เมอร์ค แจกอนุสิทธิบัตรผลิตยา โมลนูพิราเวียร์ กว่า 105 ประเทศ แต่ไม่มีไทย

29 ต.ค. 64

กรณีสิทธิบัตรผลิตยา โมลนูพิราเวียร์ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ เปิดเผยว่า บริษัท เมอร์ค แอนด์ โค. เจ้าของสิทธิบัตรยา โมลนูพิราเวียร์ ยาเม็ดสำหรับรักษาอาการติดเชื้อโควิด-19 ได้ประกาศให้อนุสิทธิบัตรแบบรอยัลฟรี คือต้องได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจากผู้เป็นเจ้าของสิทธิบัตร ให้กับบริษัทผู้ผลิตยาในประเทศกำลังพัฒนา 105 ประเทศ สามารถนำไปผลิตได้ เปิดทางให้ประเทศเหล่านั้นสามารถผลิตยาจำหน่ายได้ในราคาถูก แต่ไม่มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วยใน 105 ประเทศที่ประกาศในครั้งนี้

ทั้งนี้ ความตกลงดังกล่าว ทำขึ้นผ่าน เมดิซีนส์ แพเทนท์ พูล องค์การไม่แสวงกำไรที่ดำเนินการเพื่อให้ยาและเทคโนโลยีการรักษาสามารถเข้าถึงได้ทั่วโลก และได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) โดยประเทศส่วนใหญ่ที่ได้รับอนุสิทธิบัตรในการผลิตโมลนูพิราเวียร์นี้ เป็นประเทศในแอฟริกาและเอเชีย ซึ่งยังคงขาดแคลนวัคซีนเพื่อการป้องกันโควิด-19 อย่างหนักในเวลานี้

อย่างไรก็ตาม โมลนูพิราเวียร์ เป็นยาเม็ดที่สามารถกินเองได้ที่บ้าน ช่วยลดภาระการต้องรับผู้ป่วยของโรงพยาบาลลง ในขณะที่ เมอร์ค แถลงผลการทดลองในคนเมื่อต้นเดือนนี้ว่า หากผู้ติดเชื้อได้รับ โมลนูพิราเวียร์ ตั้งแต่เริ่มแรกที่พบว่าติดเชื้อสามารถลดอัตราการป่วยหนักและการเสียชีวิตลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง จนทำให้หลายประเทศรวมทั้งสหรัฐอเมริกา รีบติดต่อเจรจาเพื่อจัดซื้อยาดังกล่าวแล้ว ก่อนที่จะได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยของยาและเวชภัณฑ์ด้วยซ้ำไป ก่อให้เกิดความกังวลว่า โมลนูพิราเวียร์ อาจถูกจองซื้อจนหมดจากประเทศร่ำรวย และประเทศที่เหลือไม่สามารถเข้าถึงได้ ซ้ำรอยกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผ่านมา

อนึ่ง การอนุญาตให้บริษัทอื่นในประเทศกำลังพัฒนาสามารถนำสูตรของยาไปผลิตได้เป็นการทั่วไป นอกเหนือจากจะทำให้สามารถเข้าถึงยาได้เพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังช่วยให้สามารถวางตลาดยาดังกล่าวได้ในราคาถูกเพียงแค่ 20 ดอลลาร์หรือราว 622 บาทต่อปริมาณยา 1 คอร์ส (สำหรับรับประทานติดต่อกัน 5 วัน) ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับราคาที่ทางการสหรัฐอเมริกาทำความตกลงจัดซื้อจากเมอร์คก่อนหน้านี้ ซึ่งอยู่ที่ 712 ดอลลาร์ต่อ 1 คอร์ส (ราว 22,156 บาท) ในขณะที่บางบริษัทในประเทศแอฟริกาใต้ เชื่อว่าจะสามารถผลิตจำหน่วยได้ในราคาคอร์สละ 8 ดอลลาร์ด้วยซ้ำ

สำหรับ เมอร์ค ได้ทำความตกลงให้สิทธิบัตรในการผลิตยาโมลนูพิราเวียร์ แก่บริษัทผู้ผลิตยาในประเทศอินเดียแล้ว 5 บริษัท แต่ นาง เจเนลล์ กฤษณามูรธี รองประธานฝ่ายนโยบายของเมอร์ค ยอมรับว่า ยังกลัวว่า การผลิตที่จำกัดอยู่แค่เพียงภูมิภาคเดียว อาจไม่เพียงพอต่อการทำให้บรรดาประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงยาอย่างรวดเร็วได้ จึงติดต่อเจรจากับทาง เมดิซีนส์ แพเทนท์ พูล ซึ่งเชี่ยวชาญในเรื่องนี้เป็นพิเศษ รวมทั้งรู้จักเครือข่ายผู้ผลิตยาที่มีมาตรฐานสูงตามข้อบังคับว่าด้วยมาตรฐานการผลิตขององค์การอนามัยโลกดีอีกด้วย จนมีการกระจายอนุสิทธิบัตรออกไปดังกล่าว โดยที่ทางเมอร์ค พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและถ่ายโอนเทคโนโลยีที่จำเป็นให้กับทุกบริษัทในทุกประเทศเหล่านี้อีกด้วย

นายเจมส์ เลิฟ แกนนำองค์กร โนวเลจ อีโคโลยี อินเตอร์เนชันแนล ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการวิจัยไม่แสวงกำไร กล่าวว่า การให้อนุสิทธิบัตรในครั้งถือเป็นการทำดีมากๆ และเป็นการให้การปกป้องผู้คนในประเทศซึ่งมีประชากรรวมกันอยู่ราวครึ่งหนึ่งของโลกที่มีความหมายอย่างยิ่ง แม้การให้อนุสิทธิบัตรครั้งนี้ไม่สมบูรณ์แบบนัก แต่ก็ช่วยได้มากถ้าหากยาดังกล่าวมีประสิทธิภาพจริง และมีความปลอดภัยเพียงพอ

เลิฟ ตั้งข้อสังเกตุว่า ใน 105 ประเทศที่ได้รับอนุสิทธิบัตรครั้งนี้ ไม่มีประเทศที่มีรายได้ปานกลางหลายประเทศอยู่ด้วย รวมถึงประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคละตินอเมริกาก็ไม่มีอยู่ในรายชื่อประเทศที่ได้รับอนุสิทธิบัตร พร้อมตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรกับประเทศอย่าง ชิลี , โคลอมเบีย , ไทย และเม็กซิโก ที่ไม่ได้รับอนุสิทธิบัตรครั้งนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- สธ.เผยผลศึกษา โมลนูพิราเวียร์ ยับยั้งโควิดได้ทุกสายพันธุ์ พร้อมเปิดไทม์ไลน์เข้าไทย
- ผลทดสอบ โมลนูพิราเวียร์ ยาเม็ดต้านโควิด ลดป่วยหนัก-ตายได้ 50%
- รู้ผล ก.ย.นี้! สธ.เตรียมนำเข้า ยาโมลนูพิราเวียร์ ความหวังใหม่รักษาโควิด-19

advertisement

advertisement

คุณอาจสนใจข่าวนี้

ข่าวยอดนิยม

ข่าวทั่วไป เป็นกระแส