positioning

ORอัดฉีด5ปี8พันล.ลุยตปท. โหมลงทุน “กัมพูชา”สร้างคลังLPG-น้ำมัน

30 พ.ย. 66
ORอัดฉีด5ปี8พันล.ลุยตปท. โหมลงทุน “กัมพูชา”สร้างคลังLPG-น้ำมัน
การปักหมุดให้ “กัมพูชา”เป็นบ้านหลังที่2รองจากไทยของบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้า
ปลีก(OR) พร้อมนำBusiness Model ที่ประสบความสำเร็จจากไทยมาใช้กับกัมพูชาในการลงทุนขยายสถานีบริการน้ำมันPTT Station และร้านคาเฟ่ อเมซอน ด้วยสูตร 80:20 โดยORเป็นการลงทุนและบริหารเองคิดเป็นสัดส่วน20% ส่วนอีก 80% เปิดให้ดีลเลอร์หรือนักลงทุนกัมพูชาเข้ามาลงทุนและบริหารจัดการ เพื่อให้นักลงทุนท้องถิ่นมาเป็นเจ้าของและโตไปพร้อมกับบริษัท

ปัจจุบันเศรษฐกิจในประเทศกัมพูชาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วหลังผ่านพ้นวิกฤติโควิด GDPเติบโตสูงที่ 5%ในปีที่แล้ว การเมืองนิ่ง การค้าตลาดเสรี เปิดกว้างการลงทุนจากต่างชาติ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น โดยเห็นได้จากตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศไหลเข้า (FDI) กัมพูชาในปี 2565 เป็นวงเงิน 3.88 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าปี 2566 การลงทุนโดยตรงจากต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.30 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็เติบโต มีจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้เพิ่มขึ้น 201%มาอยู่ที่ 3.92ล้านคน สะท้อนว่ากัมพูชามีการบริหารจัดการที่ดีกว่าบางประเทศในภูมิภาคนี้ที่กำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ ค่าเงินอ่อนค่าและหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น

จึงไม่แปลกใจที่ORเลือกกัมพูชาเป็นบ้านหลังที่ 2 อีกทั้งไทยยังมีข้อได้เปรียบคู่แข่งในด้านการขนส่งสินค้า รวมทั้ง คนกัมพูชาก็นิยมดูทีวีไทย ชื่นชอบสินค้าอุปโภคบริโภคแบรนด์ไทย ทำให้ปัจจุบันORมีสถานีบริการน้ำมันPTT Stationมากถึง 172แห่ง ครองส่วนแบ่งตลาดน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ2 ในกัมพูชา และร้านคาเฟ่ อเมซอน ราย231 แห่งก็มียอดขายเป็นอันดับ 1 ในกัมพูชา
นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวยอมรับว่า ขณะนี้ ORไม่สามารถเติบโตในแง่ส่วนแบ่งการตลาด(มาร์เก็ตแชร์)ธุรกิจน้ำมันในไทยได้มากกว่านี้แล้ว จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาด 43-45% สูงสุดเป็นอันดับ 1 เพื่อไม่ให้เป็นการผูกขาดตลาด สิ่งที่ ORทำได้เพียงรักษามาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 เอาไว้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจค้าปลีกน้ำมัน น้ำมันหล่อลื่น ตลาดLPG ฯลฯ

ส่วนการเติบโตในกลุ่มธุรกิจMobility จำเป็นต้องขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้านแทน เช่นลาว กัมพูชา ซึ่งจะเป็นช่องทางรองรับน้ำมันส่วนเกินความต้องการใช้ภายในไทยของกลุ่มปตท.ในอนาคต สืบเนื่องจากโรงกลั่นไทยออยล์ลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (CFP) เพื่อผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 (กำมะถัน ต่ำกว่า 10 ppm) ที่ภาครัฐบังคับใช้ในวันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป โดยโครงการ CFP เพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันของไทยออยล์จากเดิม 2.75 แสนบาร์เรล/วัน ขึ้นเป็น 4 แสนบาร์เรล/วันด้วย

จากนโยบายรัฐในการบังคับใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ทำให้ขณะนี้ผู้ค้าน้ำมันรวมถึงOR มีการจัดเก็บสำรองน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 เพื่อเตรียมพร้อมในการจำหน่ายในต้นปีหน้าแล้ว ขณะเดียวกัน ORจะจำหน่ายน้ำมันมาตรฐานยูโร5 ที่ปั๊มPTT Station ในกัมพูชาด้วย ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกัมพูชาก็เตรียมบังคับใช้น้ำมันยูโร5 ในต้นปีหน้าด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันเพิ่มความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงแสวงหาโอกาสร่วมกับพันธมิตรในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ
5ปีทุ่มงบลงทุน6.7หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ORตั้งงบลงทุน 5ปี(2567-2571) อยู่ที่ 67,396.3 ล้านบาท แบ่งตามกลุ่มธุรกิจหลัก ดังนี้ กลุ่มธุรกิจ Mobility อยู่ที่ 36,266.4 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53.8% กลุ่มธุรกิจ Lifestyle ราว 17,944.5 ล้านบาท คิดเป็น 26.6% กลุ่มธุรกิจ Global อยู่ที่ 8,007.4 ล้านบาท คิดเป็น 11.9% และกลุ่มธุรกิจ Innovation amp; New Business ประมาณ 5,178 ล้านบาท คิดเป็น 7.7% OR ยังตั้งงบลงทุนในอนาคต (Provisional Capital Expenditure)ใน 5 ปีอีก 15,942.5 ล้านบาทเพื่อการขยายธุรกิจใหม่ในอนาคต

สำหรับปี2567 OR วางกรอบลงทุนเป็นวงเงิน 23,186.4 ล้านบาท แม้ว่าจะจัดสรรใช้ในกลุ่มธุรกิจ Globalเพียง 2,091.2ล้านบาท แต่เม็ดเงินก้อนนี้ใช้ลงทุนในบ้านหลังที่สอง คือ กัมพูชาสูงถึง1,600-1,700 ล้านบาทหรือประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อขยายสถานีบริการน้ำมันPTT Station และร้านคาเฟ่ อเมซอน รวมทั้งลงทุนสร้างคลังเก็บก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ขนาด2,200ตัน ใช้งบลงทุนรวม 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คาดว่าเริ่มก่อสร้างใน2567 และเปิดดำเนินการในปีถัดไป เบื้องต้นจะขาย LPG ให้กับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก

ORมั่นใจปี67ยอดขายน้ำมันโตต่อเนื่อง

นายดิษทัต คาดการณ์แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในปี2567จะเป็นปีที่ดี โดยยอดขายน้ำมันเติบโตสูงกว่าการเติบโตของGDP 1% ขณะเดียวกันบริษัทให้ความสำคัญในการบริหารต้นทุน ลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งแสวงหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจ Food and Beverage (Famp;B)ค่อเนื่อง พร้อมทั้งหนุนให้พันธมิตรหันใช้ผลิตภัณฑ์ของOR เพื่อสร้างSynergy ร่วมกัน และในเร็วๆนี้ OR จะลงนามสัญญาเอ็มโอยูกับบริษัทเกาหลี และญี่ปุ่น เพื่อร่วมลงทุนธุรกิจด้านสุขภาพ และความงาม (Health amp; Wellness ) คาดว่าจะเห็นการลงทุนในไตรมาสแรกปี 2567
ดึงดุสิต ฟู้ดส์-โอ้กะจู๋ลงทุนในกัมพูชา

นายรชา อุทัยจันทร์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ด้านธุรกิจต่างประเทศ OR กล่าวถึงกลยุทธ์การลงทุนในต่างประเทศว่า ในแต่ละประเทศมีความเสี่ยงที่ต่างกัน ความพร้อมที่ไม่เท่ากัน และการขยายตัวความเจริญในแต่ละพื้นที่ก็แตกต่างกันด้วย จึงเป็นความท้าทายในการวางกลยุทธ์ลงทุนในต่างประเทศ แม้ว่าOR มีธุรกิจที่หลากหลายที่พร้อมจะขยายการลงทุนในต่างประเทศ แต่เลือกนำร่องบุกตลาดด้วยสถานีบริการน้ำมัน PTT Station และร้านคาเฟ่ อเมซอน เพราะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 1 แต่เรามีเป้าหมายเป็น Good Citizen ของประเทศที่เข้าไปลงทุน แม้ว่าจะไม่ทำให้บริษัทโตขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่เป็นการเติบโตที่ยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ก็มุ่งเสริมความแข็งแกร่งของการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศโดยจะเพิ่มความหลากหลายในการดำเนินธุรกิจ เช่น การรุกตลาดก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และยางมะตอย ในประเทศกัมพูชาเพื่อรองรับความต้องการใช้ที่นับวันเพิ่มสูงขึ้น

รวมถึงการจับมือกับพันธมิตรไทยในการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็น บริษัท เค-เน็กซ์ คอร์ปอเรชัน จำกัด เจ้าของธุรกิจร้านสะดวกซักแบรนด์ Otteri Wash amp; Dry ที่เริ่มเปิดสาขาแรกในกัมพูชา พบว่าตลาดให้การตอบรับดีขึ้นเรื่อยๆ หรือบริษัท ดุสิต ฟู้ดส์ จำกัดที่ORอยู่ระหว่างการเจรจาให้ดุสิต ฟู้ดส์เข้ามาตั้งโรงงานเพื่อซัพพอร์ตธุรกิจอาหารและเบเกอรี่ในร้านคาเฟ่ อเมซอนที่กัมพูชา ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการดึงลูกค้ามาทานอาหารกลางวันแล้วจบด้วยการดื่มกาแฟในที่เดียว ยังช่วยเพิ่มยอดขายกาแฟด้วย คาดว่าดุสิต ฟู้ดส์จะเริ่มมาลงทุนในต้นปี2567

นอกจากนี้ พันธมิตรของ OR อย่าง “โอ้กะจู๋” ก็มาศึกษาตลาดในกัมพูชา ขณะนี้มองหาฟาร์มปลูกผักออแกนิก เพราะไม่สามารถนำเข้าผักจากไทยได้ โดยการลงทุนช่วงแรกโอ้กะจู๋จะเน้นสร้างแบรนด์ เปิดร้านแบบ Stand Alone นอกปั๊มน้ำมัน แต่อาจจะป้อนสลัดหรือแซนด์วิชจำหน่ายในร้านคาเฟ่ อเมซอนด้วย

จับตา! ส่อปิดร้านคาเฟ่ อเมซอนที่จีน

นายรชา กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากขยายการลงทุนในกัมพูชาแล้ว OR ยังคงมองโอกาสเติบโตในประเทศอื่นๆที่มีฐานการลงทุนอยู่แล้ว ซึ่งเมียนมา เป็นประเทศที่บริษัทให้ความสนใจ แต่คงต้องชะลอการลงทุนไปก่อน เนื่องจากปัญหาการเมืองในประเทศยังไม่นิ่ง ส่วนสปป.ลาว ขณะนี้การทำธุรกิจสถานีบริการPTT Station และร้านคาเฟ่ อเมซอนเป็นไปตามปกติ พร้อมศึกษาความเป็นไปได้เข้าสู่ธุรกิจต้นน้ำเพื่อซัพลายเมล็ดกาแฟพันธุ์อราบิก้า ซึ่งเป็นการต่อยอดValue Chainให้กับOR

ขณะที่เวียดนาม OR จับมือกับ CRG ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล ตั้งบริษัทร่วมทุน ORC Coffee Passion Group Joint Stock Company หรือ ORCG เพื่อเปิดร้านคาเฟ่ อเมซอนในเวียดนามมาตั้งแต่ปี 2562 ปัจจุบันเปิดแล้ว 24สาขา รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG )และLPG เริ่มจากเทรดดิ้ง หลังจากนั้นจะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานLNG/LPGในอนาคต ส่วนของการเปิดสถานีบริการน้ำมัน ยังไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะนโยบายเวียดนามยังไม่เปิดให้ต่างชาติเข้าไปลงทุน

สำหรับฟิลิปปินส์ ยังคงเดินหน้าทำตลาดน้ำมันเครื่องบิน โดยคงธุรกิจPTT Stationและร้านคาเฟ่ อเมซอนอยู่ ส่วนประเทศโอมาน จะมีการขยายร้านคาเฟ่ อเมซอนเพิ่มเติม เช่นเดียวกับที่มาเลเซีย ส่วนจีน จะทบทวนการลงทุนร้านคาเฟ่ อเมซอนที่เปิดอยู่ 10แห่ง เนื่องจากตลาดกาแฟในจีนมีขนาดใหญ่และมีการแข่งขันสูงมาก
จ่อผุดคลังน้ำมันแห่งที่8

นายณัฐพงศ์ แก้วตระกูลพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปตท.(กัมพูชา) จำกัด (PTTCL) กล่าวว่า
ในปี 2567 งบลงทุนในกัมพูชา ที่ตั้งไว้ราว 50 ล้านเหรียญสหรัฐ จะใช้สำหรับขยายสถานีบริการ PTT Station เพิ่มอีก 20 แห่ง จากปัจจุบันมี 172 แห่ง แบ่งบริษัทเป็นเจ้าของและบริหารเอง( COCO) 12 แห่งหรือราว 7% และ ดีลเลอร์เป็นเจ้าของและบริหารเอง(DODO) 160 แห่ง คิดเป็นราว93% โดยปัจจุบัน สถานีบริการ PTT Station ในกัมพูชามีมาร์เก็ตแชร์ 17.3% ใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจาก TELA ซึ่งเป็นบริษัทค้าน้ำมันท้องถิ่นของกัมพูชา ที่มีมาร์เก็ตแชร์ 39.3%ฉีกหนีคู่แข่งแบรนด์ต่างชาติจากTotalและCaltex ที่มีส่วนแบ่งตลาด 13.3%6.2%ตามลำดับ

การขยายร้านคาเฟ่ อเมซอน ในปีหน้าจะเพิ่มอีก 31 แห่ง จากปัจจุบันมีอยู่ 231 แห่ง แบ่งเป็น COCO 20 แห่งหรือราว9 % และ DODO 211 แห่งหรือราว 91% มีมาร์เก็ตแชร์คิดเป็น 23% อันดับ 1 ของกัมพูชา ซึ่งในอนาคตPTTCLจะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสถานีบริการน้ำมัน และร้านคาเฟ่ อเมซอน มากขึ้นเพื่อให้มีสัดส่วนขยับขึ้นมาเป็น 20% เพื่อรักษาอำนาจการต่อรอง รวมทั้งเตรียมปรับพอร์ตฟอลิโอของร้านคาเฟ่ อเมซอน เพื่อรับการแข่งขันที่สูงขึ้น โดยจะปิดบางสาขาที่นอดขายไม่ดีแต่เปิดสาขาที่มีทำเลดีกว่าแทน
ส่วนร้านสะดวกซื้อภายใต้แบรนด์ 7-อีเลฟเว่น ในกัมพูชาปัจจุบันมีอยู่ 49 แห่ง เป็นCOCO 35 แห่ง ที่เหลือเป็นDODO 14แห่ง และร้านสะดวกซื้อ แบรนด์จิฟฟี่มี 12 แห่ง ซึ่งร้านสะดวกซื้อจิฟฟี่จะไม่มีการขยายสาขาเพิ่มเติมอีกในกัมพูชา แต่จะเน้นให้ดีลเลอร์เปิดร้านสะดวกซื้อแบรนด์7-อีเลฟเว่น แทน

ส่วนแผนขยายคลังเก็บน้ำมันเพิ่มเติม จากปัจจุบันมี7คลังแบ่งเป็น4คลังเก็บน้ำมันและ2คลังเก็บน้ำมันอากาศยาน ความจุรวมทั้งสิ้น 38.5ล้านลิตร ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดหาทำเลที่ตั้งคลังน้ำมันอยู่ที่เมืองสีหนุวิลล์

สำหรับผลประกอบการPTTCL 9เดือนแรกปีนี้ บริษัทมีรายได้ 382ล้านเหรียญสหรัฐ และมีEBITDA 25.28 ล้านเหรียญสหรัฐ เปรียบเทียบปี2565 บริษัทมีรายได้รวม460ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ยอดขายน้ำมันในปีนี้เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากราว30%

การเร่งขยายการลงทุนในต่างประเทศของOR เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมราคา( EBITDA )ของกลุ่มธุรกิจ Global จากเดิม7.6%เป็น 15% ในปี 2570

Powered By : Positioning

advertisement

SPOTLIGHT