Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
พิธีเปิดโครงการ "สืบสานงานพ่อ ต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย"

พิธีเปิดโครงการ "สืบสานงานพ่อ ต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย"

2 ก.ค. 68
14:42 น.
แชร์

ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย กล่าวเปิด "โครงการสืบสานงานพ่อ ต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย" เพื่อสานต่อพระราชปณิธาน ค้ำจุนพุทธศาสนาให้มั่นคงยั่งยืน

วันนี้ (2 ก.ค. 68) ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ได้กล่าวเปิด "โครงการสืบสานงานพ่อ ต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย" ซึ่งนับเป็นการจัดขึ้นครั้งแรก โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ ณ หอประชุมพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม เปิดเผยถึงที่มาและความสำคัญของ "โครงการสืบสานงานพ่อ ต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย" กล่าวว่า ตามหลักฐานทางโบราณคดี ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบันในสมัยโบราณ ถูกเรียกขานโดยประเทศอินเดียว่า "สุวรรณภูมิ" หรือ "แผ่นดินทอง" เมื่อกว่า 2,000 ปีที่แล้ว พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทได้เผยแผ่เข้ามายังดินแดนแห่งนี้

ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ศาสตราจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา ได้รวบรวมนักวิชาการจาก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย, สปป.ลาว, เวียดนามเหนือ, จีน, รัฐฉาน (ไทยใหญ่), และรัฐอัสสัม (อินเดีย) เพื่อร่วมกันวิจัยภายใต้ทุนสนับสนุน จุดประสงค์ของการวิจัยคือเพื่อศึกษาเปรียบเทียบวิถีชีวิตของชุมชนไทยก่อนและหลังการรับพระพุทธศาสนาเถรวาท

ผลารวิจัยชี้ให้เห็นว่านับตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นต้นมา พระพุทธศาสนาเถรวาทได้หยั่งรากลึกในสังคมไทยอย่างสมบูรณ์ และได้พัฒนาต่อเนื่องมากว่า 700 ปี จนกลายเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นไทย เป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรม ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม และองค์ประกอบอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่าพระพุทธศาสนาเถรวาทคือวิถีชีวิตของคนไทย

งานวิจัยเมื่อ 20 ปีที่แล้วยังพบอีกว่า ชนเผ่าไทยในเกือบทุกพื้นที่ของทั้ง 6 ประเทศ ได้รับเอาพระพุทธศาสนาเถรวาทเป็นศาสนาประจำชนเผ่า ยกเว้นบางแห่ง เช่น ชาวไทยอาหมที่รับศาสนาฮินดูเข้ามา อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายพื้นที่ในอินเดียที่ได้รับพระพุทธศาสนาเถรวาทผ่านการเผยแผ่จากชาวไทยใหญ่

นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การที่คนไทยทุกหมู่เหล่าในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างน้อมรับพระพุทธศาสนาเถรวาทอย่างแนบแน่น และหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันนั้น อาจเป็นเพราะในแต่ละชุมชนไทยแต่โบราณได้มีการสร้างคุณธรรมประจำเผ่าของตนเอง ตั้งแต่ระดับครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงระดับอาณาจักร ซึ่งคุณธรรมเหล่านี้มีความสอดคล้องกับพุทธธรรมอย่างยิ่ง จึงเป็นการส่งเสริมซึ่งกันและกัน

หลักฐานลายลักษณ์อักษรตั้งแต่สมัยสุโขทัยได้บันทึกไว้อย่างชัดเจนว่า สถาบันศาสนา (พระพุทธศาสนาเถรวาท) และสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับสถาบันคนไทยหรือชุมชน หากพิจารณาในระดับชุมชน จะพบว่าทุกตำบลมีวัดเป็นศูนย์กลาง "พระสงฆ์เป็นที่พึ่งของประชาชนในตำบล" ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรม คำสอน การให้คำปรึกษาทางจิตวิญญาณ หรือการชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิต พระสงฆ์ล้วนเป็นที่พึ่งพาของคนไทยมาโดยตลอด ตั้งแต่ระดับชาวบ้านทั่วไป

ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) จึงทรงตั้งคำถามว่า จะมีแนวทางใดที่จะส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาพุทธธรรมอย่างลึกซึ้งได้ เพื่อให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังคนไทยรุ่นต่อไปยังคงรักษาความเป็นพระพุทธศาสนาเถรวาทอันบริสุทธิ์ในดินแดนสุวรรณภูมิไว้ได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน

ดังนั้น กิจกรรมที่มุ่งเน้นให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาพุทธธรรมอย่างลึกซึ้งจึงมีหลากหลายกลุ่ม จากการสนับสนุนการศึกษาในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหามกุฏราชวิทยาลัย รวมถึงกองบาลีสนามหลวง นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรพระนักเทศน์ หลักสูตรนักวิปัสสนา และโครงการพระธรรมจาริก ซึ่งปัจจุบันได้ขยายลงสู่ชุมชนด้วย

โครงสร้างสังคมตามแนวคิด "บวร" ซึ่งเป็นพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ที่ย่อมาจาก บ้าน วัด และ ร.(โรงเรียน โรงพยาบาล หรือราชการ) สะท้อนความหมายอันลึกซึ้งว่า สถาบันบ้านและวัดเป็นแกนหลักสำคัญ ด้วยเหตุนี้ โครงการที่ลงสู่ชุมชนเพื่อพัฒนาวัดให้มีความสะดวก สะอาด และสงบ จึงเป็นสิ่งน่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยส่งเสริมให้วัดพร้อมในการสั่งสอนและเป็นที่พึ่งของประชาชนในชุมชนต่อไป

พระปฐมบรมราชโองการ ซึ่งแสดงถึงพระราชปณิธานสูงสุดของพระมหากษัตริย์ เป็นที่คุ้นเคยกันดีในหมู่พสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ในพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ที่ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ตลอด 70 ปีแห่งการครองราชย์ สิ่งที่พระองค์พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยและประเทศชาติล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของธรรมะ และผลลัพธ์ของการครองแผ่นดินโดยธรรมนั้นย่อมต้องนำมาซึ่งประโยชน์สุข ไม่ใช่ประโยชน์ที่นำมาซึ่งความทุกข์ หรือความสุขที่เป็นโทษ แต่ต้องเป็นทั้งประโยชน์และความสุขพร้อมกัน

ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระองค์มีพระราชดำรัสเพิ่มอีกหนึ่งวลี โดยตรัสว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎร สืบไป" การวิเคราะห์พระราชดำรัสนี้อย่างลึกซึ้งเผยให้เห็นว่า การสืบสาน รักษา และต่อยอดนี้เองคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระพุทธศาสนายืนยงมาได้กว่า 2,000 ปี และจะเป็นปัจจัยที่ทำให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน

โดยให้ความหมายคำว่า "สืบสาน" คือการดำเนินการต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง "รักษา" คือการธำรงไว้ซึ่งแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ซึ่งก็คือพระธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ประทานไว้ จะต้องไม่ให้ผิดเพี้ยนไปจากเดิม และ "ต่อยอด" คือการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป สูงส่งยิ่งขึ้น และเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้มากขึ้น โดยการนำวิธีการใหม่ ๆ เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งมัลติมีเดียและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาปรับใช้ เพื่อให้ก้าวทันยุคสมัยและยังคงความเหมาะสมในการเผยแผ่ต่อไป

ทั้งนี้ คณะกรรมการผู้จัดงานตลอด 3 วันนี้ ได้แสดงเจตจำนงอันสูงส่งและน่ายกย่องยิ่ง โดยมีเป้าหมายให้พระภิกษุและสามเณรผู้ได้รับพระราชทานทุนรูปแบบต่าง ๆ ได้มาร่วมกันนำเสนอกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นสำหรับแนวทางในอนาคต

สุดท้าย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม ได้แสดงความเชื่อมั่นว่ากิจกรรมนี้จะยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องในปีถัดไป โดยมีเป้าหมายเพื่อติดตามผลการ "ต่อยอด" ซึ่งจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และส่งเสริมให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

และได้กล่าวขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานกองทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลในการธำรงรักษาพระพุทธศาสนาให้มั่นคง ถาวร และยังประโยชน์ต่อประเทศชาติ รวมถึงอนุชนรุ่นหลังสืบไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

Advertisement

แชร์
พิธีเปิดโครงการ "สืบสานงานพ่อ ต่อยอดทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย"