Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
เมลิออยด์ โรคหน้าฝนควรระวัง ป่วยบางรายไม่มีอาการ กระทั่งติดเชื้อรุนแรง

เมลิออยด์ โรคหน้าฝนควรระวัง ป่วยบางรายไม่มีอาการ กระทั่งติดเชื้อรุนแรง

7 พ.ค. 68
11:05 น.
แชร์

โรคเมลิออยด์ หรือ โรคไข้ดิน แนวโน้มสูงช่วงฤดูฝน เตือนผู้ป่วยเบาหวาน เสี่ยงติดเชื้อมากกว่าคนทั่วไปหลายเท่า พื้นที่ต้องใช้ความระวังเป็นพิเศษ วิธีป้องกัน

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์ โรคเมลิออยด์ (Melioidosis) ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรมเป็นหลัก

จากข้อมูลระบบเฝ้าระวังโรค (DDS) ของกองระบาดวิทยา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม – 14 สิงหาคม 2567 พบผู้ป่วยโรคเมลิออยด์จำนวน 2,117 ราย และมีผู้เสียชีวิต 64 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด ได้แก่ อายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม และอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดย 5 จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุด ได้แก่ มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด และนครพนม

โรคเมลิออยด์ หรือ โรคไข้ดิน

ดร.นายแพทย์หิรัญวุฒิ แพร่คุณธรรม รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 ขอนแก่น กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า

ในช่วงฤดูฝนที่มีความชื้นสูงและมีน้ำขัง อาจพบอุบัติการณ์ของ โรคเมลิออยด์ (Melioidosis) เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรมเป็นหลัก และประชาชนมีโอกาสสัมผัสกับดินและน้ำจากการทำเกษตร

โรคเมลิออยด์เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งพบได้ในดินและน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อนี้สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผล การหายใจเอาฝุ่นดินเข้าไปหรือการดื่มน้ำที่มีเชื้อ เมื่อได้รับเชื้อจะเริ่มมีอาการ ประมาณ 10–21 วัน โดยเฉลี่ยอยู่ที่ ประมาณ 9 วัน

ผู้ป่วยบางคนไม่มีอาการกระทั่งมีอาการรุนแรง

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าเชื้ออาจแฝงตัวอยู่ในร่างกายได้นานหลายเดือนหรือแม้กระทั่งหลายปี โดยผู้ติดเชื้ออาจไม่แสดงอาการทันที และเมื่อภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง จึงเริ่มมีอาการของโรค

โดยทั่วไปแล้วผู้ป่วยจะมีอาการได้ตั้งแต่ไข้เฉียบพลัน ปอดอักเสบ ฝีในอวัยวะต่างๆ หรืออาการรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

พื้นที่เสี่ยงโรคเมลิออยด์ หรือ โรคไข้ดิน

สำหรับพื้นที่เสี่ยงต่อโรคเมลิออยด์ จะพบมากใน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณที่มีการทำเกษตรกรรม ดินชื้น น้ำขัง หรือแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น นาข้าว สวนผัก และไร่อ้อย ซึ่งมักมีเชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei ปะปนอยู่

จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบว่าจังหวัดที่มีรายงานผู้ป่วยเมลิออยด์ในระดับสูง ได้แก่ ขอนแก่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ นครราชสีมา เชียงใหม่ และสงขลา

ทั้งนี้ กลุ่มประชากรที่อาศัยหรือทำงานในพื้นที่เหล่านี้ ควรระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มีความชื้นสูงและน้ำท่วมขังซึ่งเอื้อต่อการแพร่กระจายของเชื้อ

กลุ่มเสี่ยงที่อาจมีอาการรุนแรงหากติดเชื้อโรคเมลิออยด์ มีดังนี้

1. ผู้ป่วยเบาหวาน เป็นกลุ่มเสี่ยงอันดับหนึ่งที่พบว่ามีอัตราการติดเชื้อเมลิออยด์สูงกว่าคนทั่วไปหลายเท่า เนื่องจากภูมิคุ้มกันมักต่ำลง ทำให้เชื้อแพร่กระจายได้รวดเร็ว

2. ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องฟอกไตเป็นประจำ ระบบภูมิคุ้มกันจะอ่อนแอ อาจเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ง่าย

3. ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง เช่น โรคตับแข็ง ตับเป็นอวัยวะสำคัญในการกรองเชื้อโรค เมื่อทำงานผิดปกติจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

4. ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS, ผู้รับการรักษาด้วยยากดภูมิคุ้มกัน (หลังปลูกถ่ายอวัยวะ, เคมีบำบัด ฯลฯ)

5. ผู้สูงอายุ โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวร่วม เช่น ความดันโลหิตสูง, หัวใจ, เบาหวาน

6. ผู้ที่มีแผลเปิดที่ผิวหนัง เป็นช่องทางให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อลงแช่น้ำหรือลุยโคลนที่มีเชื้อปนเปื้อน

วิธีป้องกัน

กลุ่มเสี่ยง หรือผู้ที่ต้องทำงานในพื้นที่น้ำขัง ควรป้องกันตนเองโดยสวมรองเท้าบูทและถุงมือเมื่อต้องสัมผัสดินหรือแหล่งน้ำ หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่สะอาด หากมีบาดแผลควรทำแผลให้สะอาดและปิดให้มิดชิด ไม่ควรสัมผัสดินและน้ำจนกว่าแผลจะหายดี หากมีอาการไข้สูง หอบเหนื่อย ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการสัมผัสดินหรือน้ำทันที

โรคเมลิออยด์สามารถป้องกันได้ หากประชาชนตระหนักและปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

Advertisement

แชร์
เมลิออยด์ โรคหน้าฝนควรระวัง ป่วยบางรายไม่มีอาการ กระทั่งติดเชื้อรุนแรง