positioning

งานหนังสือสะพัด 400 ล. ทะลัก 1.3 ล้านคน คนไทยอ่าน 2ช.ม./วัน-นิยายวายขายดี

11 เม.ย. 67
งานหนังสือสะพัด 400 ล. ทะลัก 1.3 ล้านคน คนไทยอ่าน 2ช.ม./วัน-นิยายวายขายดี
ผู้จัดการรายวัน 360 - ปิดฉากอย่างยิ่งใหญ่ งานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งที่ 52 โกยทุกความสำเร็จนักอ่านทะลักเป้า 1.3 ล้านคน ตลอดการจัดงาน 12 วัน ดันยอดขายทะลุ 400 ล้านบาท สวนทางเศรษฐกิจทรุด นิยายวาย-การ์ตูน แชมป์ขายดีต่อเนื่อง ด้านสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ สุดปลื้มเวที “Bangkok Rights Fair” เจรจาซื้อขายลิขสิทธิ์ครั้งแรกในไทยผลสำเร็จระดับสูง ยอดซื้อ-ขายสะพัดกว่า 351 ล้านบาท ไต้หวันเปย์หนัก ชิงนิยายวาย ดันนักเขียนไทยตีตลาดหนังสือโลก
นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เปิดเผยว่า สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 52 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 22 ประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้นตลอดการจัดงานทั้ง 12 วัน โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักพิมพ์ 322 แห่ง จำนวนบูธรวม 914 บูธ หนังสือมากกว่า 1 ล้านเล่ม ซึ่งเป็นหนังสือปกใหม่มากกว่า 3,000 ปก ขณะที่มีผู้เข้าชมงานทั้งคนไทยและต่างชาติหลั่งไหลเข้างานทุกวัน ทำให้บรรยากาศการเลือกซื้อหนังสือเป็นไปอย่างคึกคัก ส่งผลให้โดยรวมแล้วมีผู้เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 1.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 10%

ด้านสำนักพิมพ์งัดกลยุทธ์กระตุ้นกำลังซื้อด้วยโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม พร้อมจัดทำของพรีเมี่ยมสุดพิเศษเฉพาะในงาน ส่งผลให้มีเม็ดเงินสะพัดมากกว่า 400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับงานปีก่อน สวนทางกับเศรษฐกิจที่ชะลอลง สะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า พฤติกรรมการอ่านของคนไทยได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

โดยหนังสือที่รับความนิยมสูงสุดยังคงเป็น หนังสือนวนิยายและวรรณกรรมสัดส่วน 38% โดยหนังสือวายทุกประเภทเนื้อหา ได้รับความนิยมสูงสุด 21% รองลงมาคือหนังสือการ์ตูนและไลท์โนเวล 21% และหนังสือประเภทเสริมทักษะ (How to) 18% หนังสือเด็กและคู่มือการเรียน 13% และหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ 10%
“งานสัปดาห์หนังสือฯ เป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ซึ่งเราเองมีแนวโน้มที่จะขยายพื้นที่ขายหนังสือออกไปอีกในอนาคต เพราะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยดูได้จากความสำเร็จในงานนี้ทั้งในแง่ของผู้ร่วมงานและยอดขาย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการผลักดันให้มูลค่าตลาดหนังสือไทยในปีนี้แตะระดับ 17,000 ล้านบาท และพิสูจน์ได้ว่าคนไทยอ่านหนังสือมากกว่า 8 บรรทัดต่อปี” นายสุวิช กล่าว

นายธีรนัย โสตถิปิณฑะ เลขาธิการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กล่าวว่า การเติบโตของตลาดหนังสือไทยยังมีแนวโน้มที่ดีเยี่ยมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจในโครงการวิจัยพฤติกรรมการอ่านและการซื้อหนังสือของคนไทย ในปี 2567 ซึ่งสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ร่วมกับคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทุกเพศวัยจำนวน 2,550 คนทั่วประเทศ อายุตั้งแต่ 12-50 ปี ระหว่างเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2567 พบว่า
คนไทยมีพฤติกรรมการอ่านรวมทุกกลุ่มอายุเฉลี่ย 113 นาที ต่อวัน หรือเกือบ 2 ชั่วโมงต่อวัน โดยสัดส่วน 45% เป็นการอ่านทุกวัน โดยกลุ่มอายุ 12-19 ปี อ่านตำราเรียนและคู่มือเตรียมสอบในสัดส่วนที่สูงถึง 72% ส่วนอายุ 20-29 ปี, อายุ 30-39 ปี และอายุ 40-49 ปี อ่านหนังสือพัฒนาตัวเองสูงที่สุดในสัดส่วน 52%, 57% และ 51% ตามลำดับ ส่วนกลุ่ม 50 ปีขึ้นไป 58% อ่านหนังสือเกี่ยวกับสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม พบว่าทุกกลุ่มอายุเลือกอ่านหนังสือรูปเล่มในสัดส่วนที่สูงถึง 50% และอีบุ๊ค 47% แต่เมื่อแยกเป็นรายกลุ่มกลับพบว่า กลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไปเลือกอ่านหนังสือผ่านอีบุ๊คสูงถึง 58% เนื่องจากสามารถขยายตัวหนังสือได้ รวมทั้งมีความสบายตาในขณะอ่านและ 38% เป็นการอ่านในรูปเล่ม ส่วนกลุ่มอายุ 40-49 ปี อ่านหนังสือและอีบุ๊คในสัดส่วนที่เท่ากันคือ 48% กลุ่มอายุ 30-39 ปี อ่านหนังสือรูปเล่ม 54% และอีบุ๊ค 43% กลุ่มอายุ 20-29 ปี อ่านรูปเล่ม 51% และอีบุ๊ค 47% ในขณะที่อายุ 12-19 ปีเลือกอ่านหนังสือรูปเล่มและอีบุ๊ค ในสัดส่วน ใกล้เคียงกันคือ 47% และ 48%

“ เดิมเราเคยคิดว่ากลุ่มเด็กจะนิยมอ่านอีบุ๊คมากกว่าหนังสือรูปเล่ม แต่จากผลสำรวจกลับพบว่ากลุ่มที่อ่านอีบุ๊คมากกว่า กลับเป็นผู้ใหญ่ เพราะสายตายาว ซึ่งอีบุ๊กสามารถขยายตัวหนังสือทำให้อ่านง่ายขึ้น ในขณะที่วัยรุ่น ต้องการลดพฤติกรรมการติดจอ จึงหันมาอ่านหนังสือเป็นรูปเล่มมากขึ้น จากผลงานวิจัยการอ่านจากประชาชนทั่วประเทศ ทำให้พบข้อมูลใหม่ว่าคนไทยไม่ได้อ่านหนังสือแค่ 8 บรรทัดอีกต่อไป” นายธีรนัย กล่าว
ด้าน น.ส.ดวงพร สุทธิสมบูรณ์ อุปนายกฝ่ายต่างประเทศ สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ กล่าวว่า สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ประสบความสำเร็จในระดับสูงมากต่อการจัดงาน Bangkok Rights Fair 2024 จับคู่เจรจาซื้อขายแลกเปลี่ยนลิขสิทธิ์หนังสือและคอนเทนต์นานาชาติ ระหว่างสำนักพิมพ์ไทยและตัวแทนจำหน่ายจากต่างประเทศ ในรูปแบบ Business to Business เพื่อนำไปแปลและจัดพิมพ์เป็นหนังสือภาษาต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงผลิตในรูปแบบของซีรีส์ ภาพยนตร์ ฯลฯ ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติฯ ระหว่างวันที่ 28-30 มีนาคม 2567 ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB โดยมีสำนักพิมพ์ และเอเจนซี่ลิขสิทธิ์ต่างประเทศเข้าร่วมงาน 13 ประเทศ รวม 33 ราย และสำนักพิมพ์ไทย 50 ราย ส่งผลให้เกิดการเจรจาทางการค้าทั้งสิ้น 500 คู่ โดยประเมินยอดซื้อขายลิขสิทธิ์ในเบื้องต้นประมาณ 1.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 49 ล้านบาท (คำนวณโดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 35 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) แต่มูลค่าการซื้อขายที่เกิดขึ้นจริงจะสูงกว่านี้ โดยตั้งเป้าหมายที่ 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 351 ล้านบาท
ทั้งนี้ หนังสือเด็กได้รับความสนใจในการซื้อขายลิขสิทธิ์สูงสุด ในขณะที่สำนักพิมพ์ และเอเจนซี่ลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศไต้หวันได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อหนังสือนิยายวาย ผลงานจากนักเขียนไทย ทุกประเภทเนื้อหา ทั้งรักโรแมนติก สืบสวนสอบสวนและแฟนตาซี เนื่องจากนักเขียนไทยเป็นที่นิยมในตลาดนักอ่านไต้หวันอย่างมาก ในฝั่งไทยให้ความสนใจต่อการเจรจาลิขสิทธิ์หนังสือเด็ก หนังสือนิยายจาก เกาหลี จีนและญี่ปุ่น รวมทั้งหนังสือการ์ตูนจากญี่ปุ่นและเกาหลี ขณะที่พบว่าผู้เข้าร่วมงานทุกประเทศมีความพึงพอใจในระดับสูง ซึ่งส่วนใหญ่ 79% ยืนยันจะกลับมาร่วมงานอีกในครั้งหน้า
“กิจกรรมจับคู่เจรจาซื้อขายแลกเปลี่ยนลิขสิทธิ์หนังสือครั้งแรกในไทยถือว่าประสบความสำเร็จในระดับสูงมากทั้งในแง่มูลค่าและความพึงพอใจจากผู้เข้าร่วม แต่ผลประโยชน์ที่ได้มากกว่านั้นคือการสร้างโอกาสที่ดีให้กับผู้ประกอบการและนักเขียนไทยได้ก้าวสู่วงการหนังสือระดับโลก” น.ส.ดวงพร กล่าว

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT