โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เผยแพร่รายงานฉบับใหม่ที่ชี้ให้เห็นว่า การพัฒนามนุษย์ทั่วโลกกำลังชะลอตัวลงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยการเติบโตของดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่คาดการณ์ไว้สำหรับปี 2568 ถือว่าต่ำที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการจัดทำดัชนีในปี 2533
เมื่อโลกกำลังเผชิญกับระดับการพัฒนามนุษย์ที่ต่ำที่สุดในรอบ 35 ปี รายงาน Human Development Report 2025 ของ UNDP ได้เสนอแนวทางใหม่ๆ เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก หนึ่งในนั้นคือการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยผลสำรวจระดับโลกในรายงานฉบับนี้ระบุว่า ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงมอง AI อย่างเป็นกลางและมีความหวัง โดยกว่า 60% ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่า AI จะสร้างโอกาสใหม่ในด้านการจ้างงาน
รายงานฉบับนี้จัดทำภายใต้หัวข้อ “ทางเลือกที่สำคัญ: ผู้คนและความเป็นไปได้ในยุคปัญญาประดิษฐ์” โดยใช้ข้อมูลสำคัญ เช่น อายุขัยเฉลี่ย จำนวนปีการศึกษา และรายได้ประชาชาติขั้นต้น (Gross National Income: GNI) ของแต่ละประเทศ เพื่อนำมาจัดอันดับดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI) ซึ่งเป็นเครื่องมือวัดความก้าวหน้าของมนุษย์ที่ครอบคลุมมากกว่าการวัดด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว
สำหรับประเทศไทย ในปีนี้ถูกจัดอยู่อันดับที่ 76 จาก 193 ประเทศทั่วโลก และยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มี “การพัฒนามนุษย์สูง” (High Human Development) ซึ่งเป็นระดับที่สองจากสี่ระดับของการจัดกลุ่มโดย UNDP อย่างไรก็ตาม ดัชนีของไทยลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน ที่เคยอยู่ในกลุ่ม “การพัฒนามนุษย์สูงมาก” (Very High Human Development) เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลด้านอายุขัยเฉลี่ย ซึ่งส่งผลกระทบต่อค่าดัชนีของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เช่น บรูไน จีน มาเลเซีย และสิงคโปร์
ในรายงานฉบับล่าสุดของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้เพิ่มมิติในการวิเคราะห์ดัชนีการพัฒนามนุษย์ เพื่อทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นว่า ปัจจัยใดเป็น "แรงขับเคลื่อน" หรือ "อุปสรรค" ต่อความก้าวหน้าในแต่ละประเทศ
เมื่อวิเคราะห์ดัชนีการพัฒนามนุษย์ควบคู่กับข้อมูลด้านความเหลื่อมล้ำ (Inequality-adjusted HDI: IHDI) พบว่า คะแนนของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาร่วมกับข้อมูลด้านความเท่าเทียมทางเพศ กลับพบว่าไทยมีผลการดำเนินงานที่ดีในด้านนี้ เช่นเดียวกับประเทศอย่างสิงคโปร์ บรูไน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความใกล้เคียงกันของระดับสุขภาพ การศึกษา และรายได้ระหว่างเพศชายและหญิง
ที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยและมองโกเลียเป็นเพียงสองประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ ดัชนีการพัฒนามนุษย์ของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย โดยผู้หญิงไทยมีค่าดัชนีอยู่ที่ 0.802 ขณะที่ผู้ชายไทยอยู่ที่ 0.795
นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาดัชนีการพัฒนามนุษย์ในบริบทของผลกระทบต่อโลก โดยเฉพาะด้านการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พบว่า ค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่ปรับตามแรงกดดันจากสิ่งแวดล้อม (Planetary Pressures–adjusted HDI: PHDI) ของไทยอยู่ที่ 0.726 แม้จะลดลงเล็กน้อย แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน สะท้อนถึงความพยายามของประเทศไทยในการดำเนินนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน
จากรายงานการพัฒนามนุษย์ฉบับล่าสุด UNDP เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ผ่านแนวทางใหม่ๆ หนึ่งในนั้นคือบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยผลการสำรวจระดับโลกแสดงให้เห็นว่าผู้คนมอง AI อย่างสมจริง แต่ก็มีความหวังว่าเทคโนโลยีนี้จะนำไปสู่การพัฒนามนุษย์ในทิศทางที่ดีขึ้น
แม้กว่าครึ่งของผู้ตอบแบบสำรวจจะกังวลว่า งานของตนอาจถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี แต่ถึง 60% ยังเชื่อมั่นว่า AI จะส่งผลเชิงบวกต่อการจ้างงาน และสร้างโอกาสใหม่ที่ยังไม่มีในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน มีเพียง 13% เท่านั้นที่แสดงความกลัวว่า AI จะนำไปสู่การสูญเสียงาน
ในประเทศที่มีดัชนีการพัฒนามนุษย์ต่ำถึงปานกลาง พบว่า 70% ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดหวังว่า AI จะช่วยเพิ่มผลิตภาพ และ 2 ใน 3 คาดว่าจะนำ AI มาใช้ในด้านการศึกษา สุขภาพ หรือการทำงานภายในปีหน้า โดยราว 1 ใน 5 ของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลกระบุว่าตนเริ่มใช้ AI แล้ว สะท้อนถึงแนวโน้มการใช้งานที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง