การเงิน

ถอดบทเรียนเรื่องเงินจากซีรีส์ : รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ และ ‘รู้สึก’

11 ส.ค. 65
 ถอดบทเรียนเรื่องเงินจากซีรีส์ : รู้หา รู้เก็บ รู้ใช้ และ ‘รู้สึก’

ระหว่างที่ใช้เวลาดูซีรีส์เกาหลีหลายๆ เรื่องในช่วงที่ผ่านมา ค้นพบว่า ในหลายๆ เรื่องที่ดู ถึงแม้จะไม่ได้เป็นเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจ หรือเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรง แต่ละครเกาหลีก็มักจะมีมุมเรื่องการเงินซ่อนอยู่เสมอ จะซ่อนแบบจงใจบ้าง หรือไม่จงใจบ้างเท่านั้น ถ้าใครเคยดูซีรีส์ที่โด่งดังอย่าง Squid Game ที่สามารถเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำได้ถึง 3 รางวัล และคว้ามาได้ 1 รางวัลในสาขานักแสดงสมทบชาย ประเภทรายการโทรทัศน์ จะเห็นการตีแผ่ปัญหา “หนี้สิน” ของครัวเรือนเกาหลีใต้แบบตรงไปตรงมา ทั้งหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ

 

Squid Game ขยี้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของเกาหลีใต้ที่สูงที่สุดในโลก (ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 อยู่ที่ 104.2% ของจีดีพี) ด้วยการตอกย้ำว่า เมื่อชีวิตที่เต็มไปด้วยหนี้มันไม่มีทางให้เลือกเดินแล้ว การแลกชีวิตกับเงินเดิมพันจำนวนมหาศาลในเกมส์ ก็ถือเป็นทางเลือกที่ควรลองไม่ใช่หรือ? หนำซ้ำยังตีแผ่ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นคนเก่ง เรียนจบจากมหาวิทยาลัยโซล หรือคนที่ไม่โอกาสทางการศึกษา ก็สามารถมีปัญหา “หนี้สิน” แบบแก้ไม่ตกได้ ไม่ต่างกัน

 

 squidgame



ประเด็นนี้คล้ายๆ กับซีรีส์อีกเรื่องที่แฟนซีรีส์คงไม่พลาด นั่นคือ Our Blues ที่ถึงแม้จะไม่ได้พูดเรื่อง “เงิน” โดยตรง เพราะเป็นซีรีส์ที่เน้นเรื่องราวชีวิตของผู้คนบนเกาะเชจู  แต่เพียงแค่ตอนแรกของซีรีส์เรื่องนี้ก็ตีแสกหน้าเรื่องพฤติกรรมการใช้เงินได้อย่างตรงจุด

 

ในอีพีแรกของซีรีส์ Our Blues เริ่มต้นด้วยหายนะทางการเงินของ “ชเวฮันซู” (รับบทโดยนักแสดง “ชาซึงวอน”) ผู้จัดการสาขาของธนาคารเอสเอส ที่ได้กลับไปดูแลสาขาที่เกาะเชจู ซึ่งเป็นบ้านเกิด แม้ว่า พื้นฐานครอบครัวจะยากจน แต่เขาสามารถเรียนจบปริญญาจากมหาวิทยาลัยในกรุงโซล ทั้งความรู้ความสามารถและหน้าที่การงานของเขา น่าจะเป็นหลักที่มั่นคงให้กับครอบครัวได้ แต่เพราะความข้นแค้นในวัยเด็กทำให้เขาชดเชยความฝันที่หายไปของตัวเอง ด้วยการพยายามทำความฝันของลูกสาวเพียงคนเดียวที่อยากเป็น “โปรกอล์ฟ” ให้เป็นจริง


 our-bluese

 

 

“ฮันซู” ส่งลูกสาวและภรรยาไปในชีวิตในสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล เขาเริ่มหยิบยืมเงินจากเพื่อนๆ ขณะที่ภรรยาและลูกต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แม้ว่าทั้งสองคนยืนยันที่ละทิ้งความฝันและเดินทางกลับเกาหลี แต่ผู้เป็นพ่อก็ยังคงดึงดันที่จะให้ลูกสาวทำฝันของเธอให้สำเร็จ

 

ความพยายามอย่างถึงที่สุดของ “ชเวฮันซู” เกือบจะทำลายครอบครัว และทำลายมิตรภาพระหว่างเขากับ “จองอึนฮี” (อีจองอึน) เพื่อนสมัยเรียนมัธยม ที่ไม่มีโอกาสเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย เธอเป็นแม่ค้าปลาในตลาด ที่ขยันทำงานอย่างหนักจนกิจการรุ่งเรือง สามารถขยายสาขา และสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ในเกาะเชจูไว้ได้อีกหลายแห่ง


ความแตกต่างทางการเงินระหว่างผู้จัดการสาขาธนาคาร “ชเวฮันซู” ที่หนี้สินล้นพ้นตัว กับแม่ค้าปลา “จองอึนฮี” ผู้มั่งคั่ง สะท้อนว่า การศึกษาที่สูงกว่า ไม่ได้แปลว่า คนๆ นั้นจะประสบความสำเร็จทางการเงินเสมอไป เพราะในขณะที่ “ฮันซู” มุ่งหวังเพียงแค่ต้องการให้ฝันของลูกเป็นจริง ซึ่งแน่นอนว่า ในฐานะนักกอล์ฟมืออาชีพจะสามารถสร้างรายได้มหาศาลในอนาคต แต่เขาไม่ยอม “จำกัดความเสี่ยง” จากการลงทุนเพื่อสานฝัน รวมถึงไม่ยอมรับความเป็นไปไม่ได้ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ และไม่ยอม “ยุติผลขาดทุน” จากการลงทุน ซึ่งยิ่งทำให้ชายหนุ่มถลำลึกอยู่กับ “กับดักหนี้”

 ourblues2




ขณะที่การใช้เงินของ “อึนฮี” ที่มีความรู้เพียงแค่ชั้นมัธยมฯ แต่เธอกลับใช้ “ความรู้สึก” บริหารจัดการมันอย่างคุ้มค่า เป็นความรู้สึกจากความเหน็ดเหนื่อยในการหาเงิน ความรู้สึกว่าเงินเป็นของหายาก เป็นแค่ “ความรู้สึก” ที่ไม่ต้องใช้ความรู้อะไรเลย แต่ทำให้เธอมีเงินฝากบัญชีมากถึง
1,290 ล้านวอน หรือเกือบๆ 35 ล้านบาท !

 

ถ้าจะถอดบทเรียนเรื่องเงินจาก Our Blues ก็คงมีเพียงแค่ “ทำงาน” เพื่อหารายได้ รู้จักเก็บ และเมื่อต้องการจะใช้หรือลงทุนขยายดอกผล ก็ต้องใช้อย่างรู้คุณค่าของเงิน คิดให้รอบคอบ หรือถ้ามีความฝันที่อยากทำให้สำเร็จ ก็ต้องจำกัดความเสี่ยง เผื่อเหลือเผื่อขาดสำหรับโอกาสที่มันจะไม่สำเร็จ ยอมลดขนาดความฝันลง หรือยอมแพ้บ้างก็ได้

 

ขณะที่ซีรีส์อย่าง Record of Youth ซึ่งนักแสดง “พัคโบกอม” รับบทเป็น “ซาฮเยจุน” ชายหนุ่มที่พยายามสานฝันของตัวเองจากอาชีพนายแบบก้าวสู่การเป็นนักแสดง เขาใช้เวลาถึง 8 ปีในการแสวงหาโอกาสโดยที่ครอบครัวที่มีฐานะปานกลางและมีภาระหนี้ก้อนโตไม่สามารถสนับสนุนอะไรได้เลย จนเมื่อเขาประสบความสำเร็จเป็นนักแสดงระดับซูเปอร์สตาร์ มีรายได้มหาศาล สามารถใช้ชีวิตหรูหราได้ แต่เขากลับเลือกที่จะบริหารจัดการเงินที่หามาได้ด้วยใช้หนี้ของครอบครัวเป็นอย่างแรก และตัดสินใจซื้อบ้านหลังเดิมที่ครอบครัวอาศัยอยู่ ใช้เงินอีกไม่มากสำหรับต่อเติมและซ่อมแซมบ้านใหม่

 

เมื่อพี่ชายถามว่า “ทำไมเราถึงไม่ซื้อบ้านใหม่ในย่านคนรวย” เขาตอบแค่ว่า “ถ้าซื้อแพงกว่านี้ ก็ต้องกู้เงิน และสุดท้ายบ้านเราก็จะเป็นหนี้เหมือนเดิม”

 record_of_youth



การเคลียร์หนี้ให้จบเป็นอย่างแรก ใช้เงินที่มีอย่างคุ้มค่า ไม่ก่อหนี้เพิ่ม และสมาชิกในบ้านทุกคนยัง “ทำงาน” หารายได้อย่างต่อเนื่อง ในซีรีส์
Record of Youth นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนเรื่องเงินจากซีรีส์ที่แอบซ่อนไว้อย่างน่าสนใจ

 

วันนี้ชวนดูหนังดูละคร (ดูซีรีส์) แล้วย้อนดูเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ต้องใช้ความรู้ทางการเงินมากมาย แค่ใช้ความ “รู้สึก” ว่า เงินทองมันหายาก ใช้ให้ดี ใช้ให้พอ และใช้ให้คุ้มค่า เท่านั้นเองค่ะ

ขวัญชนก วุฒิกุล

ขวัญชนก วุฒิกุล

ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ

advertisement

SPOTLIGHT