Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เปิดตำนาน "หลวงพ่อเพชร" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวพิจิตร

เปิดตำนาน "หลวงพ่อเพชร" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวพิจิตร

21 ก.ค. 68
17:28 น.
แชร์

ตำนานเล่าขานความศักดิ์สิทธิ์ "องค์หลวงพ่อเพชร" พระพุทธรูปสำคัญ คู่บ้านคู่เมืองของชาวพิจิตร

จากกรณีกระแสข่าวในโลกโซเชียลมีการงัดหลักฐานการแอบลงรักปิดทอง "องค์หลวงพ่อเพชร" พระพุทธรูปประจำจังหวัดพิจิตร ที่ประดิศฐานอยู่ภายในอุโบสถ วัดท่าหลวง พระอารามหลวง อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร ซึ่งอาจเกี่ยวพันถึงอดีต "พระเทพวัชรสิทธิเมธี" อดีตเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร และอดีตเจ้าอาว่าวัดท่าหลวง พระอารามหลวง ที่ลาสิกไปก่อนหน้านี้ หลังพัวพันกับสีกากอล์ฟ นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลว่าสร้อยสังวาลเส้นเก่าแก่ที่อยู่กับองค์หลวงพ่อเพชรได้หายไปด้วย

ประวัติองค์หลวงพ่อเพชร

องค์หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามองค์หนึ่งของประเทศไทย และทรงพุทธานุภาพอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นมิ่งขวัญคู่บ้านคู่เมืองของชาวเมืองพิจิตร เมื่อใครได้ไปเที่ยวเมืองพิจิตร จะต้องแวะนมัสการขอพรองค์หลวงพ่อเพชร เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว เมื่อมีใครเดือดร้อน เช่น ของหาย หรือมีความทุกข์ยาก ก็จะเข้ามากราบขอพรจากหลวงพ่อเพชรให้ช่วยปัดเป่าความทุกข์ยาก อุปสรรค ภัย อันตรายต่างๆ ให้หมดไป หรือแม้แต่หากเจ็บไข้ได้ป่วย ก็จะมาขอน้ำมนต์หลวงพ่อเพชรไปรดก็รักษาหายได้ และเมื่อผู้นั้นพันภัยอันตราย พ้นความทุกข์ยากแล้ว ก็จะกลับมาแก้บนนำหัวหมู ไก่ต้ม ไข่ต้ม ขนม ผลไม้ ถวายแด่องค์หลวงพ่อเพชร นับได้ว่าพุทธานุภาพขององค์หลวงพ่อเพชรไม่เคยจางหายไปจากจิตใจของชาวเมืองพิจิตร จึงกลายเป็นพระคู่บุญบารมีคู่บ้านคู่เมืองพิจิตรนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ตำนานองค์หลวงพ่อเพชร

มีทั้งการเล่าและบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรหลายตำรา พอสรุปความได้ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เกิดขบถจอมทองเมืองเชียงใหม่ กองทัพกรุงศรีอยุธยาจึงได้ส่งกองทัพไปปราบปรามขบถจอมทอง เมื่อเดินทัพมาถึงเมืองพิจิตร แม่ทัพก็ได้สั่งให้หยุดพักที่เมืองพิจิตร ซึ่งทางเจ้าเมืองพิจิตรก็ได้ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ซึ่งสร้างความประทับใจให้แก่กองทัพเป็นอย่างยิ่ง เมื่อกองทัพกรุงศรีอยุธยาหายเหนื่อยแล้ว จึงออกเดินทางจากเมืองพิจิตร แต่ก่อนที่จะจากกัน เจ้าเมืองพิจิตร ได้ไปปรารภกับแม่ทัพว่า ถ้าปราบขบถเสร็จเรียบร้อยดีแล้วขอให้หาพระพุทธรูปงามๆ มาฝากสักองค์หนึ่ง ฝ่ายทางแม่ทัพเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ยุ่งยากนัก จึงรับปากว่าจะหามาให้ตามความต้องการ

หลังจากนั้นก็มุ่งสู่จอมทอง เมื่อไปถึงได้ปราบขบถจอมทองจนราบคาบ ก่อนเดินทางกลับกรุงศรีอยุธยา ก็นึกถึงคำร้องของเจ้าเมืองพิจิตร จึงอัญเชิญหลวงพ่อเพชรจากจอมทองมาด้วย โดยประดิษฐานบนแพลูกบวบล่องมาตามลำน้ำแม่ปิง เมื่อมาถึงเมืองกำแพงเพชรก็ได้ฝากหลวงพ่อเพชรไว้กับเจ้าเมืองกำแพงเพชร ต่อมาเมื่อเจ้าเมืองพิจิตรทราบข่าวจึงพร้อมด้วยชาวเมืองพิจิตรเป็นจำนวนมาก ได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชรมาประดิษฐานไว้ที่วัดนครชุม (เมืองพิจิตรเก่า) ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองพิจิตร

ซึ่งบางกระแสก็อ้างเอาประวัติที่เกี่ยวกับทางวรรณคดีไทย ผูกเข้ากับเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน โดยแม่ทัพของกรุงศรีอยุธยา ก็คือขุนแผนกับจมื่นไวยวรนาถ ผู้เป็นลูกชาย เป็นแม่ทัพได้ยกกองทัพกรุงศรีอยุธยาไปปราบขบถจอมทองเมืองเชียงใหม่ เมื่อยกทัพมาถึงเมืองพิจิตร ได้หยุดพักกองทัพอยู่กับพระพิจิตร เจ้าเมืองพิจิตรเป็นเวลา 2-3 คืน ซึ่งแม่ทัพกับพระพิจิตร เจ้าเมืองพิจิตรมีความเป็นมิตรกันมานานปี ในเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ได้กล่าวไว้ว่าขุนแผนแม่ทัพกรุงศรีอยุธยาให้ความเคารพนับถือเจ้าเมืองพิจิตรเสมือนบิดาของตน เจ้าเมืองพิจิตร ได้ปรารภกับแม่ทัพว่า เมื่อปราบขบถเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ช่วยหาพระเมืองเหนือ มาฝากสัก 1 องค์เถิด ขุนแผน ได้รับปากแล้วยกทัพไปจอมทอง เมืองเชียงใหม่ แม้ในตำราขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับเสภา ชุดวรรณคดีสมัยกรุงสุโขทัย-อยุธยา ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ได้ตรวจสอบบทเสภาแล้ว ขุนแผนและจมื่นไวย มีความเกี่ยวข้องกับพระพิจิตร เจ้าเมืองพิจิตร กับนางบุษบาภรรยาเจ้าเมืองพิจิตรจริง โดยขุนแผนได้ให้ความเคารพนับถือพระพิจิตร และนางบุษบาภรรยาเจ้าเมืองพิจิตรเสมือนบิดามารดาของตนเอง ยามมีทุกข์ขุนแผนจักขึ้นมาพักอาศัยกับเจ้าเมืองพิจิตรเสมอ แม้แต่การยกทัพขึ้นไปเชียงใหม่ก็มาแวะพักทัพที่เมืองพิจิตร 2-3 เพลา แต่ไม่มีเขียนในบทเสภาว่า พระพิจิตรขอให้ขุนแผนหาพระเมืองเหนือมาฝากหลังจากปราบข้าศึกราบคาบแล้วก็ตาม จึงสันนิษฐานได้ว่า ประการแรก การแต่งบทเสภาผู้แต่งบทประสงค์จะให้เนื้อหาของเรื่องมีความสนุกสนาน ชวนให้ติดตามกับเรื่องทางโลกมากกว่า ประการที่สอง เสภาเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน ได้แต่งหลังเหตุการณ์จริงๆ สมัยขุนแผนอาสาสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ไปทำศึกกับเมืองเชียงใหม่ และได้แวะพักแรมที่เมืองพิจิตร คราวไปทำศึกชิงนางสร้อยทอง โดยเชื่อว่าเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาจริง ซึ่งมีเนื้อความตามตำนานเสภา พระนิพนธ์สมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในบทเสภาขุนช้าง-ขุนแผน ฉบับหอสมุดแห่งชาติ ว่าด้วยเรื่องขุนช้าง-ขุนแผนหน้า 3-10 ว่าเรื่องขุนช้าง-ขุนแผน เป็นเรื่องจริง ที่เกิดขึ้นในครั้งกรุงเก่า

เนื้อความปรากฏจดไว้ในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า ตอนหนึ่งว่า...สมเด็จพระพันวษาโปรดตั้งให้ขุนแผน เป็นแม่ทัพขึ้นไปตีนครเชียงใหม่ เชิญนางสร้อยทอง พระราชธิดาของพระเจ้าล้านช้างสมเด็จพระพันวษานั้น คือสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 จึงพอมีเหตุผลที่พอยืนยันได้ว่า ผู้อัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชร จากเมืองเหนือมามอบให้เจ้าเมืองพิจิตร ก็คือขุนแผน ซึ่งเป็นแม่ทัพที่มีฝีมือยอดเยี่ยมของกรุงศรีอยุธยา หลังจากขุนแผนปราบขบถจอมทองนครเชียงใหม่ได้แล้ว ย่อมมีอำนาจที่สามารถกวาดต้อนเชลยศึก ช้าง ม้า วัว ควาย ตลอดถึงสิ่งที่มีค่าอื่นๆ จากเมืองเหนือกลับมากรุงศรีอยุธยา ดังนั้นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามเพียง 1 องค์ ขุนแผนนั้นย่อมแสวงหาให้เจ้าเมืองพิจิตรที่ตนเองเคารพเสมือนบิดาได้ ด้วยเหตุนี้เมืองพิจิตรจึงได้หลวงพ่อเพชรมาเป็นมิ่งขวัญ อันเป็นศรีสง่าของเมือง แต่ในบางตำรากล่าวว่า ขุนแผนกับจมื่นไวยวรนาถ ได้อาสาสมเด็จพระพันวษาไปปราบขบถจอมทอง ที่เชียงใหม่แล้วเลือกพระพุทธรูปที่พุทธลักษณะงดงามจากวัดหนึ่งในนครเชียงใหม่ ให้ทหารคุมล่องแพตามลำน้ำปิง และฝากแพจอดไว้ที่เมืองกำแพงเพชร แล้วขุนแผนก็ยกทัพกลับจากนครเชียงใหม่มาทางเก่า แจ้งให้เจ้าเมืองพิจิตรทราบ เจ้าเมืองพิจิตรให้อัญเชิญหลวงพ่อเพชรแห่แหนมาประดิษฐานไว้ ณ วัดนครชุม เมืองพิจิตรเก่า จัดให้มีการสมโภช 3 วัน 3 คืน

ย้ายที่ประดิษฐานองค์หลวงพ่อเพชร

ประวัติการย้ายองค์หลวงพ่อเพชรจากวัดนครชุม เมืองพิจิตรเก่า มายังวัดท่าหลวง จากคำบอกเล่ามี 2 กระแส

1. พระเดชพระคุณพระทีฆทัสสีมุนีวงศ์ (หลวงปูมหาไป๋ ญาณผโล-นาควิจิตร) อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าหลวง เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ได้เขียนบันทึกไว้ว่า...ครั้นราวปี พ.ศ. 2442 พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตร ได้รับคำสั่งจากเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ (เชย กัลยาณมิตร) ซึ่งเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ความว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระประสงค์จะได้พระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามเพื่อประดิษฐานไว้ที่วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ที่พระนคร ซึ่งพระองค์ได้ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้น เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ได้สั่งให้พระยาเทพาธิบดี (อิ่ม) เจ้าเมืองพิจิตร ได้ออกแสวงหาพระพุทธรูปตามพระราชประสงค์นำขึ้นไปเมืองพิษณุโลก เจ้าเมืองพิจิตรได้ออกตรวจดูพระพุทธรูปโดยทั่วๆ ไปของเมืองพิจิตร แล้วเห็นว่าหลวงพ่อเพชรมีพระพุทธลักษณะที่งดงามมาก จึงได้จ้างชาวญวนคนหนึ่งชื่ออาง ทะลวงหุ่นดินภายในองค์หลวงพ่อเพชรออก เพื่อให้มีน้ำหนักเบา นำขึ้นเกวียนมาลงเรือชะล่ามีปะรำ ลากจูงด้วยเรือพายถึงเมืองพิษณุโลกเทียบท่าอยู่หน้าวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ พระยาเทพาธิบดี ได้กราบเรียนเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลกว่า ชาวเมืองพิจิตรโศกเศร้าเสียใจเป็นอันมาก ด้วยความเสียดายองค์หลวงพ่อเพชร อันเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่ดั้งเดิม ท่านเจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ได้ตรวจดูพระพุทธลักษณะแล้วเห็นว่างดงามจริง แต่องค์หลวงพ่อเพชรนั้นมีขนาดใหญ่เกินไป กอปรด้วยเป็นการทำลายจิตใจชาวเมืองพิจิตร จึงได้สั่งพระยาเทพาธิบดี ให้นำองค์หลวงพ่อเพชรกลับคืนเมืองพิจิตร แต่การนำกลับคืนมาเมืองพิจิตรนั้น พระยาเทพาธิบดีหาได้นำกลับมาส่งถึงอุโบสถวัดนครชุม เมืองพิจิตรเก่าไม่ หากแต่ท่านพระยาเทพาธิบดีได้นำองค์หลวงพ่อเพชรไปพักไว้ที่วัดท่าหลวง เมืองพิจิตรใหม่ ทำปะรำคลุมไว้

เมื่อประชาชนรู้ข่าวการนำองค์หลวงพ่อเพชรกลับมาเมืองพิจิตร ก็แตกตื่นมาปิดทอง บูชาสักการะกันเป็นการใหญ่ ด้วยความดีใจ ฝ่ายราษฎรเมืองพิจิตรเก่าก็ได้เตรียมการจะแห่แหนองค์หลวงพ่อเพชรกลับไว้ ณ อุโบสถวัดนครชุม เมืองพิจิตรเก่าเช่นเดิม ส่วนราษฎรเมืองพิจิตรใหม่ก็เห็นว่าเมื่อเมืองพิจิตรได้ย้ายมาอยู่แห่งใหม่แล้ว ก็ควรมีองค์หลวงพ่อเพชรประดิษฐานอยู่ที่เมืองพิจิตรใหม่ด้วย จึงไม่ยินยอมให้ราษฎรชาวเมืองพิจิตรเก่านำองค์หลวงพ่อเพชรกลับคืนไป ในตอนนี้มีผู้รู้ได้เล่ากันต่อๆ กันมาว่า ได้เกิดมีการยื้อแย่งองค์หลวงพ่อเพชร ถึงขนาดเตรียมอาวุธจะเข้าประหัตประหารกัน หากแต่พระเดชพระคุณพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ มงคลพิจิตร สังฆปาโมกข์ (หลวงปู่เอี่ยม) เจ้าคณะจังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นที่ยำเกรงมีราษฎรให้ความเคารพนับถือ เลื่อมใสศรัทธาท่านมาก ได้เข้ามาห้ามปรามไว้ และพระเดชพระคุณพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ ได้แจ้งราษฎรเมืองพิจิตรเก่าว่าจะหล่อหลวงพ่อเพชรจำลอง องค์ขนาดเท่าเดิมให้ชาวเมืองพิจิตรเก่า นำไปบูชาสักการะแทนองค์เดิม ส่วนองค์หลวงพ่อเพชรเดิมนั้น ให้ประดิษฐานไว้ ณ วัดท่าหลวง เมืองพิจิตรใหม่ ซึ่งพระเดชพระคุณพระธรรมทัสสีมุนีวงศ์ เป็นเจ้าอาวาสอยู่ด้วย ราษฎรชาวเมืองพิจิตรเก่าจึงยินยอมเชื่อฟัง

2. มีเรื่องเล่าเพิ่มเติมอีกกระแสหนึ่งว่า การที่องค์หลวงพ่อเพชรจากเมืองพิจิตรเก่ามาอยู่เมืองพิจิตรใหม่ ก็โดยที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะอัญเชิญพระพุทธชินราช จากวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ มณฑลพิษณุโลก ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ที่พระนคร ซึ่งได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใหม่ จึงมีพระกระแสรับสั่งให้สืบหาพระพุทธรูปที่ลักษณะงดงามไปแทนพระพุทธชินราช เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ สมุหเทศาภิบาลมณฑลพิษณุโลก ทราบว่าองค์หลวงพ่อเพชรมีพระพุทธลักษณะที่งดงามมากควรแก่การนำไปแทนพระพุทธชินราช จึงให้พระยาเทพาธิบดี เจ้าเมืองพิจิตรจัดนำองค์หลวงพ่อเพชรไปยังเมืองพิษณุโลก ประชาชนชาวเมืองพิจิตรเก่ารู้ข่าวล่วงหน้า ด้วยความเคารพศรัทธาและหวงแหนองค์หลวงพ่อเพชรเป็นที่สุด จึงคิดอ่านว่าจ้างชาวญวน ชื่อ อาง ทะลวงหุ่นดินภายในองค์หลวงพ่อเพชรออก เพื่อให้มีน้ำหนักเบาแล้วได้ช่วยกันยกหนีไปซุกซ่อนไว้ในป่า ได้เคลื่อนย้ายที่ซุกซ่อนเรื่อยไปมิได้หยุดหย่อน แต่อย่างไรก็ดีหาได้พ้นจากการติดตามและค้นหาของเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายไม่ ในที่สุดก็ใช้อำนาจบังคับเอาองค์หลวงพ่อเพชรมาจากเมืองพิจิตรเก่าจนได้ และนำมาพักไว้ที่วัดท่าหลวงเมืองพิจิตรใหม่ เพื่อรอการนำไปเมืองพิษณุโลกในระยะเดียวกันนั้นเอง เจ้าพระยาสุรสีห์วิศิษฐ์ศักดิ์ สมุหเทศาภิบาล มณฑลพิษณุโลก นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าชาวเมืองพิษณุโลกหวงแหนพระพุทธชินราช พากันโศกเศร้าเสียใจอย่างสุดซึ้ง ถึงกับร้องห่มร้องไห้กันทั้งเมือง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเห็นใจชาวเมืองพิษณุโลก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ระรับการนำพระพุทธชินราชไปพระนคร โดยจะหล่อพระพุทธชินราชจำลองประดิษฐานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามแทน เหตุนี้ องค์หลวงพ่อเพชรที่นำมาพักรอไว้ที่วัดท่าหลวง เมืองพิจิตรใหม่ จึงตกอยู่ ณ วัดท่าหลวง เมืองพิจิตรใหม่ จนถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งแต่เดิมนั้นหลวงพ่อเพชรได้ประดิษฐานอยู่ในโรงที่สร้างขึ้นชั่วคราว เป็นเรือนมีพื้นที่วัดท่าหลวง หลังจากไม่ต้องนำประดิษฐานเป็นพระประธานที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลกแล้ว

วันที่ 28 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2444 (ร.ศ. 120) สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนุวัดติวงศ์ได้เสด็จมา ณ วัดท่าหลวง ทรงนมัสการบูชาองค์หลวงพ่อเพชร และตรัสชมหลวงพ่อเพชรว่า "พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระทรงสั้นพวกเชียงแสน ทรงก็เข้ากันสั้นพร้อมดี เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย และพุทธลักษณะที่งดงามมาก"

ต่อมาปี พ.ศ. 2452 พระยาพิชัยณรงค์สงคราม (ดิษ) ข้าหลวงประจำจังหวัดพิจิตร จึงได้อัญเชิญเข้ามาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถไม้ที่สร้างขึ้นให้เหมาะสม และเป็นศรีสง่าแก่หลวงพ่อเพชรพระพุทธรูปสำคัญของเมืองพิจิตร โดยประทับบนฐานชุกชี ที่ก่อเป็นชั้นขนาดใหญ่พอที่พุทธศาสนิกชนจะผลัดเปลี่ยนกันขึ้นไปปิดทององค์พระ ตามความเชื่อและความศรัทธาได้สะดวก

ครั้นพอถึงปี พ.ศ. 2492 พระเดชพระคุณพระทีฆทัสสีมุนีวงศ์ (หลวงปูมหาไป๋ ญาณผโล-นาควิจิตร) เจ้าอาวาสวัดท่าหลวงในขณะนั้น ได้เป็นประธานริเริ่มก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ที่วิจิตรงดงามตามแบบสถาปัตยกรรมไทย ปี พ.ศ. 2495 พระอุโบสถหลังใหม่แล้วเสร็จ จึงได้อัญเชิญองค์หลวงพ่อเพชรเข้ามาประดิษฐาน เป็นพระประธานของพระอุโบสถวัดท่าหลวง มาตราบเท่าทุกวันนี้

พุทธลักษณะองค์หลวงพ่อเพชร

องค์หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปภูมิสปรรศมุทรา หรือปางมารวิชัย หล่อด้วยโลหะสำริด ขัดสมาธิเพชร (วัชราสนะ) สันนิษฐานว่าเป็นการรับอิทธิพลมากจากศิลปะล้านนา โดยรับอิทธิพลจากพุกาม ที่ได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มพุทธศาสนานิกายมหายานอีกทอดหนึ่ง ซึ่งนิยมในส่วนใหญ่บริเวณทางเหนือของอินเดีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนา หลวงพ่อเพชรมีขนาดหน้าตักกว้าง 2 ศอก 1 คืบ 6 นิ้ว สูง 3 ศอก 3 นิ้ว ประทับนั่งบนฐานบัวปาละ กลีบใหญ่ (บัวฟันยักษ์/บัวเล็บช้าง) พระหัตถ์ขวาวางบนพระชานุ (เข่า) นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงพื้นธรณี พระหัตถ์ซ้ายหงายบนพระเพลา (ตัก) ถัดมาเป็นฐานโลหะเป็นแท่นชุกชีมีลวดลายปิดทอง ประดับกระจก ขมวดพระเกศาเล็ก มีอุษณีษะ พระโอษฐ์เล็ก พระเกตุมีลักษณะเป็นดอกบัวตูม พระพักตร์กลม สันนิษฐานว่าจะได้รับอิทธิพลมาจากเชียงแสนสิงห์หนึ่งของล้านนา ประภามณฑลเป็นซุ้มเรือนแก้วแบบอยุธยา มีลักษณะช่วงปลายเป็นมกร ชายสังฆาฏิหยักเป็นเขี้ยวตะขาบสั้นเหนือพระอุระ ห่มสบงแบบเฉียง (เฉวียง) สังเกตได้จากมีการเจาะช่องแขนด้านขวาของพระพุทธรูปช่องแขนด้านซ้ายทึบ และสังเกตได้จากขอบสบงที่พาดผ่านพระอุระและบริเวณข้อพระกรข้างซ้ายของหลวงพ่อเพชร

จากการเปรียบเทียบรูปแบบกับประพุทธรูปเพื่อสันนิษฐานการสร้างและรูปแบบศิลปะของหลวงพ่อเพชร จึงสันนิษฐานว่าได้ว่าหลวงพ่อเพชรรับอิทธิพล และรูปแบบการสร้างของล้านนาซึ่งมีพระพักตร์กลม คล้ายรูปแบบพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง รูปแบบพระพุทธรูปศิลปะล้านนา จากรูปแบบของชายสังฆาฏิสั้นเหนือพระอุระ พระถัน รูปแบบศิลปะเดียวกับพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง ลักษณะที่กล่าวมาข้างต้นอาจจะยังไม่เพียงพอต่อการอธิบายว่า องค์หลวงพ่อเพชร รับอิทธิพลจากรูปแบบล้านนาจริงหรือไม่ แต่จากการสันนิษฐานเบื้องต้น สามารถที่จะสันนิษฐานตามหลักฐานและรูปแบบของศิลปะ กล่าวคือ องค์หลวงพ่อเพชร ได้รับอิทธิพลศิลปะรูปแบบของพระพุทธในหลายรูปแบบ หรืออาจเกิดจากการบูรณะในแต่ละยุคสมัยรูปแบบ จึงเปลี่ยนแปลงไปตามช่างฝีมือและรูปแบบศิลปะของยุคสมัยนั้นๆ เช่น การรับอิทธิพลการสร้างรูปแบบศิลปะล้านนา พระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง มีรัศมีเปลวเหนืออุษณีษะที่เป็นลักษณะเฉพาะของศิลปะล้านนาพระพุทธรูปรูปแบบเชียงแสนสิงห์หนึ่ง คือรัศมีเปลวดอกบัวตูม นิ้วมืออวบอ้วน นอกจากนี้ยังมีการรับรูปแบบของประภามณฑลแบบซุ้มเรือนแก้วที่เป็นเอกลักษณ์ของรูปแบบศิลปะอยุธยาเข้ามาปรับใช้กับอิทธิพลแบบล้านนาอีกด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติมระบุว่า เดิมทีนั้น องค์หลวงพ่อเพชร ตอนย้ายมาจากวัดนครชุม เมืองพิจิตรเก่า จะไม่มีกระเกตุเนื่องจากหลุดหายตอนย้ายไปซ่อน และไม่มีซุ้มเรือนแก้ว ต่อมาในสมัยของพระเดชพระคุณพระทีฆทัสสีมุนีวงศ์ (หลวงปูมหาไป๋ ญาณผโล-นาควิจิตร) ได้หล่อพระเกตุขึ้นใหม่ และสร้างซุ้มเรือนแก้วเพื่อไม่ต้องการให้คนทั่วไปมองว่าหลวงพ่อเพชรเป็นพระพุทธรูปเชียงแสนสิงห์หนึ่ง แต่การหล่อพระเกตุและการสร้างซุ้มเรือนแก้วนั้น ไม่ปรากฏปีที่สร้าง)

ผู้ชำนาญการด้านการตรวจพุทธลักษณะขององค์พระปฏิมากรหลายท่านได้ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า องค์หลวงพ่อเพชร เป็นพระพุทธรูปสมัยเชียงแสนรุ่นแรก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในระหว่างปี พ.ศ. 1660 ถึง พ.ศ. 1800

เหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์

เมื่อวันที่ 9 เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2514 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ได้เสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระกรณียกิจที่จังหวัดพิจิตร โดยเข้ากราบนมัสการหลวงพ่อเพชร และประกอบพิธีเวียนเทียน ณ พระอุโบสถวัดท่าหลวง พระอารามหลวง

ปัจจุบัน องค์หลวงพ่อเพชร เป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัดท่าหลวง พระอารามหลวง เป็นมิ่งขวัญของเมืองพิจิตร ที่ชาวเมืองพิจิตรเคารพบูชาอย่างสูงสุด เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชนให้ยึดมั่น ในการประกอบแต่กรรมดี เป็นที่พึ่งทางจิตใจยามมีทุกข์ร้อน เมื่อผู้ใดเข้าไปในพระอุโบสถได้บูชาหลวงพ่อเพชร ทุกคนจะบังเกิดมีความรู้สึกอบอุ่น ร่มเย็น สบายใจ ประกอบกับการตกแต่งจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถที่งดงาม และภายนอกก็ล้อมรอบไปด้วยสวนหย่อมที่เป็นพรรณไม้ดอกไม้ประดับอันสวยงามมีระเบียบ ยิ่งช่วยให้ผู้ได้พบเห็นบังเกิดมีความปีติ ร่มรื่นทั้งกายและใจ

ขอบคุณข้อมูล : กรมศิลปากร

ขอบคุณภาพ : วัดท่าหลวง พระอารามหลวง

Advertisement

แชร์
เปิดตำนาน "หลวงพ่อเพชร" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองชาวพิจิตร