ความยั่งยืน

ไทยครองที่ 1 อาเซียนด้านความยั่งยืน พบพัฒนาด้านการลดความยากจนมากที่สุด

26 มิ.ย. 66
ไทยครองที่ 1 อาเซียนด้านความยั่งยืน พบพัฒนาด้านการลดความยากจนมากที่สุด

ประเทศไทยครองแชมป์อาเซียน ด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน ด้านอันดับความยั่งยืนระดับโลกดีขึ้นจากอันดับที่ 44 เป็น 43 พบผลงานดีที่สุดในการลดความยากจน แย่ที่สุดในการปกป้อง ฟื้นฟู และสนับสนุนการใช้ระบบนิเวศบนบกอย่างยั่งยืน

ผลการประเมินดังกล่าวมาจากรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน ประจำปี 2566 หรือ Sustainable Development Report 2023 ขององค์การสหประชาชาติ (UN) รายงานประเมินความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศสมาชิกยูเอ็นทั้ง 193 ประเทศ ซึ่งในแต่ละปีจะมีการประเมินการพัฒนาตาม SDGs ทั้งหมด 17 ด้าน คือ

1.การขจัดความยากจน 

2.การขจัดความหิวโหย 

3.การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี 

4.การศึกษาที่มีคุณภาพ 

5.ความเท่าเทียมทางเพศ 

6.การเข้าถึงน้ำสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี 

7.การมีพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ 

8.การมีงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

9.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมและอุตสาหกรรม 

10.การลดความเหลื่อมล้ำ 

11.การพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน 

12.การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน 

13.การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ 

14.การอนุรักษ์ทรัพยากรทะเล 

15.การรักษาระบบนิเวศบนบก 

16.การมีสังคมสงบสุข ยุติธรรมและมีสถาบันที่เข้มแข็ง

17.ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

จากรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนของปี 2566 พบว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประเทศไทยมีแนวโน้มดีขึ้น โดย SDG Index ของไทยขึ้นมาอยู่ที่ 74.7 คะแนน ขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 43 จากประเทศที่ได้รับการจัดอันดับทั้งหมด 166 ประเทศ ซึ่งปรับตัวดีขึ้นจากอันดับที่ 44 ในปีที่ผ่านมา

ประเทศไทยทำผลงานได้ดีในบรรลุเป้าหมายการพัฒนาข้อที่ 1 คือ การลดความยากจน และ 4 คือ การให้การศึกษาที่มีคุณภาพแก่ประชาชน และมีพัฒนาการที่ดีในด้านการให้ ‘การเข้าถึงแหล่งน้ำสะอาดและสุขาภิบาลที่ดี’ และ ‘การเข้าถึงพลังงานสะอาด’ ในแง่ที่สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนส่วนมากเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้ แต่ยังมีปัญหาในการลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดอื่นๆ ในโครงสร้างพลังงานของประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีผลงานแย่ที่สุดในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาข้อที่ 15 คือการรักษาระบบนิเวศบนบก เพราะพบว่า ประเทศไทยไม่ประสบความสำเร็จในการรักษาความหลากหลายทางระบบนิเทศทั้งในผืนดินและผืนน้ำจืดบนบก นอกจากนี้ยังพบว่ามีการตัดไม้ทำลายมากยิ่งขึ้น และมีจำนวนประชากรสัตว์สงวนลดลง

 

อ้างอิง: UN

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT