positioning

‘ไชน่าฮาร์เบอร์’จ่อคว้าสัญญาสร้างท่าเทียบเรือ’แหลมฉบัง’กว่า 7 พันล. “มนพร”เผย”งานถมทะเล”เร็วกว่าแผนหลังเร่งเบิกจ่าย

11 เม.ย. 67
‘ไชน่าฮาร์เบอร์’จ่อคว้าสัญญาสร้างท่าเทียบเรือ’แหลมฉบัง’กว่า 7 พันล. “มนพร”เผย”งานถมทะเล”เร็วกว่าแผนหลังเร่งเบิกจ่าย
กทท.ชงบอร์ด รับทราบผลประมูลงานส่วนที่ 2 สร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ถนน “แหลมฉบังเฟส 3” หลังไชน่าฮาร์เบอร์ฯ เสนอราคาต่ำสุด ส่วน อิตาเลียนไทยฯและยูนิคฯเอกสารไม่ครบถ้วน พร้อมเร่งปรับ TOR งาน’ระบบรถไฟและไอที’วงเงินรวมกว่า 3 พันล้านบาทดันประมูลปลายปี67 “มนพร”เผยเร่งรัดงานถมทะเล ล่าสุดสร้างเร็วกว่าแผนแล้ว

รายงานข่าวจาก การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า จากที่ กทท.ได้เปิดประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนนและระบบสาธารณูปโภค ซึ่งเป็นงานส่วนที่2 โครงสร้างพื้นฐานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 กำหนด ราคากลาง 7,387.518 ล้านบาท โดยมีผู้ยื่นข้อเสนอจำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD, บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR, บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด และบริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ ซึ่ง ปรากฎว่า บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดที่ 7,298 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเอกสารคุณสมบัติและเทคนิค มี ผ่านเข้าเสนอราคา 2 รายคือ บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการฯ และ บจ. ไชน่า ฮาร์เบอร์ฯ ส่วนบมจ. อิตาเลียนไทยฯ และ บมจ. ยูนิค ฯ พบว่า เอกสารไม่ครบถ้วนตาม TOR โดย กทท.ได้รายงานผลการประกวดราคา ต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท. ที่มีนายชยธรรม พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน รับทราบแล้วเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2567 ที่ผ่านมา โดยขณะนี้เป็นขั้นตอนการประกาศผลประมูล หากไม่มีการอุทธรณ์ คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ภายใน 2 -3 เดือน

รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มีงานที่กทท.จะต้องดำเนินการเอง คือ โครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 4 งาน โดยยังคงเหลือ อีก 2 งาน ที่คาดว่าจะเปิดประมูลในช่วงปลายปี 2567 คือ ส่วนที่ 3 งานก่อสร้างระบบรถไฟ งบประมาณ 799.5 ล้านบาท และส่วนที่ 4 งานจัดหา ประกอบและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับขนย้ายสินค้า พร้อมออกแบบและติดตั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับบริหารท่าเรือระบบโครงสร้างพื้นฐาน งบประมาณ 2,257.84 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR)

สำหรับ งานส่วนที่ 1 การก่อสร้างทางทะเล เป็นงานขุดลอกถมทะเล อยู่ระหว่างดำเนินการ และประสบปัญหาความล่าช้า นั้น มีกิจการร่วมค้า CNNC ประกอบด้วย บริษัท เอ็น.ที.แอล.มารีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บมจ.พริมามารีน บริษัท นทลิน จำกัด และบริษัท จงก่างคอนสตรั๊คชั่นกรุ๊ป จำกัด (ประเทศจีน) ผู้รับจ้างก่อสร้างวงเงิน 21,320 ล้านบาท
@“มนพร”เร่ง”งานถมทะเล”ผลงานเร็วกว่าแผนแล้ว

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากที่ได้ลงพื้นที่เพื่อเร่งรัดงาน และมีการแต่งตั้งคณะทำงานติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โดยกทท.และผู้รับจ้าง ได้ร่วมกันปรับแผนงานการดำเนินงานโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของงานก่อสร้างทางทะเล งานขุดลอกและถมทะเล เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้า ทั้งจากปัญหาที่ผู้รับเหมาขาดสภาพคล่อง และเครื่องจักรต่าง ๆ ล่าสุด ได้รับรายงานว่า ผลงานสะสม รายเดือน จากที่เคยทำงานล่าช้ากว่าแผนงานกว่า 1% กลับมาเร็วกว่าแผนประมาณ 1.5%

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายค่างานให้ผู้รับจ้างด้วย ล่าสุดเบิกจ่ายไป 3 งวด ประมาณ 700 ล้านบาท ส่งผลให้ผู้รับเหมามีสภาพคล่องและเร่งการทำงานได้เร็วขึ้นจากเดิม ซึ่งได้กำชับให้กทท.ตรวจสอบและดูแลเร่งรัดการเบิกจ่ายค่างานให้ผู้รับจ้าง หากสามารถทำงานและส่งมอบงานได้ตามสัญญา เพราะจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้งานก่อสร้างเร็วขึ้น ขณะที่ผู้รับจ้างเชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จตามแผนงาน

ทั้งนี้ ตามสัญญาจ้าง กิจการร่วมค้า CNNC จะส่งมอบพื้นที่ถมทะเล 3 (Key Date 3) ได้ทันภายในเดือนมิถุนายน 2567 นี้ และกทท.จะส่งมอบพื้นที่ F1 ของโครงการฯ ให้แก่บริษัทเอกชนคู่สัญญา กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ได้ภายในปลายปี 2568 และกำหนดส่งมอบแล้วเสร็จทั้งโครงการฯ ในปี 2569

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT