positioning

โจ๋งครึ่ม! ปั๊ม LPG รถยนต์จ.ร้อยเอ็ดผุด 51 แห่งลอบเติมถังครัวเรือน-ร้านค้า-โรงบรรจุทยอยเจ๊ง

18 มี.ค. 67
โจ๋งครึ่ม! ปั๊ม LPG รถยนต์จ.ร้อยเอ็ดผุด 51 แห่งลอบเติมถังครัวเรือน-ร้านค้า-โรงบรรจุทยอยเจ๊ง
โรงบรรจุก๊าซฯ ร้านค้าLPG จ.ร้อยเอ็ดส่อเจ๊งระนาวหลังปั๊ม LPG รถยนต์ผุดเป็นดอกเห็ด 51 แห่งลักลอบเติม LPG ในถังครัวเรือนกันโจ๋งครึ่ม ยอดขายต่อเดือนกระฉูดมากกว่าร้านค้าและโรงบรรจุกว่า 100% โกยกำไรเงียบลงทุนต่ำ 1 ปีคืนทุน รัฐคุมเข้มอย่างไรก็ยังช่วยไม่ได้ วอน “พีระพันธ์” ช่วยแก้ไข

แหล่งข่าวจากโรงบรรจุก๊าซหุงต้มปตท. เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาลักลอบการเติมก๊าซปิโตรเลียมเหลว(LPG) ในสถานีบริการ(ปั๊ม)รถยนต์จังหวัดร้อยเอ็ดโดยมีการตั้งปั๊มLPGรถยนต์มากถึง 51 แห่งทั้งที่ปัจจุบันรถที่เติมLPG แทบไม่มีแต่ปั๊มเหล่านี้กลับไปแอบลักลอบบรรจุเติมในถังครัวเรือนให้กับประชาชนบรรจุให้ทั้งขนาดถังละ 4 กิโลกรัม(กก.)และ 15 กก. ทำให้ขณะนี้ร้านจำหน่ายLPG ภาคครัวเรือนหลายแห่งมียอดขายลดลงและทำให้ต้องทยอยปิดกิจการ ไม่สามารถอยู่รอดเริ่มทยอยปิดตัวลง ขณะที่โรงบรรจุก๊าซฯที่มีอยู่ราว 5 แห่งก็กำลังประสบปัญหาไม่ต่างกัน โดยพบว่ายอดขายLPG ในต่างจังหวัดมีเพียงจ.ร้อยเอ็ดจังหวัดเดียวที่ยอดขายLPGในรถยนต์มากกว่ายอดขายร้านค้าและโรงบรรจุก๊าซฯกว่า 100% ยกเว้นกทม.ที่ยังมียอดขายสูงสุดเนื่องจากยังมีรถแท็กซี่ใช้บริการจำนวนมาก

“ ขณะนี้ปั๊มLPG รถยนต์ในจ.ร้อยเอ็ดมียอดขาย LPG สูงถึง 1,098 ตัน/เดือน ขณะที่ร้านค้าและโรงบรรจุมียอดขายเพียง 663 ตัน/เดือนเท่านั้นเราจะอยู่ได้อย่างไรต่อไป โดยปั๊ม LPG รถยนต์ประชาชนจ.ร้อยเอ็ดนำถังหุงต้มครัวเรือนไปเติมเพราะสถาพเศรษฐกิจที่ไม่ดีนัก การเติมก็แล้วแต่ว่าจะเติมราคาเท่าไหร่ได้ ขณะที่ปัจจุบันราคา LPG รัฐได้ตรึงราคาไว้ที่ 423 บาท/ถัง 15 กก. แต่ในข้อเท็จจริงแล้วชาวบ้านไม่รู้ว่าการเติมนั้นแพงมากเพราะขายกันที่17.45 บาท/ลิตรเมื่อแปลงเป็นถัง 15 กก.คิดเป็นราคาประมาณ 498-500 บาท/ถัง เฉลี่ยกำไรถังละ 100 บาท จึงทำให้มีแรงจูงใจที่จะดำเนินการ” แหล่งข่าวกล่าว
ปัจจุบันผู้ที่เข้ามาลงทุนในการทำปั๊มLPGรถยนต์มี 3 กลุ่มหลักได้แก่ 1.กลุ่มโรงสี 2. กลุ่มรับเหมาก่อสร้างและ 3. กลุ่มข้าราชการเกษียณอายุ การลงทุนค่อนข้างต่ำเพียงแค่ 1 ล้านบาทกว่า/ปั๊มโดยนำตู้จ่ายเก่ามาจากส่วนกลางและปริมณฑลทีมีการเลิกกิจการลงมาติดตั้ง และราคาตู้จ่ายอดีต 5 แสนบาท/ตู้ ตู้เก่าเหลือ 5 หมื่นบาท/ตู้เท่านั้นทำให้ไม่ถึง 1 ปีก็คุ้มทุนแล้ว ขณะที่โรงบรรจุก๊าซฯลงทุน 20-30 ล้านบาท

“ สิ่งที่น่ากังวลคือถัง LPG ครัวเรือนที่ชาวบ้านนำไปเติมจะเป็นถังเก่าและเสื่อมสภาพ ไม่สามารถถูกนำไปหมุนเวียนซ่อมบำรุงที่จะต้องทำทุกๆ 5 ปี กลายเป็นถังเก่าๆ ที่จะไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในจำนวนที่มากขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวระบุว่า ปัจจุบันศูนย์ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับ น้ำมันเชื้อเพลิง สำนักงานตำรวจแห่งชาติภาค 4 เป็นผู้ดูแลและแม้จะมีการร้องเรียนไปแต่ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ขณะที่กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) แม้จะพยายามออกระเบียบต่างๆมาแก้ เพิ่มความเข้มข้นการตรวจตรา เพิ่มช่องทางรับเรื่องร้องเรียน ยกระดับโทษการนำถังก๊าซหุงต้มไปเติมที่สถานีบริการสำหรับรถยนต์ฯลฯ แต่ในข้อเท็จจริงแล้วอธิดีธพ.ก็ไม่มีอำนาจไปสั่งการพลังงานจังหวัดซึ่งขึ้นตรงกับสำนักปลัดกลางได้และกำไรที่ได้คุ้มค่าที่ปั๊มLPGรถยนต์จะดำเนินการ ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐไม่ยอมทำงานเลยแต่ไม่อยากเอ่ยว่าเพราะอะไร

“อยากฝากไปถึงคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานช่วยดูแลด้วย และให้ท่านได้ไปดูหน่อยครับข้อเท็จจริงเท่าที่ทราบเกิดมานานนับตั้งแต่มีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่รัฐใช้วิธีบริหารโดยอุดหนุนราคา LPG ทั้งครัวเรือน รถยนต์ และอุตสาหกรรม เพียงเพราะว่าหากอุดหนุนเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะเกิดปัญหาลักลอบบรรจุข้ามประเภททั้งที่ควรจะอุดหนุนแค่LPG ครัวเรือนเพื่อลดภาระกองทุนฯแล้วมีวิธีบริหารจัดการส่วนอื่นเพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันฯ ” แหล่งข่าวกล่าว

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT