Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
รู้จัก "บนซอง" ระบบแบ่งแยกชนชั้นของเกาหลีเหนือ วัดกันที่ความภักดี
โดย : กองบรรณาธิการ SPOTLIGHT

รู้จัก "บนซอง" ระบบแบ่งแยกชนชั้นของเกาหลีเหนือ วัดกันที่ความภักดี

1 ธ.ค. 67
11:48 น.
|
388
แชร์

ชีวิตของชาวเกาหลีเหนือถูกกำหนดด้วยระบบที่เรียกว่า "บนซอง" ซึ่งเป็นการแบ่งชนชั้นในสังคมตามความจงรักภักดีและการอุทิศตนต่อชาติ ระบบนี้ส่งผลต่อทุกแง่มุมในชีวิต ตั้งแต่ที่อยู่อาศัย หน้าที่การงาน ไปจนถึงรายละเอียดเล็กน้อย เช่น สีของผ้าม่านในบ้าน

ตามคำกล่าวของผู้แปรพักตร์ เกาหลีเหนือมีการแบ่งชนชั้นย่อยมากถึง 51 ระดับ โดยชนชั้นสูงสุดมักสงวนไว้สำหรับผู้ที่ครอบครัวมีประวัติการทำงานหรือเสียสละเพื่อประเทศ เช่น ทหารผ่านศึกในสงคราม หรือบุคคลที่ทำคุณประโยชน์สำคัญให้กับรัฐบาล

ภักดีมาก ทำเพื่อประเทศชาติมาก จะได้เป็นชนชั้นสูง

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนของการให้รางวัลแก่ผู้จงรักภักดี คือ รี ชุนฮี ผู้ประกาศข่าวชื่อดังวัย 81 ปี ผู้มีชื่อเสียงจากการประกาศข่าวการถึงแก่อสัญกรรมของผู้นำสูงสุดทั้งสองคน คือ คิม อิลซุง และ คิม จองอิล ในเดือนเมษายน ปี 2022 รี ชุนฮี ได้รับรางวัลเป็นบ้านหรูหลังใหม่ในเขตพักอาศัย โพทงริเวอร์เทอร์เรซเรสซิเด้นซ์ ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำโพทงในกรุงเปียงยาง โดยผู้นำสูงสุด คิม จองอึน เป็นผู้พาเธอไปเยี่ยมชมด้วยตัวเอง

บ้านหลังนี้หรูหรา สวยงาม และสงวนไว้สำหรับชนชั้นอภิสิทธิ์เท่านั้น ที่หน้าห้องมีชื่อของรี ชุนฮี แสดงถึงความเป็นเจ้าของที่เด่นชัด นี่เป็นการยืนยันอีกครั้งถึงความสำคัญของความภักดีต่อพรรคแรงงานและผู้นำสูงสุดในสังคมเกาหลีเหนือ

รี ชุนฮี ซึ่งเกิดในครอบครัวยากจน กล่าวขอบคุณพรรคแรงงานและผู้นำสูงสุดที่ช่วยยกระดับชีวิตของเธอ พร้อมให้คำมั่นว่า

"ดิฉันและครอบครัวของดิฉันทั้งหมดจะสนับสนุนท่านเสมอ และติดตามท่านไปจนถึงวันสิ้นสุดโลกจนกระทั่งถึงลมหายใจสุดท้ายของดิฉัน"

ชีวิตที่หรูหราในกรุงเปียงยาง ไม่ใช่สิ่งที่ประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงได้ แต่เป็นรางวัลสำหรับผู้ที่แสดงความจงรักภักดีและทำประโยชน์ให้กับประเทศชาติเท่านั้น.

ระบบบูชาผู้นำดุจเทพเจ้าเกิดขึ้นตั้งแต่ยุคก่อตั้งประเทศ

เกาหลีเหนือพยายามฉายภาพความจงรักภักดีของประชาชนต่อ ตระกูลคิม ให้โลกภายนอกได้เห็นมาโดยตลอด ตั้งแต่การขึ้นครองอำนาจของ คิม อิลซอง ผู้นำสูงสุดคนแรก อำนาจถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ทั้ง คิม จองอิล ลูกชาย และ คิม จองอึน หลานชาย สะท้อนถึงการปกครองที่ตระกูลคิมยึดกุมอำนาจไว้เหนียวแน่นตั้งแต่การสถาปนาเกาหลีเหนือ

หลังสงครามเกาหลีสิ้นสุดในปี 1953 คาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งแยกที่เส้นขนานที่ 38 เกาหลีเหนืออยู่ภายใต้การปกครองของตระกูลคิม ส่วนเกาหลีใต้ปกครองในระบอบประชาธิปไตยโดยได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ

คิม อิลซอง ผู้นำคนแรกของเกาหลีเหนือ มีพื้นเพมาจากครอบครัวยากจนในหมู่บ้านเล็กๆ ของเมืองเปียงยาง ในช่วงที่คาบสมุทรเกาหลีตกอยู่ภายใต้การปกครองของญี่ปุ่น ครอบครัวของเขาอพยพไปยังแมนจูเรีย เพื่อหนีการกดขี่จากญี่ปุ่น ที่นั่น คิม อิลซอง ได้เรียนรู้แนวคิดคอมมิวนิสต์และเริ่มมีบทบาทสำคัญในขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น

หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดในปี 1945 ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ แต่คาบสมุทรเกาหลียังคงตกอยู่ในความขัดแย้ง โซเวียตสนับสนุนคิม อิลซองให้ขึ้นเป็นผู้นำในเกาหลีเหนือ ขณะที่สหรัฐฯ สนับสนุนรัฐบาลเกาหลีใต้ที่กรุงโซล สงครามเกาหลีปะทุขึ้นในปี 1950 และสิ้นสุดในปี 1953 ด้วยความสูญเสียอย่างหนักทั้งสองฝ่าย

หลังสงคราม คิม อิลซอง เริ่มรวบอำนาจทางการเมือง สร้างแนวคิด "จูเช" ซึ่งเป็นแนวคิดคอมมิวนิสต์แบบสตาลินที่ปรับให้เข้ากับเกาหลีเหนือ มุ่งเน้นการพึ่งพาตนเอง และการบูชาตัวบุคคล ผู้นำถูกยกย่องดุจเทพเจ้า แนวคิดนี้ยังคงสืบทอดมาจนถึงยุคของ คิม จองอิลและคิม จองอึน

เมื่อ คิม จองอิล ถึงแก่อสัญกรรมในปี 2011 เกาหลีเหนือเต็มไปด้วยภาพประชาชนร่ำไห้ด้วยความเศร้าโศก หลายคนร้องไห้จนเป็นลม ภาพเหล่านี้สร้างความประทับใจและความสงสัยแก่ผู้คนทั่วโลก ว่าพวกเขาแสดงออกจากความรักแท้จริงหรือเพราะแรงกดดันจากระบบ

ในยุคของ คิม จองอึน ผู้นำรุ่นที่สาม ตระกูลคิมยังคงครองอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมฉายภาพของความจงรักภักดีอันยิ่งใหญ่จากประชาชน ทั้งนี้ยังคงเป็นคำถามว่า ความจงรักภักดีที่ถูกเผยแพร่ออกมานั้นเป็นภาพสะท้อนของความจริง หรือเป็นเพียงการสร้างภาพของระบอบที่ปกครองด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จ.

จากปากผู้แปรพักตร์ เกาหลีเหนือสร้างเครื่องมือเพื่อควบคุมประชากร

พัค ชุงควอน อดีตชนชั้นนำของเกาหลีเหนือ ผู้เคยเป็นสมาชิกหน่วยงานระดับสูงของพรรคแรงงานเกาหลีและจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยกลาโหม เปิดเผยมุมมองที่เขาได้พบเจอในระบบที่เขาเคยศรัทธา แต่ภายหลังกลับตั้งคำถามถึงความยุติธรรมและความสมเหตุสมผลของระบอบดังกล่าว

พัค ชุงควอน เคยทำงานเป็นนักวิจัยขีปนาวุธในฐานะหนึ่งในชนชั้นนำ แต่สิ่งที่เขาเห็นในระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนกลางของเกาหลีเหนือ ไม่ได้สะท้อนถึงความเท่าเทียมตามอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ เขาเล่าว่า

“รัฐพยายามควบคุมทุกอย่าง แม้กระทั่งเรื่องเล็กน้อย เช่น อาหารเช้าของประชาชน ทั้งที่ความจริงควรปล่อยให้แต่ละคนตัดสินใจเอง ระบบพรรคเดียวไม่เปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบความผิดพลาด นี่คือเหตุผลที่ผมเชื่อว่าระบบหลายพรรคจะเหมาะสมกว่า”

พัค เปิดเผยว่า ความไม่สมเหตุสมผลส่วนใหญ่เกิดจากการคอร์รัปชันในระดับล่าง เจ้าหน้าที่พรรคแรงงานซึ่งมีอำนาจจัดสรรทรัพยากรและงานให้ประชาชน ใช้ตำแหน่งหน้าที่เพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

“ในเกาหลีเหนือ ถ้าคุณอยากได้งานหรืออยากอาศัยในกรุงเปียงยาง คุณต้องจ่ายสินบนหลายพันดอลลาร์” เขากล่าว

แม้ในระบบที่แบ่งชนชั้นอย่างเข้มงวด เช่น บนซอง ซึ่งจัดลำดับประชาชนตามความจงรักภักดีและบทบาทต่อประเทศ แต่ดูเหมือนว่า ระบบนี้ไม่ได้ช่วยให้คนขยันสามารถไต่เต้าขึ้นไปได้ กลับเป็นเครื่องมือกดทับผู้ที่อยู่ในระดับล่าง

พัค ยังเปิดเผยกลยุทธ์ที่เกาหลีเหนือใช้เพื่อรักษาอำนาจการปกครอง นั่นคือการสร้างศัตรูภายนอก เช่น สหรัฐฯ และเกาหลีใต้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อว่าประเทศกำลังเผชิญภัยคุกคาม

“รัฐบาลออกแบบศัตรูภายนอกและจัดแสดงอาวุธใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นความภาคภูมิใจในประเทศ สิ่งนี้ทำให้ระบอบยังคงอยู่ต่อไป”

สิ่งที่เกาหลีเหนือเผยแพร่ต่อโลกภายนอก อาจเป็นเพียงภาพลวงตา ในขณะที่ความจริงในประเทศเต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียม การทุจริต และการกดขี่ แม้ประชาชนจะถูกปลูกฝังให้จงรักภักดี แต่คำถามถึงความยุติธรรมของระบอบนี้ก็เริ่มเกิดขึ้นในใจผู้คน เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับพัค ชุงควอน อดีตชนชั้นนำที่ตัดสินใจเดินออกมาจากระบบที่เขาเคยเชื่อมั่น.

AFP

แชร์
รู้จัก "บนซอง" ระบบแบ่งแยกชนชั้นของเกาหลีเหนือ วัดกันที่ความภักดี