ความยั่งยืน

AWC จับมือททท. ทำธุรกิจท่องเที่ยวยั่งยืน ตั้งเป้าไร้ขยะฝังกลบในปี 2573

29 ต.ค. 65
AWC จับมือททท. ทำธุรกิจท่องเที่ยวยั่งยืน ตั้งเป้าไร้ขยะฝังกลบในปี 2573

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ประกาศความร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และพันธมิตร เพื่อเดินหน้าขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวยั่งยืน (Sustainable Tourism) เตรียมยกระดับมาตรฐาน “SHA” เพื่อผักดันประเทศไทยก้าวสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก (Sustainable Destination) โดย AWC ได้ประกาศแผนการดำเนินงานและเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กร

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AWC เปิดเผยว่า AWC เชื่อมั่นว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะสามารถร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก โดย AWC ได้ร่วมมือตอบรับนโยบายกับทาง ททท. พันธมิตรทางภาครัฐ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันและเป็นศูนย์กลางรวบรวมผู้ประกอบการทั้งหมดมาร่วมสร้างคุณค่าให้กับการท่องเที่ยวยั่งยืนของไทยไปด้วยกัน

รวมทั้ง AWC ได้ร่วมวิสัยทัศน์ความยั่งยืนกับพันธมิตรภาคเอกชน สถาบันการเงินชั้นนำ และเครือโรงแรมระดับโลก อาทิ เครือแมริออท บันยันทรี โอกุระ ฮิลตัน IHG และมีเลีย ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวยั่งยืนและร่วมผลักดันเพื่อสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง รวมถึงภาคประชาสังคมและชุมชน เพื่อโครงการต่างๆ ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อเนื่อง เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา AWC มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ความอย่างยั่งยืนตลอดการะบวนการดำเนินงาน และโครงการต่างๆ ของ AWC อาทิ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก, อะ ลักซ์ชูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล ได้เป็นโรงแรมแห่งแรกของโลกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 20121 ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านการจัดงานอย่างยั่งยืน ซึ่ง AWC และพันธมิตรจากภาคส่วนต่างๆ ที่จะร่วมผนึกกำลังสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนร่วมกันในกรอบการดำเนินงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3 เสาหลัก 6 มิติ หรือ 3BETTERs ได้แก่

  1. สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น (BETTER PLANET) การผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการดำเนินธุรกิจตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตั้งแต่กระบวนการวางแผนและก่อสร้าง การจัดการ และการบริหารงาน ด้วยการร่วมมือกับพันธมิตรในการบูรณาการกรอบแนวคิดในระดับสากลเข้ามาใช้ในการพัฒนาโครงการตามมาตรฐานอาคารสีเขียว ทั้งผู้ผลิตวัสดุอุปกรณ์ ผู้รับเหมา ที่ปรึกษาโครงการ และอื่นๆ ต่อเนื่องถึงพันธมิตรในด้านการจัดการและบริหารการดำเนินงานที่จะร่วมรวมพลัง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
  2. คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น (BETTER PEOPLE) การพัฒนาบุคคลากรทั้งภายในและภายนอกองค์กร การยกระดับการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของสังคมและชุมชน ผ่านความร่วมมือกับชุมชนท้องถิ่นในการเสริมสร้างความรู้และพัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืนผ่านโครงการ “เดอะ GALLERY” ที่มุ่งจัดจำหน่ายสินค้าฝีมือคนในชุมชน อีกทั้งยังเป็นอีกช่องทางที่ช่วยชุมชนเพิ่มมูลค่างานศิลปะ ซึ่ง AWC ตั้งใจขอชวนพันธมิตรและชุมชนติดต่อ เดอะ GALLERY เพื่อเพิ่มสินค้าและผลงานศิลปะเพื่อเป็นช่องทางการขาย ผ่านโครงการต่างๆ ของ AWC ทำการตลาดถึงลูกค้าจากทั่วโลก
  3. เศรษฐกิจที่ดีขึ้น (BETTER PROSPERITY) การผลักดันให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและกระตุ้นความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจในวงกว้าง โดยวางแผนกลยุทธ์องค์กรให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผ่านการลงทุนพัฒนาบริหารโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่หลากหลายของบริษัทฯ สร้างงาน สร้างรายได้สู่ชุมชนและธุรกิจท้องถิ่น สร้างคุณค่าทวีคูณและธุรกิจองค์รวม (Ecosystem) ที่แข็งแกร่ง เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก อีกทั้งส่งเสริมให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตอย่างก้าวกระโดด

“AWC ตระหนักถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวยั่งยืน และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมผนึกกำลังกับ ททท. และพันธมิตรตลอดห่วงโซ่คุณค่าเพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวยั่งยืน ยกระดับประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก และ "สร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่า" ให้กับประเทศไทย

ซึ่งทาง AWC ร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วนและเครือโรงแรมระดับโลกพร้อมตั้งเป้านำกลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการในเครือทั้งหมดผ่านการรับรองมาตรฐาน “SHA” ด้านส่งเสริมท่องเที่ยวยั่งยืนของ ททท. รวมไปถึงเป้าหมายผลักดันความเป็นกลางทางคาร์บอน และไม่มีขยะฝังกลบจากการดำเนินงาน ภายในปี 2573” นางวัลลภา กล่าวสรุป

ปัจจุบัน พอร์ตโฟลิโอของ AWC ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจโรงแรมและการบริการ 19 แห่ง กลุ่มศูนย์การค้า 9 แห่ง กลุ่มอาคารสำนักงาน 4 แห่ง และกลุ่มธุรกิจค้าส่ง 2 แห่ง รวม 34 แห่ง และอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการใหม่อีก 15 โครงการ รวมถึงโครงการอินเตอร์คอนติเนนตัล เชียงใหม่ แม่ปิง โฮเทล โรงแรม อินน์ไซด์ กรุงเทพ สุขุมวิท ซึ่งถือเป็นโครงการที่ก่อสร้างโดยคำนึงถึงมาตรฐานอาคารสีเขียว และได้รับการรับรองมาตรฐาน EDGE

โดยเตรียมเปิดให้บริการภายในต้นปี 2566 AWC ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงการภายใต้แผนกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการรับรองอาคารสีเขียวที่ให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรจากพื้นฐาน อาทิ โครงการอควาทีค เดอะบีชฟรอนท์ พัทยา ซึ่งตั้งเป้าให้ได้รับการรับรอง LEED ภายในปี 2569 และโครงการเอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ส่วนต่อขยายที่ตั้งเป้าให้ได้รับการรับรอง LEED & WELL ภายในปี 2572

AWC ดำเนินงานภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง และ AWC ได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานยั่งยืน (Sustainability Index) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ การได้รับการคัดเลือกเข้าสู่รายชื่อหุ้นยั่งยืน Thailand Sustainability Investment (THSI) ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

รวมทั้งได้รับการประเมินจาก MSCI ESG Rating ในระดับ "AA" และได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในดัชนีความยั่งยืนของ S&P (จากรายงาน The Sustainability Yearbook 2022) ของกลุ่มอุตสาหกรรมโรงแรม รีสอร์ท และเรือสำราญ รวมถึงการได้รับการจัดอันดับรายงานการกำกับดูแลกิจการ ในระดับ “ดีเลิศ” (Excellence CG Scoring) และได้รับการรับรองให้เป็นแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC)

 

ททท. เล็งวางกรอบยกมาตรฐานส่งเสริมท่องเที่ยวยั่งยืน

 

731286

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า ททท. เห็นถึงความสำคัญในการยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว สอดคล้องกับการท่องเที่ยวยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวยั่งยืน หรือ Sustainable Tourism โดย ททท. มุ่งพัฒนาต่อยอดแนวคิดจากฐานความเข้มแข็งเดิมที่มีอยู่ ด้วยการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย Amazing Thailand Safety & Health Administration หรือ SHA ให้สามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืนมากยิ่งขึ้นพร้อมตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางในการรวมพลังและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีการดำเนินงานอย่างยั่งยืน รวมถึงกำหนดแนวทางมาตรฐานใหม่ให้แก่สถานประกอบการได้นำไปปฎิบัติใช้ตามกรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนระดับสากลที่ให้ความสำคัญกับการเติบโตในมิติด้านสิ่งแวดล้อม (การลดปริมาณการปล่อยคาร์บอน การจัดการน้ำ และการจัดการของเสีย) ด้านเศรษฐกิจชุมชน รวมถึงด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น ภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก”

ทั้งนี้ ททท. อยู่ระหว่างการวางกรอบการดำเนินงานยกระดับมาตรฐาน “SHA” เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยตั้งเป้าที่จะเชิญชวนและสนับสนุนผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยมาร่วมรวมพลังดำเนินงานตามกรอบของการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวยั่งยืน เพื่อเป็นการวางรากฐานให้กับประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับโลกอย่างเป็นรูปธรรมและมีคุณภาพตามมาตรฐานสากลต่อไปในอนาคต

 

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT