ไขคำตอบ 15 ข้อสงสัย โอมิครอน BA.2 พบเกาะบนผิวมนุษย์ ได้นานกว่าทุกสายพันธุ์

26 ก.พ. 65

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ไขคำตอบ 15 ข้อสงสัย เกี่ยวกับ โอมิครอน BA.2 พบเกาะบนผิวมนุษย์ และพลาสติก ได้นานกว่าทุกสายพันธุ์

วันที่ 26 ก.พ.65 ผู้สื่อข่าวรายงาน ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ (Center for Medical Genomics) เผยแพร่ข้อมูล 15 คำตอบที่ปชช.อยากรู้เกี่ยวกับ โอมิครอน BA.2 ณ ช่วงเวลานี้ (ข้อมูลปรับปรุง วันที่ 24/2/2565 เวลา 16.30) 

1. จริงหรือไม่ที่ BA.2 ก่อให้เกิดโรคโควิดที่มีอาการรุนแรงมากกว่า BA.1 และมีความรุนแรงใกล้เคียงกับเดลตา

องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงว่าข้อมูลจากนักวิจัยในประเทศญี่ปุ่นซึ่งทำการทดลองในสัตว์ทดลองที่ “ไม่มีภูมิคุ้มกัน ต่อ SARS-CoV-2" อันแสดงให้เห็นว่า BA.2 อาจก่อให้เกิดโรคใน "หนูแฮมสเตอร์" ที่รุนแรงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับ BA.1 นั้น เมื่อ WHO ได้ประมวลข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริงเกี่ยวกับความรุนแรงทางคลินิกจากคนไข้ในประเทศ แอฟริกาใต้ สหราชอาณาจักร และเดนมาร์ก ซึ่งมีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนหรือการติดเชื้อตามธรรมชาติสูง ยังไม่พบความแตกต่างในความรุนแรงของการก่อโรคระหว่าง BA.2 และ BA.1 อย่างมีนัยยสำคัญทางสถิติ”

2. BA.2 แพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่า BA.1 ใช่หรือไม่

BA.2 แพร่ระบาดได้รวดเร็วกว่า BA.1 ประมาณ 1.5 เท่า โดย WHO ยังคงจัด BA.2 ให้เป็นสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน มิได้ปรับให้เป็นสายพันธุ์ใหม่ มีชื่อใหม่แยกออกมา 

BA.2 มีการกลายพันธุ์ต่างไปจาก BA.1 และ ฺBA.3 จำนวน 10 ตำแหน่ง โดย 5 ตำแหน่งจะอยู่บนยีน S ที่ควบคุมลักษณะของหนามแหลม

ฺBA.1 มีการกลายพันธุ์ต่างไปจาก BA.2 และ BA.3 จำนวน 13 ตำแหน่ง โดย 7 ตำแหน่งจะอยู่บนยีน S ที่ควบคุมลักษณะของหนามแหลม

BA.3 มีการกลายพันธุ์ต่างไปจาก BA.1 และ BA.2 จำนวน 1 ตำแหน่ง ซึ่งไม่ได้อยู่บนยีน S ที่ควบคุมลักษณะของหนามแหลม

3. โอมิครอนอยู่ในสิ่งแว้ดล้อมนอกร่างกายได้นานเท่าไร

มีงานวิจัยจากญี่ปุ่นแสดงให้เห็นว่า โอมิครอนอยู่ตามผิวหนัง (มนุษย์) ได้ประมาณ 1 วัน (21 ชั่วโมง) พลาสติกประมาณ 8 วัน (193.5 ชั่วโมง) เดลตาอยู่ตามผิวหนังได้ประมาณครึ่งวัน (16.8 ชั่วโมง) พลาสติกประมาณ 4 วัน (193.5 ชั่วโมง)
https://www.biorxiv.org/content/10.1101/2022.01.18.476607v1 

274734289_4847068895400852_80

4. การติดเชื้อโอมิครอนซ้ำเกิดขึ้นได้หรือไม่

WHO แถลงว่าการติดเชื้อซ้ำด้วย BA.2 หลังการติดเชื้อ BA.1 หรือเดลตาได้รับการบันทึกไว้แต่มีจำนวนน้อยเพราะข้อมูลเบื้องต้นจากการศึกษาการติดเชื้อซ้ำในระดับประชากรบ่งชี้ว่าผู้ที่ติดเชื้อ BA.1 จะสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อซ้ำจาก BA.2 ได้

5. โอมิครอนจะระบาดในประเทศไทยไปอีกนานแค่ไหน 

จากการศึกษาธรรมชาติการระบาดของ "โอมิครอน" พบว่าการระบาดในแต่ละประเทศทั่วโลกจะมีระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน โดยแต่ละประเทศจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อจำนวนประชากร 1 ล้านคนที่ไม่เท่ากันขึ้นกับหลายปัจจัย เช่นจำนวนผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน มาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิดของแต่ละประเทศ

6. จะมีไวรัสโคโรนา 2019 กลายพันธุ์เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่มาแทนโอมิครอนหรือไม่

WHO กล่าวว่ามีความเป็นไปได้สูงที่เกิดสายพันธุ์ใหม่ที่กลายพันธุ์ไปมากกว่าโอมิครอนและระบาดเข้ามาแทนที่โอมิครอนในอนาคต

7. การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อใด

ผอ. WHO แถลงว่าการระบาดใหญ่รุนแรงทั่วโลก (Acute Pandemic) สามารถยุติลงได้ในกลางปี 2565 หากทุกประเทศทั่วโลกทำการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในแต่ละประเทศได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70

8. ไวรัสโคโรนา 2019 ในที่สุดจะสูญพันธุ์ลงหรือไม่

ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกมีความเห็นสอดคล้องกันว่าไวรัสโคโรนา 2019 จะไม่หายไปไหน ท้ายที่สุดกลายเป็นโรคประจำถิ่นที่เราควบคุมได้ (Endemic) โดยมีการกลายพันธุ์ไปรื่อยๆ แต่ลดความรุนแรงลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากมนุษย์เรามีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติและจากการฉีดวัคซีน ภูมิคุ้มกันดังกล่าวมีระบบการจดจำ แม้ว่าแอนติบอดีจะลดระดับลง จนตรวจไม่พบ แต่ระบบที่จดจำไวรัสโคโรนา 2019 ได้ยังคงอยู่ ตามอวัยะวะต่างๆ เมื่อมีการติดเชื้อซ้ำในอนาคต เซลล์เม็ดเลือดขาวประเภท บี เซลล์ (memory B cell) จะสร้างแอนติบอดีขึ้นมาต่อต้านในทันที ในขณะที่เซลล์เม็ดเลือดขาวประเภท ที เซลล์ (memory T cell) จะรีบเพิ่มจำนวน สร้างสารโปรตีนพิเศษไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวอีกหลายประเภทให้เข้าทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัส จึงเป็นที่มาว่าทำไม WHO จึงมั่นใจที่จะกล่าวว่าสภาวะการระบาดรุนแรง (Acute Pandemic) ของไวรัสโคโรนา 2019 ทั่วโลกจะยุติลงในปี 2565 นี้

9. หากโอมิครอนไม่ก่อให้เกิดอาการติดเชื้อที่รุนแรง (mild) ทำไมมีผู้เสียชีวิตจากโอมิครอน

ผู้ติดเชื้อโอมิครอนมีอาการไม่รุนแรง (milder) เมื่อเทียบกับเดลตา (more severe) แม้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการแต่จะมีจำนวนหนึ่ง (0.9%) ที่จะมีอาการรุนแรงเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลหรือถึงขั้นเสียชีวิต

10. มีรายงานข่าวว่าโอมิครอนมีการแพร่ติดต่อที่รวดเร็ว ท้ายที่สุดทุกคนบนโลกนี้จะต้องติดเชื้อโอไมครอน ข้อมูลนี้ถูกต้องหรือไม่ และหากข้อมูลนี้ถูกเหตุใดเรายังจะต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิดกันต่อไปอีก

ดร.มาเรีย แวน เคอร์คอฟ จากองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้แถลงว่า โอมิครอนมีการแพร่ติดต่อที่รวดเร็วจริง แต่ “ไม่ได้หมายความว่า” ทุกคนบนโลกนี้จะต้องติดเชื้อโอมิครอนในที่สุด WHO กำลังพยายามทุกวิถีทางร่วมกับหน่วยงานต่างๆในการลดโอกาสการติดเชื้อให้กับประชาชนทั่วโลก วัคซีนเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพที่สุดในปัจจุบันแต่ไม่อาจป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วสามารถติดเชื้อโอไมครอนได้ถึงร้อยละ 55.9 (vaccine breakthrough cases)

ดังนั้นเราจำเป็นต้องดำเนินการป้องกันตัวเองควบคู่กันไปกับการฉีดวัคซีนกล่าวคือทุกคนป้องกันตนเองจากการสัมผัสสิ่งของหรือผู้อื่น เว้นระยะห่างจากบุคคลที่สอง สวมหน้ากากอนามัยปิดจมูกและปาก ล้างมือให้สะอาด หลีกเลี่ยงฝูงชน ทำงานจากที่บ้าน ถ้าทำได้ ตรวจหาเชื้อด้วย ATK หรือ PCR เป็นประจำสม่ำเสมอ อันเป็นวิธีที่เราสามารถรักษาตัวเองให้ปลอดภัยและป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อและแพร่ไวรัสไปให้คนอื่นได้ 

นอกจากนี้จากการศึกษาธรรมชาติการระบาดของ "โอมิครอน" พบว่าการระบาดในแต่ละประเทศทั่วโลกจะมีระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน ดังนั้นโอมิครอนจึงไม่ได้อยู่กับเรานานพอที่จะทำให้มีผู้ติดเชื้อไปทั้งประเทศ หรือทั้งโลก แต่หากพูดว่าในช่วงชีวิตเรามีโอกาสที่จะติดเชื้อไวโคโรนา 2019 สายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง ดูจะใกล้ความจริงมากกว่า

11. เหตุใดจึงมีความจำเป็นที่ต้องลดการแพร่ระบาดของโอมิครอน

WHO แถลงว่าเราต้องลดการแพร่ระบาดของโอมิครอนด้วยเหตุผล 4 ประการ
1. เราต้องการป้องกันไม่ให้ประชาชนติดเชื้อเพราะมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคโควิดรุนแรงที่ต้องเข้ารักษาตัวใน รพ. หรือเสียชีวิตได้ในอัตราร้อยละ 0.9
2. ผู้ติดเชื้อแล้วหายบางคนมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลที่ตามมาในระยะยาว ซึ่งเราเรียกว่าภาวะหลังโควิด (long covid) และเรายังไม่เข้าใจกลไกการเกิด “ลองโควิด” ที่จะนำไปสู่การรักษามากนัก
3. การติดเชื้อของคนในชาติเป็นจำนวนมากจะเป็นภาระใหญ่ต่อระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
4. ยิ่งโอมิครอนมีการแพร่ระบาดระหว่างคนสู่คนเป็นวงกว้าง ยิ่งเปิดโอกาสให้ไวรัสกลายพันธุ์ สายพันธุ์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นต้องมีการกลายพันธุ์ไปมากกว่าโอไมครอน และหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าเพื่อสามารถแพร่ระบาดมาแทนที่โอมิครอนได้ ส่วนการก่อโรคโควิด-19 ของสายพันธุ์ใหม่นั้นจะมีความรุนแรงเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงยังไม่อาจคาดเดาได้
ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องร่วมด้วยช่วยกันลดการแพร่ระบาดของโอมิครอน

12. เหตุใดประเทศเดนมาร์กจึงมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ  

เดนมาร์กถือเป็นกรณีศึกษา ทั่วโลกจับต่อมองเพื่ออาจนำไปใช้บ้าง มีจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอน BA.2 เพิ่มจำนวนมากขึ้นทั้งที่มีการฉีดวัคซีนสูงถึงร้อยละ 88 ของประชากร ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจาก “เดนมาร์ก" เป็นประเทศแรกในยุโรปที่ผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 ทั้งหมด รวมถึงข้อบังคับการสวมหน้ากากอนามัย และการเว้นระยะห่างทางกายภาพหลังจากที่หน่วยงานสาธารณสุขของเดนมาร์กได้ฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรได้มากกว่า 80%

หน่วยงานสาธารณสุขของเดนมาร์กประเมินว่า การระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่โรคที่มีอันตรายร้ายแรงในสังคมอีกต่อไป เพราะแม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อในเดนมาร์กจะเพิ่มขึ้น แต่จำนวนผู้เสียชีวิตคงที่ไม่ได้ส่งผลกระทบแต่อย่างใดต่อระบบสาธารณสุข ทั้งนี้เพราะเดนมาร์กมีอัตราการฉีดวัคซีนสูง ประชากรที่อายุ 5 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 80 ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และอีกประมาณร้อยละ 60 ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว

13. หน่วยงานสาธารณสุขของเดนมาร์ก "ตัดสินใจผิดพลาด"หรือไม่ที่ยกเลิกมาตรการโควิด-19 ทั้งหมด ตั้งแต่เดือน 1 ก.พ. 2565 ทำให้มีทั้งผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น

หลังจากเดนมาร์กยกเลิกมาตรการโควิด-19 ทั้งหมด จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จาก BA.2 ก็ทะยานขึ้นและถึงจุดสูงสุด (peak) เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2565 แล้วก็เริ่มลดลงจากนั้นเป็นต้นมา 

The State Serum Institute (SSI) ของเดนมาร์กซึ่งเทียบเท่ากับศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) ได้แถลงว่าจำนวนผู้เสียชีวิตโดยรวมในเดนมาร์ก "คงที่ไม่เพิ่มขึ้น" ในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2564 เดนมาร์กมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในผู้สูงอายุมากกว่า 75 ปี อันมีสาเหตุจากการติดเชื้อ “เดลตา”

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 1 ปี 2565 อัตราการเสียชีวิตในเดนมาร์กลดลงและตอนนี้เข้าใกล้ระดับปกติทั้งที่เดนมาร์กมีการตรวจ PCR ให้ผลบวกเพิ่มขึ้น บ่งชี้ว่าจำนวนผู้เสียชีวิตเนื่องจากโอมิครอนน้อยลงจริง และน้อยกว่าอัตราการเสียชีวิตจากเดลตาในอดีต

14. หากอัตราผู้เสียชีวิตเนื่องจากโอมิครอนน้อยลงจริงทำไมข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตในเดนมาร์กที่ได้จาก “Our World in data” (จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด) ในช่วงที่เดลตาระบาด และโอมิครอนระบาดจึงใกล้เคียงกัน  

ทาง SSI ได้อธิบายว่า ข้อมูลจำนวนผู้เสียชีวิตในเดนมาร์กที่ได้จาก “Our World in data” นั้นเป็นข้อมูลรวมการตายสองกลุ่มเข้าด้วยกันคือ (1) ผู้เสียชีวิตด้วยสาเหตุอื่นๆ แต่มีผล PCR ต่อเชื้อโควิด-19 เป็นบวก (deaths with) เพราะช่วงนี้มีการระบาดของโควิด-19 อย่างกว้างขวาง และ (2) ผู้เสียชีวิตเนื่องจากโควิด-19 (deaths by COVID) หากดูเฉพาะผู้เสียชีวิตเนื่องจากโอมิครอนจะพบว่ามีจำนวนลดลงและน้อยกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตเนื่องจากเดลตา 

15. รู้ได้อย่างไรว่าผู้เสียชีวิตคนใด "เสียชีวิต" จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
หน่วยงานสาธารณสุขของเดนมาร์กมีการตรวจสอบว่าผู้ตายได้รับยาต้านไวรัส Remdesivir และ/หรือและ Dexamethasone ซึ่งเป็นการรักษามาตรฐานสำหรับ COVID-19 ในเดนมาร์ก 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมอธีระวัฒน์ เผย โอมิครอน BA.2 แพร่เร็ว-ติดซ้ำได้ พร้อมระบุองค์ประกอบสู่การระบาดจุดสูงสุด
หมอรุ่งเรือง ยันข้อมูล WHO โควิดโอมิครอน BA.2 อาการไม่รุนแรง ใกล้เคียงสายพันธุ์ดั้งเดิมหรือ BA.1
สธ.แจ้งโควิดสายพันธุ์ โอมิครอน ครอบคลุม 80-90% ในประเทศ

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส