การเงิน

เรายังใช้ RMF ทำอะไรได้บ้าง ? นอกจากวางแผนเกษียณ

5 มิ.ย. 65
เรายังใช้ RMF ทำอะไรได้บ้าง ? นอกจากวางแผนเกษียณ
ไฮไลท์ Highlight
เก็บเงินอีกก้อน เพื่อใช้จ่ายในวัยเกษียณได้อย่างตามใจ นอกเหนือจากเงินที่ใช้เพื่อเกษียณจริง ๆ เช่น เอาเงินไปเที่ยวรอบโลก (ว้าว) เผื่อไว้เป็นค่ารักษาพยาบาล หรือทำตามความฝันที่อยากทำหลายอย่างเพื่อเติมเต็มความต้องการในใจ วัตถุประสงค์อื่นเพื่อคนที่เรารัก เช่น เก็บเงินไว้เพื่อลูก คนรัก หรือให้รางวัลบางอย่างกับชีวิต โดยที่ไม่กระทบกับเงินเกษียณที่เรามีไว้เพื่อตัวเอง  ฯลฯ  

เวลาวางแผนลดหย่อนภาษี เราควรดูเป้าหมายของการลงทุนเป็นหลัก และมองสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นของแถม เพราะว่า สิ่งที่เราได้รับจริงๆ มันคือ ผลตอบแทนจากการลงทุนจากสินทรัพย์ที่เราลงทุนอยู่ และนอกจากนั้นเรายังต้องถือครองให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนดตามกฎหมายอีกด้วยครับ

.

โดยหนึ่งในตัวเลือกที่หลายคนใช้วางแผนภาษี คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF-Retirement Mutual Fund) ซึ่งกฎหมายเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษีดังนี้ครับ 

  • จำนวนเงินที่สามารถนำมาลดหย่อนได้คือ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 500,000 บาท 

 

  • ควรซื้อติดต่อกันทุกปี หรือไม่ระงับการซื้อ RMF เกินกว่า 1 ปีขึ้นไป (ซื้อปีเว้นปี ถือว่าไม่ผิดเงื่อนไข)

 

  • ต้องถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี และอายุครบ 55 ปี โดยนับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุน RMF ครั้งแรก (การนับ 5 ปี ให้นับเฉพาะปีที่มีการซื้อ RMF หากปีไหนไม่ลงทุนจะไม่สามารถนับได้ครับ)

 

จากเงื่อนไขข้างต้น จะเห็นว่า RMF ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยในการวางแผนเกษียณของเรา เพราะกำหนดให้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และขายคืนได้เมื่ออายุอยู่ในช่วงวัยใกล้เกษียณ (หรือเกษียณไปแล้ว) นั่นเองครับ

อย่างไรก็ดี หลายคนมักเข้าใจผิดว่า อายุน้อยๆ อาจจะยังไม่ต้องวางแผนเกษียณก็ได้ จึงทำให้ละเลยเป้าหมายนี้ไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำครับ เพราะยิ่งอายุน้อยๆนี่แหละ เราจึงจำเป็นต้องรีบวางแผนเกษียณให้ไว เพราะมันมีข้อดีระยะเวลาที่ลงทุนนาน ผลตอบแทนที่ทบต้น และจำนวนเงินลงทุนที่ใช้น้อยกว่า

แต่ในทางกลับกัน บางคนก็อาจจะลงทุน RMF เพียงบางส่วนและยังไม่เต็มสิทธิ์ลดหย่อนภาษี และยังมีกระแสเงินสดเหลืออยู่ พร้อมกับคำถามในใจว่า ถ้าเงินเหลือ(ในการวางแผนลดหย่อนภาษี) เราควรเลือกทำอะไรต่อดีนะ 

 

ดังนั้นผมเลยอยากมาชวนคิดกันต่อครับว่า แล้ว เรายังใช้ RMF ทำอะไรได้บ้าง นอกจากวางแผนเกษียณ ซึ่งตรงนี้อาจจะต้องกลับมาดูที่โจทย์ของเราแล้วล่ะครับว่า ในวันที่อายุมากกว่า 55 ปี และสามารถลงทุนติดต่อกันได้นานกว่า 5 ปี  เรายังมีเป้าหมายอะไรที่ซ่อนอยู่หรือเปล่า เช่น 

 

  • เก็บเงินอีกก้อน เพื่อใช้จ่ายในวัยเกษียณได้อย่างตามใจ นอกเหนือจากเงินที่ใช้เพื่อเกษียณจริง ๆ เช่น เอาเงินไปเที่ยวรอบโลก (ว้าว) เผื่อไว้เป็นค่ารักษาพยาบาล หรือทำตามความฝันที่อยากทำหลายอย่างเพื่อเติมเต็มความต้องการในใจ
  • วัตถุประสงค์อื่นเพื่อคนที่เรารัก เช่น เก็บเงินไว้เพื่อลูก คนรัก หรือให้รางวัลบางอย่างกับชีวิต โดยที่ไม่กระทบกับเงินเกษียณที่เรามีไว้เพื่อตัวเอง 
  • ฯลฯ

 

จะเห็นว่าสิ่งสำคัญที่ RMF มาช่วยเติมเต็มได้ อาจจะเป็นเป้าหมายอื่นที่ซ่อนอยู่นอกเหนือจากการวางแผนเกษียณที่เรามีเป็นเป้าหมายหลัก และเป้าหมายย่อย ๆ พวกนี้แหละครับ เป็นแรงบันดาลใจที่ดีอีกส่วนหนึ่งที่เราจะใช้ในการวางแผนเก็บเงินเพื่อทำตามเป้าหมายให้ได้ 

istock-1372954595

ถ้าหากใครเคยฟังผมบรรยายเรื่องการวางแผนภาษี น่าจะพอได้ยินสิ่งที่ผมแชร์ให้ฟังอยู่บ่อยๆ นั่นคือการซื้อ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เก็บไว้ให้ลูก

ซึ่งเหตุผลที่ผมเลือกแบบนี้ เพราะว่าในวันที่ลูกผมเกิดออกมา ผมมีอายุ 34 ปี ถ้าหากนับไปอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า ตอนที่ผมมีอายุครบ 55 ปี ลูกของผมก็จะมีอายุครบ 21 ปีพอดี ซึ่งเป็นวัยที่เขาน่าจะใกล้เรียนจบ และไปเริ่มต้นมีชีวิตของตัวเอง ซึงในตอนนั้นหากมีเงินสักก้อนหนึ่งไปตั้งต้นชีวิต เงินก้อนนี้ก็น่าจะช่วยให้ชีวิตเขาง่ายขึ้นอีกสักหน่อย 

โดยเป้าหมายนี้เริ่มต้นขึ้น ตั้งแต่ปีที่ลูกเกิด ผมจึงตัดสินใจวางแผนเงินส่วนนี้แยกออกมาจากพอร์ตเกษียณหลักของตัวเองที่เคยวางแผน RMF ไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ทำให้เงินซื้อ RMF ในแต่ละปีของผมนั้นจะมีอยู่ 2 เป้าหมาย คือ เป้าหมายเกษียณของตัวเอง และ เป้าหมายเงินตั้งต้นชีวิตลูก 

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะแย้งว่า เอ้ย แต่จริงๆ ก็ไม่ต้องเก็บในรูปแบบ RMF ก็ได้ไม่ใช่เหรอ สามารถเก็บในรูปแบบอื่นได้อีกมากมาย ซึ่งผมมักจะอธิบายเหตุผลว่า ทำไมถึงคิดแบบนี้? ด้วยเหตุผล 3 ข้อนี้ครับ 

 



1.RMF ตอบโจทย์สินทรัพย์ที่เลือกลงทุน

เพราะผมมีวัตถุประสงค์เก็บเงินไว้สำหรับเป้าหมายในอนาคต (เก็บเงินให้ลูกในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า) ซึ่งแปลว่าด้วยระยะเวลาผมสามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงได้มากขึ้น เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้น และสะดวกกว่าการลงทุนด้วยตัวเอง เนื่องจากผมมีงานประจำที่ต้องทำ และมีภาระอื่นๆที่ต้องดูแล ซึ่งการลงทุนด้วยตัวเองอาจจะทำให้ผลตอบแทนที่มากกว่า แต่เมื่อพิจารณากับเวลาที่เสียไป ผมคิดว่ากองทุนรวมที่มีผู้จัดการกองทุนดูแลให้ น่าจะตอบโจทย์นี้ได้ดีกว่าครับ

 

2.เป้าหมายนี้สำคัญและจำเป็นต้องมีวินัย

ดังนั้นการใช้ RMFเป็นตัวบังคับให้มีวินัยในการลงทุนตามเงื่อนไขของกฎหมาย จึงเป็นตัวกำหนดให้ผมต้องทำตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่สำคัญ เงินก้อนนี้จะไม่สามารถนำออกมาใช้ได้จนผมอายุ 55 ปี นั่นแปลว่า ผมต้องระวังและมั่นใจมากๆว่าจะไม่ขายก่อนครบกำหนด เพราะไม่งั้นจะมีปัญหาเรื่องสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษี และอีกทางหนึ่งก็คือจะเห็นพอร์ตการลงทุนนี้เติบโตไปพร้อมกับลูก ก็ถือว่าเป็นแรงใจและเป้าหมายชีวิตอีกทางหนึ่งครับ 

 

3.ผลประโยชน์ที่ได้จากการลดหย่อนภาษี

นอกจากผลตอบแทนที่ได้รับเพื่อให้เงินไปได้ถึงเป้าหมายแล้ว ผมยังได้รับ สิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีของตัวเองด้วย และในอนาคตยิ่งผมอายุมากขึ้น ย่อม (คาดหวังว่า) จะมีรายได้ที่มากขึ้น การซื้อ RMF จะยิ่งช่วยลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นไปด้วย ตรงนี้ถือเป็นประโยชน์แฝงที่ผมได้รับมาฟรีๆ โดยที่ไม่กระทบต่อเป้าหมายที่ผมต้องการ 

 

"อย่างไรก็ดี นี่เป็นการลงทุนระยะยาวครับ สิ่งที่ต้องวางแผนต่อคือการปรับพอร์ตให้เหมาะสม และการเลือกสินทรัพย์ในการลงทุนให้สอดคล้องกับความเสี่ยงและสถานการณ์ ไม่ใช่ว่าจะซื้อแล้วจบๆไป แต่ต้องคอยดูและปรับปรุงให้เหมาะสมด้วยครับ โดยข้อดีแฝงอีกข้อหนึ่งของกองทุน RMF ก็คือ เราสามารถสับเปลี่ยนกองทุนได้ตลอดการลงทุน ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการขายและไม่กระทบต่อสิทธิ์ประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับ หากผลตอบแทนกองทุนไหนไม่ดี เราก็สามารถปรับเปลี่ยนหรือสับกองทุนให้เข้ากับแต่ละช่วงเวลาได้เช่นกันครับ" 

 

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญในการลงทุนลดหย่อนภาษี ไม่ว่าจะเครื่องมือตัวไหนก็ตาม อันดับแรกคือเราต้องถามตัวเองจริงๆว่า เป้าหมายในการลงทุนนั้นคืออะไร เราจะเลือกสินทรัพย์แบบไหนที่ได้ประโยชน์เป็นที่น่าพอใจ และเรามั่นใจที่จะทำตามเป้าหมายนั้นได้หรือเปล่า


เพราะกองทุนลดหย่อนภาษีที่เราเลือกใช้อย่าง RMF อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์แค่เป้าหมายเกษียณอย่างเดียวก็ได้ ถ้าหากเราเรียนรู้ที่จะปรับใช้ให้ตรงกับเป้าหมายชีวิตที่เรามีนั่นเองครับ 

 

อ่านบทความอื่นๆของ พรี่หนอม ถนอม เกตุเอม ได้ที่นี่ 

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

 

ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

SPOTLIGHT