วันนี้ (8 กรกฎาคม 2568) เวลา 09.00 น. ที่อาคารรัฐสภา นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่สหรัฐอเมริกาส่งจดหมายเพิ่มภาษี 36% ว่า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างช็อก เพราะตอนแรกมีการประกาศว่าจะส่งจดหมายถึงหลาย ๆ ประเทศในรอบแรก และก็ไม่คาดคิดว่าประเทศไทยจะอยู่ในรอบเลย เนื่องจากเราเพิ่งเข้าสู่กระบวนการเจรจาไปเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าประเทศไทยมีรายชื่อปรากฏเป็น 1 ใน 14 ประเทศ จุดนี้เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ ขณะเดียวกันอีกหลายประเทศในภูมิภาคนี้ ได้รับจดหมายพร้อมกับเราเช่นกันไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น ,ประเทศเกาหลีใต้ ,ประเทศมาเลเซีย ,ประเทศอินโดนีเซีย ,ประเทศลาว ,ประเทศพม่า และประเทศกัมพูชาด้วยการที่จบลงที่ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ตนมองว่าเป็นการบีบให้เราจนมุมด้วยเดดไลน์ และจำเป็นที่จะต้องคลายข้อเสนอที่ยังตกลงกันไม่ได้ให้มากกว่าเดิม เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการที่จะโดนภาษี 36% ดังนั้นภาษี 36% เป็นภาษีสูงสุดที่เราจะได้รับ และเชื่อว่าคงจะไม่ได้รับเพิ่มไปมากกว่านี้แล้ว
นางสาวศิริกัญญา เผยต่อว่า หลายประเทศถูกปรับขึ้นภาษีจากเดือนเมษายน ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่นจากเดิม 24% เป็น 25% ส่วน ประเทศมาเลเซียก็เริ่มปรับเพิ่มขึ้น จุดนี้ตนถือว่ายังมีช่วงเวลาให้เราได้หายใจและปรับปรุงข้อเสนออีกรอบหนึ่งซึ่งเข้าใจว่าข้อเสนอใหม่ก็ถูกเสนอไปที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ชี้ว่าคงต้องรอดูท่าทีของสหรัฐอเมริกาว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
ส่วนประเด็นข้อเสนอเรื่องของการเกษตรที่มีการเสนอเข้าไป จะมีความคืบหน้าอย่างไรหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา ตอบว่า ทางการไทยโดยนายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการพูดถึงการที่จะเข้าไปลดภาษีสินค้าเกษตรและเปิดตัวสินค้าเกษตรในหลาย ๆ ตัวโดยขณะนี้ยังไม่เปิดเผยว่าเป็นตัวไหนบ้าง และมีการพูดถึงการลดภาษีลงเหลือ 0% ในประมาณ 90% ของสินค้าที่เรามีการเก็บจากทางสหรัฐอเมริกา หากเทียบกับมาตรฐานของทางเวียดนามที่ได้ประกาศไปแล้วว่าจะลดเหลือ 0% ทุกรายการและได้ภาษี 20% มา ก็อาจจะเป็นข้อเสนอที่ไม่ได้น่าดึงดูดนักสำหรับสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้คงต้องรอดูทั้ง 90% ของรายการว่ามีรายการอะไรบ้าง อาจจะมีการบอกว่า ทุกรายการเป็นรายการที่เราไม่ได้ผลิตเองอยู่แล้ว จุดนี้ยังไม่ค่อยไว้วางใจเท่าไหร่เพราะสินค้าหลาย ๆ ตัวเป็นสินค้าที่ทดแทนกันได้ เช่น ผลไม้หรือพืชอื่น ๆ ที่อาจมาใช้ทดแทนกันได้ในหลาย ๆ กรณี ดังนั้นโอกาสที่จะมีผลกระทบกับทางเกษตรกรไทยที่มีจำนวนมาก ก็มีโอกาสสูงเช่นเดียวกัน
ส่วนประเด็นควรจะเทหมดหน้าตักเขาหรือไม่ ด้านนางสาวศิริกัญญา ตอบว่า จุดนี้เป็นเรื่องที่ต้องชั่งน้ำหนัก ว่าเราควรจะต้องเทหมดหน้าตักหรือไม่ เพราะถึงเทจนหมดหน้าตักก็คงได้ไม่สูงไปกว่า 20% ซึ่ง 20% ก็ต้องมาดูอีกทีไม่ใช่ว่าการที่ได้เท่า ๆ กับประเทศคู่แข่งแล้วจะเท่ากับว่าเราได้เปรียบ เพราะเรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการหากนึกภาพเวียดนามสามารถทำมาร์จิ้น หรือทำกำไรในการผลิตสินค้าได้ราว 20% ในส่วนของภาษีที่เพิ่มขึ้นมานั้นเขาสามารถที่จะลดราคาให้กับทางผู้นำเข้าได้ทันทีในราคาที่ลดลง 20% เท่ากับจุดนี้ไม่มีผลของภาษีเลย ในขณะที่ผู้ประกอบการไทยก็อาจจะเสียเปรียบในเรื่องของต้นทุนการผลิตสินค้าที่อาจจะสูงกว่าประเทศคู่แข่งทั้งในเรื่องของค่าไฟฟ้าหรือแม้กระทั่งในเรื่องของราคาวัตถุดิบอื่น ๆ ที่อาจจะสูงกว่า ก็อาจจะทำให้เราไม่มีความสามารถที่จะไปตัดราคากับคู่แข่งได้เช่นเดียวกัน นางสาวสิริกัญญา ชี้ว่าจุดนี้ต้องมาดูกันในละเอียดในรายการสินค้าอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามว่าประเด็นพื้นฐานการผลิตกังวลหรือไม่ เนื่องจากพอมีต้นทุนที่สูงขึ้นและยังโดนภาษีเพิ่มสูงซ้ำเข้าไปอีก มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา ตอบว่า เรื่องของ FDI จุดนี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ตนมองว่ามีความกังวลเพิ่มมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามตอนนี้ฝุ่นยังตลบค่อนข้างมากทำให้ยังไม่รู้ว่าภาษีสุดท้ายจะเป็นเท่าไหร่ และความสามารถในการย้ายฐานของนักลงทุนก็ไม่เท่ากัน ส่วนประเด็นการตัดสินใจที่จะย้ายฐานการผลิตไปที่อื่นนั้นท้ายที่สุดคงจะต้องรอการเจรจาของหลาย ๆ ประเทศให้เสร็จสิ้นลงก่อน ตนมองว่าองค์กรคู่แข่งที่สำคัญอาจไม่ใช่ในภูมิภาคเดียวกันแต่อาจจะเป็นประเทศอินเดีย ที่อาจจะเป็นจุดหมายใหม่ของนักลงทุน ที่จะเบนเข็มไปตรงนั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าในประเภทอิเล็กทรอนิกส์
เมื่อผู้สื่อถามว่า เรายังพอมีหวังกับการเจรจาขอลดภาษีกับทางสหรัฐฯ หรือไม่ และทางรัฐบาลควรจะไปคุยอย่างไรบ้าง นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า ตอนนี้ต้องบอกว่ายังมีความหวังอยู่ เพราะว่าการขยับเดดไลน์ครั้งนี้ เป็นการขยับเดดไลน์การจัดเก็บภาษี จากที่ตอนแรกเป็นวันที่ 9 กรกฎาคม ไปเป็นวันที่ 1 สิงหาคมแทน แต่ตนเข้าใจว่าเดดไลน์ของการเจรจาจะยังคงอยู่ที่ 9 กรกฎาคม เหมือนเดิม ถึงแม้ว่าเราจะได้เจรจาไปแค่ครั้งเดียว แต่ว่าเราก็เสนอข้อเสนอใหม่ไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น โอกาสที่เราจะได้ภาษีต่ำลงกว่า 30% ก็ต้องตอบว่ายังมีอยู่ ก็ต้องลุ้นกันว่าจะสามารถส่งข้อเสนอไปในแบบที่ทางสหรัฐฯ พึงพอใจหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงด้วยว่าสิ่งที่เราได้เสียสละไปเพื่อขึ้นไปอยู่บนโต๊ะเจรจา ทั้งการภาษี 0% และการเปิดตลาด จะไปโดนสินค้าตัวไหนบ้างที่จะได้รับผลกระทบ ก็ต้องเตรียมมาตรการที่เยียวยา
นางสาวศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ก็ต้องบอกว่าการบีบ การขู่ ด้วยจดหมายแบบนี้ เอาเดดไลน์มาบีบให้เราจนมุมขนาดนี้ มันก็ทำให้การเจรจามันมีแรงกดดันสูงมาก ๆ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเราได้ไปให้อะไรที่เราไม่สมควรจะให้ไว้หรือเปล่า ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการกับสาธารณะ ถ้าเกิดขึ้นจริง ๆ คงจะต้องเตรียมแผนการในการรับมือ เยียวยาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย ทั้งภาคส่งออกเอง อย่างที่บอกว่าตัว 20% ไม่ใช่ว่าจะแข่งได้หรือว่าจะโดนเกิน 20% เพราะว่าเราก็ไม่ได้ให้ข้อเสนอที่ดีเท่า ๆ กับทางเวียดนาม ก็ยิ่งต้องเตรียมตัวรับผลกระทบหนัก แล้วก็ไม่รู้ว่าสินค้าที่เอาขึ้นโต๊ะเจรจา จะเป็นสินค้าที่ใครบ้างที่จะได้รับผลกระทบ ในแง่ผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกร SME หรือผู้ส่งออก หรือผู้ผลิตในประเทศไทย อันนี้ก็ต้องมีการเตรียมการ
นางสาวศิริกัญญา ยังกล่าวอีกว่า หลังจากที่ผ่านการประกาศมาตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา เรายังไม่ค่อยเห็นรัฐบาลเตรียมการเรื่องการเยียวยาผลกระทบให้กับทางผู้ส่งออก และเกษตรที่ได้รับผลกระทบเท่าไร ที่ผ่านมามีการออกมาตรการผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจไป ราวหมื่นล้านเศษ ที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาผลกระทบให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่ก็ต้องบอกว่ามันน้อยนิดเหลือเกิน มีเพียงแค่โครงการใหญ่ที่สุดคือให้ประกันสังคมปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ เพื่อพยุงการจ้างงาน หนึ่งหมื่นล้านบาท ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะพยุงได้กี่ตำแหน่งงาน อันนี้ก็เป็นความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น เพราะว่าในหน้าตักทางการคลังของเราก็มีลดน้อยลงไปบ้างแล้วเหมือนกัน
ส่วนเรื่องที่ถูกวิจารณ์อย่างมากเพราะไทยเราใช้บริษัทล็อบบี้ยิสต์ค่อนข้างแพงนั้น นางสาวศิริกัญญา มองว่า ตนก็เป็นคนหนึ่งที่เริ่มเปิดเรื่องล็อบบี้ยิสต์ ก็ยังคิดว่าไม่แน่ใจว่าได้ทำสัญญาไปอย่างครบถ้วน ทั้งของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศหรือไม่ คาดว่าคงจะยังทำสัญญากันได้ไม่เสร็จสิ้น เพราะว่าถ้าทำสัญญาอย่างเสร็จสิ้น จ่ายเงินไปราว ๆ สองร้อยล้าน น่าจะได้ผลการเจรจาที่ดีกว่านี้ ได้เข้าพบคนสำคัญ ๆ มากกว่านี้
“ก็ต้องบอกว่า ภาวนาว่ายังใช้เงินไม่หมด ยังไม่สามารถทำสัญญาได้ ก็ใช้เงินน้อยว่า 200 ล้านที่ได้มีคำของบกลางไปเพราะว่าผลที่ได้ไม่ค่อยเป็นที่น่าพึงพอใจเท่าไหร่“
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า นี่คือการตำน้ำพริกละลายแม่น้ำหรือไม่ นางสาวศิริกัญญา กล่าวว่า ก็ยังพูดได้ยาก ตอนนี้ตนขอเอกสารที่เป็นสัญญาการจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว ว่าเราได้มีการทำสัญญาไปลุล่วงหรือเปล่า ถ้ายังไม่มีการทำสัญญาก็ยังไม่ได้เป็นการละลายแม่น้ำ แต่ถ้าทำสัญญาไปแล้วทั้งสองหน่วยงาน จ่ายไปเดือนหนึ่งประมาณ สี่แสนยูเอสดอลล่าร์ ก็ถือว่าสูงมากเหมือนกัน
ส่วนข้อเสนอที่ให้งบที่กำลังพิจารณาอยู่ มาทุ่มให้กับการเจรจาภาษีสหรัฐฯ ให้เยอะขึ้นนั้น นางสาวศิริกัญญา ระบุว่า แน่นอน นี่เป็นข้อเสนอที่ทางฝ่ายค้านได้เสนอกับทางฝ่ายค้านและรัฐบาลตั้งแต่เริ่มต้น แต่ก็ไม่ได้มีทีท่าใดใดที่จะตอบรับ แต่เราก็จะเสนอกันอีกรอบหนึ่ง จริง ๆ นายวีระ ธีระภัทรานนท์ และนายอัศวิน สุทธิวิเชียรโชติ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พ.ศ. … ได้พูดถึงประเด็นนี้ ในกลุ่มที่เราใช้ในการสื่อสารกันแล้ว ว่าหลังจากที่การเจรจายังไม่บรรลุผล เราอยากให้นายพิชัย ชุณหวชิระ รองนายกฯ ในฐานะรมว.กระทรวงการคลัง ออกมาชี้แถลงกับทางกรรมาธิการงบประมาณเช่นเดียวกันว่าเราจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนแผนสำหรับงบประมาณ ปี 2569 เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสงครามการค้านี้หรือไม่ ได้ติดต่อไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าประเทศที่ถูกเปรียบเทียบอย่างมากคือกัมพูชา ที่ได้ลดภาษีจาก 49% เหลือ 36% อะไรที่ทำให้สหรัฐฯ ยอมลดให้กัมพูชาขนาดนี้ นางสาวศิริกัญญา มองว่า รอบนี้ที่ลดลงมาไม่มีประเทศไหนสูงเกินกว่า 40% กัมพูชาเองก่อนหน้านี้มีการแถลงด้วยซ้ำไปว่าบรรลุข้อตกลงเรียบร้อยแล้ว กำลังจะแถลงในอีกไม่กี่วัน แต่ก็โดนจดหมายนี้ไปด้วย ที่ 36% ถ้าดูเทอมของวอลุม ปริมาณการค้าก็ถือว่าเบาบางมากกับทางสหรัฐอเมริกา ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ได้เปรียบเสียเปรียบอะไร แต่ทางกัมพูชาเองก็ได้เจรจาก่อนประเทศไทย แต่ก็ไม่แน่ใจว่ามีการคืบหน้าในการเจรจาก้าวหน้ากว่าประเทศไทยหรือเปล่า
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เป็นเพราะไทยเริ่มช้าทำให้ผลการเจรจาออกมาแบบนี้หรือไม่ นางสาวศิริกัญญา ตอบว่า “ดิฉันคิดว่ามีผลมาก ในความล่าช้าในการเจรจา ตอนนี้หลาย ๆ ประเทศอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แม้แต่มาเลเซียเอง ดิฉันคิดว่าเหลือรายละเอียดเพียงแค่ไม่กี่อย่าง ที่ยังตกลงกันไม่ได้ แล้วก็ด้วยความที่พูดคุยกันมาหลายรอบก็คงมีการปรับเปลี่ยนกันหลายครั้ง ในท้ายที่สุด ถ้ามีการปรับแก้อีกเพียงเล็กน้อยก็คงบรรลุข้อตกลงไปได้ในเดดไลน์ที่กำหนด แต่ว่าของประเทศไทยมันกลายเป็นว่าเพิ่งพูดคุยไปได้ครั้งเดียวแล้วโดนบีบให้จนมุมด้วยเดดไลน์ที่กำหนดจะถึง ก็เลยทำให้ต้องยื่นข้อเสนออะไรบางอย่างที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อจะได้ให้ผลตอบแทนสูง หรือ high risk high return เช่นเดียวกัน อันนี้ก็คงต้องรอให้รัฐบาลออกมาเปิดเผยจริง ๆ จัง ๆ ว่าสรุปแล้วการแก้ไขครั้งล่าสุดได้มีอะไรเอาไปแลกกับเขาบ้าง แล้วก็จะส่งผลกระทบอย่างไร และเตรียมแผนการที่จะเยียวยาผลกระทบนี้ในอนาคตไว้อย่างไร“
Advertisement