การเงิน

4 เรื่องเงินสำคัญ สำหรับอาชีพฟรีแลนซ์ต้องรู้

17 ก.ค. 65
4 เรื่องเงินสำคัญ สำหรับอาชีพฟรีแลนซ์ต้องรู้
ไฮไลท์ Highlight

ฟรีแลนซ์ อาชีพที่ต้องให้ความสำคัญกับการจัดการเงิน เพราะนอกจากไม่มีสวัสดิการจากนายจ้างแล้ว รายได้ยังมีความไม่แน่นอน มีความเสี่ยงด้านการเงินสูงกว่าอาชีพมนุษย์เงินเดือน ที่สำคัญเมื่อเดือดร้อนจะใช้เงินมักหันไปขอสินเชื่อกับธนาคารได้ไม่ง่ายนัก จึงต้องเตรียมเงินให้พร้อมอยู่เสมอ โดยเฉพาะเงินเก็บสำรองเผื่อฉุกเฉินให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 12 เดือน

เงินทองเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะกับคนทำอาชีพฟรีแลนซ์ ที่ไม่มีการันตีรายได้ขั้นต่ำ ไม่มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย อีกทั้งยังเป็นอาชีพที่ขอสินเชื่อได้ยากกว่ามนุษย์เงินเดือน เพื่อไม่ให้ความเสี่ยงด้านการเงินมาเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิต จึงมี 4 เรื่องเงิน ที่อาชีพฟรีแลนซ์ต้องรู้และให้ความสำคัญ ดังนี้

 

1.ประวัติการเงิน ที่ต้องสร้าง

 

ฟรีแลนซ์ อาชีพที่ได้ชื่อว่าขอสินเชื่อยาก หนึ่งในเหตุผลคือธนาคารมักไม่มั่นใจว่าฟรีแลนซ์จะมีรายได้ที่มั่นคงและสม่ำเสมอเพียงพอในการจ่ายหนี้คืนได้ตลอดสัญญา โดยเฉพาะสินเชื่อที่มีพันธะระยะยาว เช่น สินเชื่อบ้าน ฯลฯ ดังนั้นการสร้างประวัติการเงินให้มั่นคง จึงเป็นสิ่งที่ฟรีแลนซ์ต้องให้ความสำคัญ

 

เริ่มจากการเดินบัญชีธนาคาร โดยการรับรายได้ทุกครั้งไม่ว่าจะรับด้วยการโอนเงิน เช็คธนาคาร หรือเงินสด ควรนำเข้าบัญชีธนาคารบัญชีใดบัญชีหนึ่งเป็นหลัก เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าในแต่ละเดือนหรือแต่ละปีฟรีแลนซ์มีรายได้เท่าไร ส่วนเมื่อมีรายได้เข้าแล้วจะถอนหรือโอนออกไปเป็นค่าใช้จ่ายก็ถือเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้

 

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือประสบการณ์ทำงาน ฟรีแลนซ์แม้ทำงานตัวคนเดียวไม่ได้มีการตั้งบริษัท แต่หลายอาชีพก็สามารถจดทะเบียนการค้าหรือทะเบียนพาณิชย์ได้ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันการเริ่มต้นประสบการณ์ในการทำอาชีพนี้อย่างจริงจัง ซึ่งแน่นอนว่ายิ่งมีประสบการณ์ยาวนาน มีรายได้เข้าบัญชีสม่ำเสมอ โอกาสในการขอสินเชื่อก็ยิ่งสูงตาม

 

2.เงินเก็บสำรอง ที่ต้องมี

 

ด้วยรายได้ที่ไม่แน่นอนของฟรีแลนซ์ ทำให้ไม่มีทางรู้เลยว่าจะมีเดือนไหนที่รายได้จะน้อยกว่าค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายออกไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือช่วงการระบาดโควิด-19 ที่ฟรีแลนซ์แทบทุกสายอาชีพต้องเจอกับสถานการณ์ที่แทบไม่มีใครจ้างงานรายได้แทบไม่มีเข้าบัญชี จนหลายคนต้องใช้จ่ายจากเงินเก็บที่สะสมมา

 

งินเก็บสำรองเผื่อฉุกเฉิน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้สำหรับฟรีแลนซ์ ซึ่งหลายคนอาจมองว่ามีให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 3-6 เดือน ก็น่าจะพอแล้ว แต่จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ต้องบอกว่าการมีเงินเก็บสำรองให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย 12 เดือน หรือ 1 ปีเต็ม สำหรับฟรีแลนซ์ไม่ได้เป็นจำนวนที่มากเกินไปเลย โดยเงินเก็บที่ว่าควรเก็บอยู่ในรูปของเงินฝากประจำหรือเงินฝาก e-Savings ที่ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าออมทรัพย์ทั่วไป พร้อมถอนออกมาใช้จ่ายได้ยามฉุกเฉินได้ทันที ไม่ว่าจะถอนออกจากมือถือหรือต้องไปเบิกถอนที่สาขาธนาคารก็ตาม

 

3.เงินลงทุน ที่ต้องจัดการ

 

รายได้ของฟรีแลนซ์ อาจขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจ การบอกต่อของลูกค้า และปัจจัยภายนอกอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้รายได้ในแต่ละเดือนมีความไม่แน่นอน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่กลับเป็นสิ่งที่ต้องจ่ายแน่นอน เช่น ค่าเช่าบ้านหรือผ่อนบ้าน ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าอาหาร 3 มื้อ ฯลฯ การเพิ่มความหลากหลายของรายได้ นอกจากกระจายกลุ่มลูกค้าหรือรับงานหลายประเภทแล้ว การจัดสรรเงินไปลงทุน ก็ช่วยให้มีรายได้เพิ่มได้อีกทาง

 

เริ่มจากนำเงินเก็บส่วนที่เกินกว่าเงินเก็บสำรองที่กันไว้ ไปลงทุนในทางเลือกที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ข้อจำกัดแต่ละทางเลือก หรือตามความถนัดของตนเอง เช่น เงินทุนหลักล้านอาจลงทุนคอนโดปล่อยเช่า เงินทุนหลักแสนอาจลงทุนหุ้นกู้เพื่อรับดอกเบี้ย เป็นต้น แต่ไม่ว่าจะมีเงินลงทุนมากน้อยแค่ไหนหากลองศึกษาการลงทุนอย่างจริงจัง  ต่อให้มีเงินหลักร้อยหลักพันก็สามารถเลือกลงทุนในหุ้น REITs รวมไปถึงกองทุนรวม เพื่อจัดสรรเงินลงทุนให้มีโอกาสได้ผลตอบแทนในรูปแบบของการเติบโตของราคาหรือเงินปันผล ที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

 

4.ค่ารักษาพยาบาล ที่ต้องเตรียม

 

เจ็บป่วยจากโรคภัยหรือบาดเจ็บจากอุบัติเหตุเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะรับมือกับค่าใช้จ่ายอย่างไรคือสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ทางเลือกหนึ่งที่ช่วยได้คือการมีประกันสุขภาพสักฉบับ ที่ถ้าต้องนอนโรงพยาบาลจะได้มีบริษัทประกันมาออกค่าใช้จ่ายแทน แต่ก็ต้องเลือกแบบประกันที่ค่าเบี้ยไม่สูงเกินไปเพราะอย่าลืมว่าเบี้ยประกันสุขภาพเป็นสิ่งที่เราต้องจ่ายทุกปี และยังมักปรับเพิ่มขึ้นทุก 1-5 ปีด้วย

 

หากใครยังไม่พร้อมหรือคิดว่าเบี้ยประกันสุขภาพเป็นภาระที่หนักเกินไป แล้วเพิ่งออกจากงานประจำมาได้ไม่เกิน 6 เดือน ลองสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ของประกันสังคมเพื่อใช้สิทธิรักษาพยาบาลก็ได้ โดยเงินสบสมที่ส่งประกันสังคมเดือนละ 432 บาท (รวมปีละ 5,184 บาท) นอกจากสิทธิรักษาพยาบาลแล้วยังได้รับสิทธิประโยชน์ กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ ด้วย หรือหากไม่สามารถสมัครประกันสังคมได้อย่างน้อยควรเช็กสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ไว้ เผื่อจำเป็นต้องใช้จะได้ไม่เสียสิทธิไป

 

 

ฟรีแลนซ์ อาชีพที่ต้องให้ความสำคัญกับการจัดการเงิน เพราะนอกจากไม่มีสวัสดิการจากนายจ้างแล้ว รายได้ยังมีความไม่แน่นอน มีความเสี่ยงด้านการเงินสูงกว่าอาชีพมนุษย์เงินเดือน ที่สำคัญเมื่อเดือดร้อนจะใช้เงินมักหันไปขอสินเชื่อกับธนาคารได้ไม่ง่ายนัก จึงต้องเตรียมเงินให้พร้อมอยู่เสมอ โดยเฉพาะเงินเก็บสำรองเผื่อฉุกเฉินให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 12 เดือน

 

ราชันย์ ตันติจินดา

ราชันย์ ตันติจินดา

นักวางแผนการเงิน CFP

advertisement

SPOTLIGHT