐานข้อมูลจากลูกค้านับแสนราย ตลอดช่วงเวลาการทำธุรกิจเกือบ 8 ปีเต็ม
ในช่วงเริ่มต้นทำธุรกิจ SUITCUBE ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 เริ่มจากการเปิดหน้าร้านเช่นเดียวกับร้านตัดสูททั่วไป โดยเริ่มจากสาขานอกห้างสรรพสินค้าก่อน แล้วจึงขยายไปเปิดในห้างสรรพสินค้าเพื่อให้ลูกค้าสามารถเดินทางไปรับ และไปลองสูทได้สะดวกยิ่งขึ้น มีทั้งใจกลางกรุงเทพฯ ชานเมือง และต่างจากหวัด รวมทั้งสิ้น 10 สาขา ภายในระยะเวลา 7 ปี
Spotlight เดินทางมาที่ร้าน SUITCUBE สาขา Siam Square One มาคุยกับ Founder ของแบรนด์ SUITCUBE “คุณสน จัทร์ศุภฤกษ์” ในชุดเสื้อสูทสีน้ำทะเลลายตาราง Tartan กางเกงสแลคสีขาว และรองเท้า Loafer หนังสีน้ำตาล ชวนคุยเรื่องการบริหารร้านสูทในช่วงระหว่าง และหลังโควิด, นวัตกรรม ‘SuitCube AI’ ที่ทำให้สั่งตัดสูทได้จากทุกมุมของโลก และชุดสูทที่ดีที่สุดในแบบของคุณสนและ SuitCube
แรกเริ่มเดิมทีคุณสนอยากจะใช้โมเดล “Suit in the Box” สูทที่ใส่ในกล่อง ส่งถึงมือลูกค้าแบบไม่มีหน้าร้านกับแบรนด์ SUITCUBE แต่ในช่วงปั้นแบรนด์ใหม่ๆ คนไทยยังไม่คุ้นเคยกับ “การสั่งของที่ไม่ได้เห็น ไม่ได้สัมผัส” โดยเฉพาะของที่มีราคาสูง จึงต้องพับแผนไว้ก่อน
จนเมื่อโควิด-19 มาถึง ธุรกิจร้านสูทก็โดนกระทบอย่างหนัก จากยอดขายที่ได้ปีละมากกว่าร้อยล้าน หดเหลือเพียงไม่ถึง 50 ล้านในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาด SUITCUBE จึงต้องหาทางกู้ธุรกิจให้กลับมาเติบโต โดยมีความท้าทายหลักคือ อำนวยความสะดวกลูกค้าแม้ไม่ต้องมาที่หน้าร้าน และเพิ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ให้เข้าถึง SUITCUBE ได้มากขึ้น
เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงปี 2020 ซึ่งคนใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 และการล็อกดาวน์มาแล้ว 1 ปี คนเริ่มคุ้นชินกับการช้อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น สามารถช้อปสินค้าราคาหลักแสนได้ด้วยปลายนิ้ว ประกอบกับการที่ฐานข้อมูลลูกค้าของ SuitCube ที่ใหญ่มากเพียงพอ โดยคุณสนบอกว่าทางร้านเก็บข้อมูลในการตัดชุดสูทของลูกค้า “ทุกคน” ไว้ทั้งแต่เปิดร้าน ทำให้ปัจจุบันมีข้อมูลสรีระ ความชอบ และการปรับแก้ชุดของลูกค้านับแสนรายอยู่ในระบบหลังบ้าน
SuitCube จึงตัดสินใจพัฒนา “SuitCube AI” ระบบการสั่งตัดสูทออนไลน์บนหน้าเว็บ SuitCube ที่ลูกค้าสามารถเลือกแบบ เลือกสี วัดตัวได้โดยใช้สมาร์ทโฟนเพียงเครื่องเดียว
SUITCUBE AI คือระบบช่วยวัดตัว ตัดสูทแบบ web-based ลูกค้ามีหน้าที่เพียงกรอกข้อมูลการวัดตัว และถ่ายรูปในกรอบที่กำหนด ระบบ SUITCUBE AI ก็จะเลือกชุดสูทขนาดที่เหมาะสมที่สุดให้กับลูกค้า ภายในเวลเพียง 5 นาทีเท่านั้น ให้ลูกค้าสามารถตัดสูทได้จากที่ใดก็ได้บนโลก
คุณสนมองว่า โมเดลการสั่งตัดชุดออนไลน์แบบนี้ค่อนข้างท้าทาย และเป็นโมเดลที่ร้านสูทหลายร้านไม่กล้าเสี่ยง แต่สาเหตุกล้าทำโมเดลนี้ขึ้นมา ก็เพราะว่าเชื่อมั่นในแบรนด์ของ SUITCUBE ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งมาตลอดระยะเวลาเกือบ 8 ปี ประกอบกับพนักงานหรือ ‘สไตลิสต์’ ที่ถูกเทรนเรื่องการดูแลลูกค้ามาอย่างดี ทั้งการวัดตัว การให้คำแนะนำ และการสื่อสาร โดยหากลูกค้าได้รับชุดสูทแล้วต้องได้รับการปรับแก้ ลูกค้าสามารถใช้อุปกรณ์ได้แก่ สายวัด และชอล์คที่ให้มาด้วยในกล่อง ทำเครื่องหมายบนชุด และส่งกลับมาให้ร้านแก้ได้แบบไม่มีค่าใช้จ่าย
หรือหากลูกค้าอยากให้ช่างเย็บผ้าแก้ให้เองก็สามารถทำได้ และยังสามารถนำใบเสร็จในการปรับแก้มาเบิกกับทางร้านได้ด้วย คุณสนให้เหตุผลว่า “เพราะเวลาของลูกค้าสำคัญกว่าเวลาของเรา” บางครั้งลูกค้าอยู่ต่างจังหวัดและจะต้องใช้ชุด การส่งกลับไปกลับมากินเวลาของเขา ให้เขาส่งให้ร้านแถวบ้านจะสะดวกมากกว่า
คนไทยส่วนใหญ่อาจยังไม่รู้ว่า ก่อนช่วงโควิด-19 ในแต่ละปีมีชาวต่างชาติมาใช้บริการการตัดสูทในประเทศไทยจำนวนไม่น้อย (ใส่ตัวเลข) เพราะด้วยวัตถุดิบระดับเดียวกัน คุณภาพการตัดเย็บแบบเดียวกัน พวกเขาสามารถตัดสูทที่ไทยได้ในราคาถูกกว่าเป็นเท่าตัว บริเวณที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวต่างชาติอย่างสุขุมวิท MBK หรือพัทยา จึงมีร้านตัดสูทแบบที่สามารถตัดเสร็จภายใน 1-2 วัน ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสามารถมาทริปที่ประเทศไทย และได้ชุดสูทกลับบ้านไปด้วย
แต่ด้วยข้อจำกัดด้านเวลาในทริปแต่ละครั้ง ลูกค้าอาจยังไม่ได้ชุดสูทในระดับที่พวกเขาควรจะได้รับ คุณสนบอกว่า SUITCUBE AI จึงจะมาช่วยลดข้อจำกัดตรงจุดนี้ แทนที่ลูกค้าจะมาวัดตัว ตัดชุด และแก้ชุดภายในระยะเวลา 1 ทริป (3 - 7 วัน) ลูกค้าสามารถวัดตัวผ่าน SUITCUBE AI มาจากต่างประเทศ และเมื่อมาถึงไทยก็จะเหลือขั้นตอนเพียงวัดตัวและปรับไซส์เท่านั้น ทลายข้อจำกัดเรื่องเวลาได้อย่างมหาศาล
เมื่อการท่องเที่ยวของไทยกลับมาฟื้นตัวได้แล้ว โมเดล SUITCUBE AI จะช่วยสร้างยอดขายจากลูกค้าต่างชาติได้มากยิ่งขึ้น โดยเชื่อมั่นว่า หลังจากเปิดประเทศแล้ว ร้าน SUITCUBE จะสามารถกลับมามียอดขายได้ถึง 120 ล้านบาท จากการขายผ่านหน้าร้านและแบบออนไลน์
ซึ่งโมเดลนี้ก็สามารถปรับใช้กับการบุกตลาดลูกค้าที่อยู่จังหวัดอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน ไม่จำเป็นต้องไปเสี่ยงเปิดหน้าร้านแล้วลุ้นว่าจะมีลูกค้ามาใช้บริการหรือไม่ ช่วยประหยัดต้นทุนส่วนนี้ไปได้มาก
.
เป็นที่เลื่องลือว่าพ่อค้าแม่ค้า และพนักงานขายในสายแฟชันจะ ‘ปากหวาน’ และเชียร์ลูกค้าเก่งเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่กับร้าน SUITCUBE คุณสนบอกว่าที่นี่เราปฏิบัติต่อพนักงานเหมือนเป็น ‘เพื่อนแท้’ ถ้าใส่เสื้อตัวนี้แล้วสีไม่สวย ก็ต้องบอกกันตรงๆ ว่ายังไม่เหมาะ ถ้าใส่แล้วสรีระยังไม่ได้ ก็ต้องปรับแก้จนได้สูทส่งเสริมสรีระของลูกค้าให้ได้มากที่สุด
ที่ SuitCube จะมีทั้งสูทแบบ “สำเร็จรูป (Ready made) ” ที่มีเสื้อและกางเกงให้เลือกถึง 8 ไซส์ มาใน 3 ทรง คือ Ultimate Fit - เหมาะกับคนรูปร่างทั่วไป, Japan Fit - สำหรับคนหุ่นหมี และ Tailor Fit - เหมาะกับคนรูปร่างสูง และสูทแบบสั่งตัด (Tailor Made) ที่ลูกค้าสามารถเลือกดีเทลได้ละเอียดเกือบทุกจุด ทั้งสีของสูท ลวดลาย คัตติ้ง เนื้อผ้า สีของกระดุม ฯลฯ รวมไปถึง “กระดุมแขนเสื้อที่ใช้งานได้จริง” ทำให้เสื้อสูทสามารถพับแขนเสื้อได้ เพิ่มสไตล์การแต่งตัว และขยับได้อย่างคล่องตัว
ถ้ามองในเชิงเป้าหมายธุรกิจ ก็สมเหตุสมผลที่เจ้าของร้านจะให้พนักงานเชียร์สูทตัวที่แพงที่สุด ใช้ผ้าคุณภาพสูงที่สุด แต่ที่นี่ คุณสนกำชับกับพนักงานทุกคนว่า
“สูทที่ดีที่สุดของลูกค้า คือสูทที่ลูกค้าซื้อแล้วสบายใจที่สุด และเหมาะสมกับสรีระที่สุด”
ด้วยความเชื่อที่ว่าทุกคนมีจังหวะชีวิตของตัวเอง บางคนอยู่ในช่วงเริ่มต้นการทำงาน ก็อาจจะใช้สูทสำเร็จรูปที่ราคาจับต้องได้ง่ายกว่า เมื่อเติบโตในหน้าที่การงานเป็นระดับหัวหน้าหรือผู้บริหาร ก็อาจอยากได้สูทที่มีรายละเอียดประณีตมากขึ้น มีลายละเอียดที่สะท้อนตัวตนของเขา ใช้วัตถุดิบที่พรีเมียม หรือบางคนแม้มีรายได้สูงแล้วไม่อยากใช้ของแพงเลยก็มี สูทที่ลูกค้าใส่แล้วสบายใจที่สุด คือสูทที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้า
ในภาพยนตร์สายลับหลายเรื่อง “ชุดสูท” ถือเป็นหนึ่งอาวุธที่บอกเล่าความเป็นชายชาตรี ยกระดับความภูมิฐานของพระเอกในเรื่องนั้นๆ แต่ในมุมมองของคุณสนนั้นมองว่า ที่จริงแล้วชุดสูทคือชุดที่ ‘ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ’ มากกว่า เพราะในโอกาสสำคัญๆ ที่ผู้ชายได้ใส่สุดอย่างเช่นในงานรับปริญญา แม้ทุกคนจะมาจากพื้นเพที่ต่างกัน แต่ชุดสูททำให้ทุกคนเท่ากัน เพราะไม่ว่าชุดสูทจะถูกหรือแพง ตัดด้วยผ้าชนิดไหน ถ้าชุดนั้นเข้ากับสรีระของผู้ใส่ ก็ทำให้ทุกคน ‘มีสิทธิ์ที่จะดูดี’ เหมือนกันหมด
“คุณไม่จำเป็นต้องใส่สูทตัวละ 200,000 เพื่อให้ออกมาดูดี ในตอนนี้คุณอาจจะมีช่วงจังหวะชีวิตที่ไม่เหมือนกัน สำหรับสน การใส่สูทคือการช่วยให้ทุกคนมีสิทธิ์ที่เท่าเทียมกันมากกว่า”