ความยั่งยืน

TMA ชวนองค์กรไทยศึกษาแนวทาง ESG ลดความเสี่ยง สร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน

22 ต.ค. 66
TMA ชวนองค์กรไทยศึกษาแนวทาง ESG ลดความเสี่ยง สร้างโอกาสเติบโตอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า การดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG ที่ดีเยี่ยมทั้งในด้าน สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และ ธรรมาภิบาล (Governance) ปัจจุบันไม่ได้เป็นสิ่งที่ ‘ควร’ กระทำ แต่เป็นสิ่งที่ ‘ต้อง’ กระทำเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันไว้ เพราะในปัจจุบันทั้งองค์กรระดับโลกและผู้บริโภคหันมาใส่ใจผลกระทบของธุรกิจต่างๆ ที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมมากขึ้น ทำให้หากยังไม่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำธุรกิจ องค์กรนั้นก็เสี่ยงเสียศักยภาพในการแข่งขันไป 

ในฐานะหนึ่งในองค์กรที่มุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพของผู้นำไทยมาเป็นเวลาเกือบ 60 ปี สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทยหรือ TMA จึงได้เตรียมจัดงาน Sustainability Forum 2023 ขึ้นในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ ณ โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย ภายใต้หัวข้อ “Mitigating Risks, Finding Opportunities - ลดความเสี่ยง สร้างโอกาสธุรกิจ” เพื่อให้องค์กรต่างๆ ได้รับความรู้ แนวคิด และแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG และนำประโยชน์จาก ESG มาสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและก้าวกระโดด ด้วยการนำแนวทางเหล่านี้ไปปรับใช้ตั้งแต่การวางยุทธศาสตร์และลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังและเหมาะสม

นางสาว วรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหารของ TMA กล่าวว่า งาน Sustainability Forum 2023 ที่จะจัดขึ้นในปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่การสร้างความตระหนัก (awareness) และเผยแพร่องค์ความรู้ แนวคิด และแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้าน ESG ให้แก่องค์กรต่างๆ ในประเทศไทยก่อน โดยได้เกียรติจากผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ด้าน ESG มากมายจากองค์กรชั้นนำของโลกและของไทยที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการนำแนวคิด ESG มาใช้การในการบริหารจัดงานองค์กรกันอย่างคับคั่ง

โดยเนื้อหาในการบรรยายและพูดคุยต่างๆ ภายในงานจะช่วยให้องค์กรที่สนใจได้ความรู้ที่พร้อมนำไปใช้งานได้จริง เริ่มตั้งแต่วิธีเริ่มต้นทำ ESG ในองค์กร การมองภาพกว้างและเจาะลึกความเสี่ยงพร้อมผลกระทบ การวางกลยุทธ์ด้าน ESG ที่ดี รวมไปถึงบทบาทของผู้นำในการบริหารและขับเคลื่อนองค์กรเพื่อเปลี่ยนความเสี่ยงให้เป็นการเติบโตตามหลัก ESG 

 

ทำไมผู้บริหารยุคใหม่ต้องใส่ใจ ESG?

ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีบีเอกซ์ จํากัด (มหาชน) และรองประธาน สมาคมการจัดการธุรกิจแหงประเทศไทย (TMA) กล่าวว่า ปัจจุบันแนวทางในการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG นั้นไม่ใช่สิ่งที่ ‘nice to do’ หรือสิ่งที่ ‘ทำก็ดี’ เพื่อพัฒนาภาพลักษณ์ขององค์กรเหมือนในอดีตแล้ว แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำ (obligation) เพราะในปัจจุบันทั้งองค์กรระดับโลก พาร์ทเนอร์ในการทำธุรกิจ และผู้บริโภคต่างให้ความสนใจในเรื่องนี้ และคิดเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาลงทุนทำธุรกิจด้วย

ดังนั้น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันขององค์กรไว้ ผู้บริหารยุคใหม่จึงต้องหันมาสนใจและปรับเปลี่ยนวิธีทำธุรกิจและวิธีบริหารจัดการองค์กรตามหลัก ESG กันมากขึ้น โดยดร. อารักษ์แนะว่าให้เริ่มจาก ‘บนลงล่าง’ (tone from the top) ด้วยการกำหนดแนวปฏิบัติและเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับคนทั้งองค์กร เพราะการทำเช่นนี้จะช่วย streamline ให้การทำ ESG ในองค์กรมีแนวทางชัดเจน ไม่สะเปะสะปะ และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่กลายเป็นเพียงการทำ CSR เพื่อภาพลักษณ์ขององค์กร แต่เป็นการทำให้ความยั่งยืนกลายเป็นวัฒนธรรม หรือ ‘DNA’ ของบริษัทซึ่งจะส่งผลดีต่อการดำเนินงานของบริษัทในระยะยาว

โดยองค์กรต่างๆ ที่ได้นำแนวคิด ESG มาใช้เป็นปัจจัยในการพัฒนาศักยภาพและประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจนั้นจะมีกลไกในการกำกับดูแลกระบวนการบริหารจัดการ รวมไปถึงการจัดการกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ได้มุ่งเน้นแค่หาผลกำไรที่เป็นตัวเงินเพียงอย่างเดียว แต่ยังคิดถึงผลกระทบที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจ 

อย่างไรก็ตาม ESG นั้นไม่ได้ครอบคลุมถึงการดำเนินงานด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับมิติด้านสังคม และธรรมาภิบาลด้วย ซึ่งรวมไปถึงการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลอย่างเท่าเทียม มีค่าตอบแทนที่เป็นธรรม มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสังคมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีการบริหารที่มีประสิทธิภาพโปร่งใส และมีนโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชั่น

 

SCB ตั้งวงเงิน 200,000 ล้านบาท สนับสนุนธุรกิจสีเขียว

ดร. อารักษ์ กล่าวว่า หน้าที่หลักของธุรกิจทางการเงินในการสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นภายในประเทศ คือการทำหน้าที่เป็น ‘enabler’ สนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ใน ecosystem หรือภาคเอกชนของไทยสามารถบรรลุเป้าหมาย Net-Zero ของประเทศได้ 

ดังนั้น นอกจากการปรับกระบวนการทำธุรกิจภายในองค์กรเองให้เป็นไปตาม ESG แล้ว ธุรกิจการเงินยังสามารถสนับสนุนให้บริษัทอื่นๆ ที่เป็นลูกค้า หรือคู่ค้ามีแนวปฏิบัติ ESG ที่ดีขึ้นในหลายทางด้วยกัน ทั้งด้วยการลงทุนในเทคโนโลยีที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม หรือ Climate Technology เช่น เทคโนโลยีที่จะมาช่วยให้บริษัทต่างๆ ทำ reporting หรือการทำรายงานด้านความยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้ธุรกิจทั้งภายในและภายนอกใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือการทำ green financing โดยการให้สินเชื่อหรือเงินสนับสนุนสำหรับธุรกิจที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม

โดยในเบื้องต้น ทาง SCB ตั้งเป้าให้องค์กรบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมภายในปี 2050 และตั้งวงเงินไว้ประมาณ 2 แสนล้านบาท ทั้งสำหรับเป็นสินเชื่อ และเป็นเงินลงทุนในการส่งเสริมธุรกิจสีเขียวในภาคเอกชนไทย 

นอกจากนี้ ในช่วงต่อไป SCB ยังกำลังศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้าง ecosystem ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะมองว่าการนำกลไกตลาดเข้ามาช่วยจูงใจและทำให้ธุรกิจต่างๆ ในไทยปรับเปลี่ยนเป็นธุรกิจที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมได้นั้นเป็นเรื่องที่น่าทำ โดยปัจจุบันยังอยู่ในช่วงศึกษาและทดลองเพราะยังติดข้อจำกัดด้านกฎระเบียบอยู่




 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT