ที่สุดแห่งปี 65 คดีสังคมรุมสาป! รัฐฯ เดินหน้ายุติปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี

26 ธ.ค. 65

เมื่อครอบครัวไม่ใช่เซฟโซน ประมวลข่าวปี 65 ความรุนแรงในเด็กและสตรี กระทรวง พม. กางแผนช่วยเหลือเหยื่อ ครอบคลุมทุกมิติ

ท่ามกลางข่าวปัญหาปากท้อง การเมือง ที่สาดแสงวาบดั่งสปอร์ตไลต์ เรียกความสนใจจากผู้คน "ความรุนแรงในครอบครัว" อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นกับเหยื่อที่เป็นเด็กและสตรี สะท้อนผ่านข่าวเศร้าสะเทือนใจไม่เว้นแต่ละวัน

และเพื่อเป็นการให้สังคมตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว อมรินทร์ทีวี ออนไลน์ จะขอหยิบยกข่าว ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในปี 65 เพื่อเป็นการสะท้อนปัญหาและร่วมกันหาแนวทางยุติปัญหามิให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีก

1. คดีน้องกอหญ้า
การเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของเด็กหญิงวัยเพียง 6 ขวบ บาดแผลทั่วร่างกายฟ้องถึงความทุกข์ทรมานก่อนสิ้นลม โดยแพทย์ระบุ เสียชีวิตเพราะสมองกระทบกระเทือนจากศีรษะได้รับบาดเจ็บ ยายแท้ๆ เป็นผู้เลี้ยงดูเด็กให้การกับเจ้าหน้าที่ว่า น้องกอหญ้า ล้มใส่กรงหมา แต่จากพยานแวดล้อม ข้อพิรุธรวมถึงการสอบสวน ในที่สุด ยายรับสารภาพสิ้นว่าเป็นผู้ทำร้ายหลานแท้ๆ จนถึงแก่ชีวิต

คดีน้องกอหญ้า

2. คดีน้องสายฟ้า
อีกหนึ่งคดีช็อกสังคม ที่ก่อเหตุโดยแม่แท้ๆ บังคับลูกชายวัย 6 ขวบกินนอนในรถ โดยอ้างว่าลูกชายถูกทำของใส่ แต่ด้วยบาดแผลตามร่างกายตำรวจจึงไม่ปักใจเชื่อตามที่ผู้เป็นแม่อ้าง

คดีนี้มีความหดหู่เพิ่มยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อ พ่อเลี้ยงกุเรื่องเพื่อรับผิดแทน ทว่าตำรวจพบพิรุธหลายจุด และได้ทำการสอบสวนเข้มข้นจนแม่น้องสายฟ้ารับสารภาพว่าเป็นผู้ลงมือ และได้ให้พ่อเลี้ยงของเด็กรับสารภาพแทน โดยมีข้อตกลงกันว่าให้สามีใหม่ติดคุกแทน ส่วนตัวเองจะเป็นคนเลี้ยงดูลูกที่เกิดกับสามีใหม่เอง

คดีนี้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นผู้แถลงปิดคดีเอง โดยระบุแรงจูงใจเกิดจาก ผู้ก่อเหตุแค้นสามีเก่าพ่อของเด็ก

คดีน้องสายฟ้า

3. คดีแม่ปุ๊กวางยาลูกหวังเงินบริจาค
ข่าวใหญ่สะเทือนใจผู้คนในสังคม สำหรับกรณีของ "แม่ปุ๊ก" หญิงวัย 29 ปีที่โพสต์รูปลูกสาวป่วยหนักเพื่อขอรับเงินบริจาคจากผู้ใจบุญ

มีผู้โอนเงินช่วยเหลือจำนวนมาก จากนั้นไม่นานเด็กได้เสียชีวิตลง ก่อนที่โลกโซเชียลจะเกิดความสงสัยจนนำไปสู่การจับกุม เมื่อพบว่า "แม่ปุ๊ก" ได้โพสต์ว่าลูกชายคนเล็กป่วยลักษณะเดียวกัน มีสารพิษในร่างกาย ต้องเข้าไอซียู ต่อมา ตร.ตามสืบจนพบว่า แม่เด็กเองนั่นแหละที่วางยาลูกเพื่อหวังเงินบริจาค

ล่าสุด เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา คดีดังกล่าวถึงคราวอวสาน กรรมทำหน้าที่ เมื่อศาลอาญาพิพากษาประหารชีวิตสถานเดียว ไม่มีเหตุลดโทษ

คดีแม่ปุ๊กวางยาลูก

4.สาดน้ำกรดเมียในร้านเสริมสวย
เหตุการณ์หญิงสาวถูกสาดด้วยน้ำกรดเข้าบริเวณใบหน้าจนต้องวิ่งเข้ามาขอความช่วยเหลือในร้านเสริมสวยแห่งหนึ่งย่านดอนเมือง ต้นตอจากความหึงหวง ลุกลามกลายเป็นความรุนแรงที่สามีกระทำต่อภรรยา ไม่ว่าเบื้องลึกของความสัมพันธ์จะเป็นเช่นไร ผู้กระทำผิดย่อมต้องรับโทษตามกฎหมาย

สาดน้ำกรดเมียในร้านเสริมสวย

5.ครูกล้อนผมนักเรียน ลงโทษเกินกว่าเหตุ
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อเหยื่อที่เป็นเด็กและเยาวชน ไม่เพียงแต่ด้านร่างกายเท่านั้น ความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจก็มีให้เห็นเป็นข่าวไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็น การตัดผมนักเรียนให้แหว่ง-สั้นกุด ใช้คำว่ากล่าวรุนแรง ลงโทษด้วยการตีรุนแรงเกินกว่าเหตุ หรือแม้แต่ชก-ต่อย-เตะ ก็เคยถูกนำเสนอเป็นข่าวสะเทือนสังคมมาแล้วเช่นกัน

หากสังเกตในคดีที่กล่าวมาในข้างต้น สถานที่เกิดเหตุมักเกิดขึ้นในบ้านที่อยู่อาศัย โรงเรียน และผู้ก่อเหตุมักมีความเกี่ยวข้องกับเด็กในทางใดทางหนึ่งทั้งสิ้น

ครูกล้อนผมนักเรียน ลงโทษเกินกว่าเหตุ

ข้อมูลสถิติจาก กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พบว่าประเทศไทยติด Top Ten ของโลก ที่ใช้ความรุนแรงในครอบครัวมากที่สุด และผู้ถูกระทำก็เป็นเพศหญิง 81.9%

สถานที่เกิดเหตุคือ ในบ้าน 88.9% โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร พบว่ามีผู้ถูกกระทำความรุนเรง สูงเป็นอันดับ 1 โดยปัจจัยกระตุ้นคือ ยาเสพติด 16.4%

สถิติ ความรุนแรงในครอบครัว 2565

istock-1159171674

แนวทางการแก้ไขเพื่อยับยั้งปัญหาและช่วยเหลือเหยื่อ

นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ให้สัมภาษณ์กับทางอมรินทร์ทีวี ออนไลน์ ว่า
จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น สังคมมีความเครียด ความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาความรุนแรงเราจึงต้องไล่มาตั้งแต่ต้นน้ำ การจะมาจับที่ปลายทางว่าเกิดความรุนแรงไม่ได้ ปัญหาความเครียดแล้วความเครียดเกิดจากอะไร เคยตัวหรือไม่? มีหนี้ครัวเรือนสูงไปหรือไม่? หรือปัญหาตกงาน ว่างงาน สิ่งตรงนี้รัฐบาลกำลังช่วย
นอกจากนี้กระทรวงยังมองไปถึงปัญหาการดื่มสุรา ใช้ยาเสพติดหรือไม่ แต่พินิจไปที่ปัญหายาเสพติดเพียงอย่างเดียว อย่างนี้อาจเรียกว่าปลายทาง เพราะฉะนั้นต้องดูที่ต้นทางเป็นสำคัญ

การช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรง จริงๆ พม. เราช่วยไว้เยอะ แต่ด้วยกฎกติของนักสังคมสงเคราะห์คือ ช่วยแล้วห้ามเปิดเผย กระทรวงไม่ได้ทำงานแบบ "เรียกให้ดู" นี่นะเราทำแล้ว และการช่วยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงไปหาครอบครัวที่ประสบปัญหาแล้วให้เงิน 2 พัน 3 พัน แล้วจบ เราต้องช่วยเขาอย่างครบวงจร เช่น

กรณี แม่เลี้ยงเดี่ยว การช่วยเหลือด้วยการฝึกอาชีพ ฝึก 6 เดือน เสร็จแล้วปล่อยเลย ให้เงินทุนไป 5 พัน อย่างนี้ตายนะครับ เราต้องดูว่าเขาทำอะไรเป็น ชงกาแฟ ผัดข้าวเป็น เราต้องช่วยหาตลาด หรือในแง่ของเงินทุน เราช่วยเหลือด้วยการ เจรจากับธนาคารของรัฐฯ ช่วยเหลือ และมอนิเตอร์เขาภายหลังจากนั้น 6 เดือนเป็นอย่างไร 1 ปี เป็นอย่างไร

จุติ ไกรฤกษ์

หลังจากนี้กระทรวง พม. จะต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่ แต่โมเดลนี้สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความยั่งยืนกับครอบครัวและสังคม เพราะฉะนั้นคนของ พม. ต้องอึดกว่าทุกคน

หนึ่งในมาตรการที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนก็คือ การเข้าถึงเด็กๆ ทั้งเด็กในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ในส่วนของเด็กนอกโรงเรียน เรามีศูนย์ช่วยเหลือสังคมประจำตำบลทั่วประเทศ ศูนย์ดังกล่าวจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของกระทรวง พม. ในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือดูแลประชาชนอย่างทั่วถึงและรวดเร็ว ผ่านสายด่วน พม. โทร. 1300 ที่ประสานความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง

ส่วนเด็กในโรงเรียนนั้น เรากำลังมีโมเดลปรับครูเป็นโค้ชชีวิต เราจะทำให้ทุกโรงเรียนมีครูโค้ชที่ให้คำปรึกษาปัญหา คนที่มารับหน้าที่ตรงนี้ ทุกคนเต็มใจและผ่านการฝึกอบรมมาแล้ว ซึ่งทางกระทรวงได้เริ่มดำเนินงานแล้วในเดือน ธ.ค.นี้

จากการปรับบทบาทนี้เชื่อว่าเด็กจะมีความเข้าใจ ส่วนผู้ปกครองก็จะเข้าใจลูกหลาน ซึ่งจะมาซึ่งความเข้าใจกันภายในครอบครัวมากขึ้น เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสังคมที่เราจะต้องเร่งทำเป็นการด่วน และจะช่วยลดความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว


advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม