positioning

“พาณิชย์” ลงนาม MOU สภาหอฯ ม.หอการค้าไทย เสริมแกร่งธุรกิจครอบครัว

5 เม.ย. 67
“พาณิชย์” ลงนาม MOU สภาหอฯ ม.หอการค้าไทย เสริมแกร่งธุรกิจครอบครัว
“พาณิชย์” ลงนาม MOU กับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จัดทำโครงการ Family Business Thailand เสริมแกร่งธุรกิจครอบครัวให้มีความเข้มแข็งและเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้จากรุ่นสู่รุ่น หลังผลศึกษาพบ เดินได้เต็มที่แค่รุ่น 3 เตรียมผนึกใช้จุดแข็งที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ เพิ่มพูนความรู้ ทั้งการบริหารจัดการธุรกิจ การตลาด การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้

นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจโครงการ Family Business Thailand ระหว่างกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่า โครงการนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างศักยภาพการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวอย่างมืออาชีพ โดยเฉพาะกลุ่มทายาทธุรกิจ SME รายเล็ก สมาชิกเครือข่าย YEC ทั่วประเทศ หลังจากพบว่า ธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญกับปัญหาด้านการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาด การบริหารความขัดแย้งที่มักจะเกิดจากความเห็นที่แตกต่างกันของคนในครอบครัวซึ่งมีประสบการณ์อยู่ในแต่ละยุคสมัย และการขาดองค์ความรู้ในการบริหารธุรกิจครอบครัวอย่างแท้จริง และจาก MOU ฉบับนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่จะเชื่อมโยงให้ธุรกิจครอบครัวมีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการธุรกิจ และการพัฒนาตลาดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมทั้งกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อันจะนำมาซึ่งข้อมูลที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ในการสร้างโอกาสทางการค้า ประกอบกับบริหารเครือข่ายให้แก่ธุรกิจครอบครัวสามารถสืบทอดต่อไปได้

ทั้งนี้ จากข้อมูลของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ไทยมีธุรกิจครอบครัวที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ และบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 1,526 บริษัท หรือคิดเป็นร้อยละ 77.58 ของบริษัททั้งหมด และมีเพียงร้อยละ 30 ของธุรกิจครอบครัวเท่านั้น ที่สามารถดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดและส่งผ่านไปสู่รุ่นที่ 2 ได้สำเร็จ และเพียงร้อยละ 12 สามารถส่งผ่านไปสู่รุ่นที่ 3 และมีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ที่รอดไปสู่รุ่นที่ 4 ตามลำดับ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า การลงนาม MOU โครงการ Family Business Thailand นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่งในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนจะร่วมแรงร่วมใจส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการไทย โดยใช้ศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จะสนับสนุนการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจครอบครัวทั่วประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีผู้เชี่ยวชาญที่จะมาร่วมกันถ่ายทอดองค์ความรู้และให้คำปรึกษาแนะนำในธุรกิจครอบครัวเพื่อส่งผ่านธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น ส่วนกรมจะทำหน้าที่ในการสนับสนุนข้อมูลธุรกิจ เพื่อวางแผนการพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้เข้มแข็ง ประกอบกับจัดอบรมในหัวข้อที่เกี่ยวข้องและวิทยากรให้ความรู้ด้านการทำธุรกิจแบบมืออาชีพ

โดยกิจกรรมแรก จะเริ่มจัดอบรมหลักสูตร Family Business Thailand ระหว่างวันที่ 8-9 พ.ค.2567 ณ ศูนย์ประชุม 1 ศตวรรษ ชั้น 6 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยจะเปิดรับสมัครธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมอบรมตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 26 เม.ย.2567 อบรมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และล่าสุดมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 51 ธุรกิจ ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่หลากหลาย ทั้งกลุ่มที่ผลิตสินค้าและการให้บริการ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลงนาม MOU ในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขันให้กับธุรกิจครอบครัวอย่างรอบด้าน โดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรเอกชนที่มีนักธุรกิจมากด้วยประสบการณ์และความสามารถ พร้อมสนับสนุนบุคลากรเพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ และจัดหาวิทยากรเพื่อถ่ายทอดความรู้ด้านบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว โดยร่วมมือกับภาครัฐและสถาบันศึกษา เพื่อเตรียมพร้อมส่งต่อธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตต่อไป

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยมีความยินดีที่จะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ ในโครงการ Family Business Thailand ทั้งหลักสูตรระยะสั้น และหลักสูตรระยะยาว (Degree amp; Non-Degree) กับเจ้าของธุรกิจครอบครัว ตลอดจนทายาท เพื่อนำองค์ความรู้ไปใช้ในการต่อยอดธุรกิจครอบครัวให้เติบโตและส่งต่อธุรกิจได้จากรุ่นสู่รุ่น

รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล ผู้รับผิดชอบโครงการ Family Business Thailand กล่าวว่า ธุรกิจครอบครัวถือเป็นนักรบทางเศรษฐกิจที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย โดยสามารถสร้างรายได้ประมาณ 60-70% ของจีดีพี แต่ส่วนใหญ่มักจะประสบปัญหาในการสืบทอดธุรกิจ จนมีคำกล่าวว่า ธุรกิจครอบครัวมักจะส่งต่อกันได้ไม่ถึงรุ่นที่ 3 เนื่องจากศาสตร์การบริหารธุรกิจครอบครัวเป็นศาสตร์เฉพาะด้านที่มีการบ่มเพาะ ถ่ายทอดกันในวงจำกัด ดังนั้น การผนึกกำลังกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา จะเป็นสามประสาน ที่จะช่วยขยายฐานกองทัพนักรบทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT