งบบัตรทองแบบปลายปิด ทำโรงพยาบาลใหญ่เงินร่อยหรอ เปิด 10 อันดับ โรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงินสูงสุด
นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ อดีตประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาเรื่อง "ทิศทางการดำเนินงานระบบบัตรทองในปัจจุบันและอนาคต" ซึ่งจัดโดยสมาคมคลินิกชุมชนอบอุ่น ร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ ยูฮอสเน็ต (Uhosnet)) ชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป(รพศ.รพท.) และชมรมโรงพยาบาล/สถาบัน กรมการแพทย์ ถึงปัญหาการบริหารงบบัตรทอง
หมออนุกูล ระบุว่าปัจจุบัน โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีทั่วประเทศ ดูแลคนไข้บัตรทองกว่า 40 ล้านคน แต่อยากขอตั้งคำถามว่า การบริหารจัดการงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่ หรืออาจผิดวัตถุประสงค์หลักของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือไม่ เนื่องจากกรรมการต้องกำหนดอัตราค่าใช้จ่าย โดยอาศัยราคากลางที่เป็นจริงของทุกโรค และเป็นไปตามคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐาน ซึ่งที่ผ่านมามีการวิจัยจาก รพ.ทั่วประเทศ พบว่า ต้นทุนของ รพ.สธ. จ้างหมอและพยาบาลถูกที่สุดวันละ 350 บาท โดยผู้ป่วยในของ รพ.สังกัด สธ.อยู่ที่ประมาณ 13,000 บาทต่อ adjRW (Adjusted RW การปรับค่าน้ำหนักสัมพัทธ์กลุ่มวินิจฉัยโรคร่วมด้วยเกณฑ์วันนอน) ถือว่าถูกมาก แต่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ประกาศปี 2568 จะจ่ายให้ใกล้เคียงตัวเลข 8,350 บาท ทั้งที่ต้นทุนเราถูกที่สุดแล้ว และยังมีแนวทางการจ่ายว่า หากเงินไม่พอก็จะจ่ายลดตามส่วน ยกตัวอย่าง สปสช.มีข้อเสนอว่า คำนวณเงินแล้วไม่พอ จึงขอประกาศ 1 เมษายนขอจ่าย 7,100 บาทต่อ adjRW เป็นไปตามมติบอร์ด สปสช.
"ต้นทุนประมาณ 13,000 บาทต่อ adjRW แต่ สปสช.จ่าย 8,350 บาท และหากเงินไม่พอลดลงเหลือ 7,100 บาท อยากให้ สปสช.จัดตั้งโรงพยาบาล และลองไปบริหารเอง" นพ.อนุกูล กล่าว
จากปัญหาดังกล่าว เมื่อกางตัวเลขการเงินไตรมาส 1/2568 พบว่ามีโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องทางการเงินติดลบ 4,219.4 ล้านบาท โดย 10 อันดับ รพ.ติดลบการเงินสูงสุด รวมทั้งสิ้น รวมทั้งสิ้น 1,917,868,000 บาท ได้แก่
นพ.อนุกูล ระบุอีกว่าในเดือนมีนาคม 2568 โรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงหลังหักหนี้ติดลบ 218 แห่ง จาก 902 แห่ง โรงพยาบาลที่มีเงินบำรุงหลังหักหนี้แล้วน้อยกว่า 5 ล้านบาท 91 แห่ง และข้อมูลเดือนเมษายน 2568 มีโรงพยาบาลที่ไม่ได้รับเงินค่ารักษาผู้ป่วยใน 82 แห่ง จากการเรียกเก็บ 119 ล้านบาท สิ่งสำคัญการพิจารณาสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่มองว่าแม้จะส่งผลดีต่อประชาชน แต่ต้องถามว่ามีสิทธิประโยชน์ แต่งบประมาณเพียงพอหรือไม่
นพ.อนุกูล กล่าวอีกว่า งบที่เกี่ยวข้องกับหน่วยบริการนวัตกรรม ทั้งรับยาฟรีที่ร้านยา เจาะเลือดที่บ้าน สิ่งเหล่านี้ดี แต่การบริหารจัดการงบฯ เหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะการจัดสรรแบบงบปลายเปิด ขณะที่งบผู้ป่วยใน (IP) ของโรงพยาบาล ที่ต้องนอนหรือแอดมิท รอในไอซียู กลับให้งบดูแลเป็นงบประมาณปลายปิด
สปสช. จัดกลุ่มผู้ป่วยตามระดับ กลุ่มที่ 1 ยังไม่ป่วย ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ลดโอกาสเกิดโรคในอนาคต เน้นการบริการปฐมภูมิ จัดสรรด้วยงบประมาณปลายปิด กลุ่มที่ 2 ป่วยเล็กน้อย ไปร้านยา คลินิก ไม่จำเป็นต้องไปดรงพยาบาล โดย สปสช. ออกหน่วยบริการนวัตกรรมของภาคเอกชนต่างๆ ร้านยา ตู้ห่วงใย งบประมาณมหาศาล และเป็นงบปลายเปิด
กลุ่มที่ 3 ผู้ป่วยปานกลางถึงรุนแรง จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล อย่างผู้ป่วยใน ไอซียูกรณีอาการหนัก รักษาให้หายหรือควบคุมอาการ กรณีนี้จะเป็นส่วนของโรงพยาบาลรัฐ เอกชน คลินิกชุมชนอบอุ่นให้บริการ แต่เป็นงบประมาณแบบปลายปิด แบบปิดสนิท
กลุ่มที่ 4 โรคซับซ้อน เป็นงบแบบเปิดๆ ปิดๆ ค่ารักษาสูง ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีที่สุด จะเป็นส่วนบริการของโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลศูนย์ เป็นงบปลายปิดไม่สนิท ถ้ามีเงินก็เปิดได้
สำหรับหน่วยบริการนวัตกรรมของ สปสช. เบื้องต้นมี 7 ประเภท คือ 1.คลินิกการพยาบาล 2.ร้านยา 3.คลินิกเทคนิคการแพทย์ 4.คลินิกทันตกรรม ทันตกรรมเคลื่อนที่ 5.คลินิกเวชกรรม 6.คลินิกกายภาพบำบัด 7.คลินิกแพทย์แผนไทย
สำหรับเรื่องนี้ ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช นายกสภาเภสัชกรรม กล่าวตอนหนึ่งในงานเสวนาฯ ถึงประเด็นหน่วยบริการนวัตกรรม ว่างบประมาณค่ารักษาพยาบาลของไทยเพิ่มขึ้นทุกสิทธิ อย่างงบประมาณ สปสช.ได้รับเป็นปลายปิด ได้เท่าไหร่ก็ตามนั้น ซึ่งตนไม่เห็นด้วยกับการตั้งงบประมาณของ สปสช. แต่ต้องดูจากความเป็นจริงว่า โรคนี้เพิ่มขึ้นเท่าไหร่ ผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ การบริการที่เกิดขึ้นเราต้องการลดงานในโรงพยาบาล จึงเกิดนวัตกรรมต่างๆ ขึ้น อย่างร้านยาดูแลประชากรไปแล้ว 8.7 ล้านครั้ง ซึ่งลดงานโรงพยาบาล เพราะมาช่วยดูแลผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ทั้งนี้ ส่วนตนค้านนวัตกรรมที่เรียกว่า ตู้ห่วงใย แต่ตนเรียกว่า หมอไม่มีหู ซึ่งไปพบหมอตามคลินิกยังดีกว่า เพราะยังได้พบแพทย์จริงๆ แต่ตู้จะเป็นแบบพูดคุย ไม่มีการตรวจหรือฟังเสียงหัวใจ ฯลฯ ที่สำคัญค่าบริการแพง 525 บาทต่อบริการต่อครั้ง ขณะนี้เรายื่นขอให้ระงับเรื่องนี้ เพื่อขอให้ศึกษาเพิ่มเติม
“การตั้งงบประมาณของ สปสช. ตั้งผิด มีการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แต่งบไม่ได้เพิ่มขึ้น จึงต้องมาทำทั้งกระบวนการว่าจะตั้งงบใหม่อย่างไร ให้ครบคลุมทุกหน่วย” นายกสภาเภสัชกรรมกล่าว
Advertisement