การเงิน

กูรู KAsset แนะวิธีลงทุนปี 2024 โลกเปลี่ยน ดอกเบี้ยสูง ปรับพอร์ตอย่างไรให้รอด?

6 ก.ย. 66
กูรู KAsset แนะวิธีลงทุนปี 2024 โลกเปลี่ยน ดอกเบี้ยสูง ปรับพอร์ตอย่างไรให้รอด?

กูรูลงทุนชี้ ตลาดทุนโลกกำลังเปลี่ยนแปลงจากการย้ายฐานผลิต ภาวะเงินเฟ้อ ภาวะโลกร้อน สังคมผู้สูงอายุ และการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ แต่ทุกการเปลี่ยนแปลงมีโอกาส แนะเลือกลงทุนตามสถานการณ์ เน้นภาคเทคโนโลยี การแพทย์ ธุรกิจสีเขียว ที่กำลังมีศักยภาพเติบโตและทำกำไรสูงจากเทรนด์การเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 1 กันยายน บลจ.กสิกรไทย ได้จัดงานสัมมนา KAsset Investment Forum : ปรับพอร์ตรับโลกเปลี่ยน 2024 ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ เพื่อรวบรวมความเห็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจโลก พร้อมแนวโน้มในอนาคตสำหรับการวางแผนการลงทุน ซึ่งได้รับเกียรติจากกูรูด้านการลงทุนและจัดการสินทรัพย์มากมายที่มาแบ่งปันความรู้ในงาน อาทิ 

  • ดร.ภากร ปีตธวัชชัย ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
  • ดร.เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารโลก
  • นาย วจนะ วงศ์ศุภสวัสดิ์, CFA รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย 
  • คุณ Tai Hui Managing Director Chief Market Strategist, Asia Pacific จาก J.P. Morgan Asset Management
  • คุณ Elaine Wu Managing Director, APAC Head of Sustainable Investment Research จาก Blackrock Investment Institute
  • นางสาว มทินา วัชรวราทร, CFA ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย

kassetinvestmentforum2023

ในบทความนี้ ทีม SPOTLIGHT จึงอยากนำความรู้และคำแนะนำจากเหล่าผู้รู้มาแบ่งปันกัน ว่าในครึ่งปีหลังของปี 2023 และปี 2024 นักลงทุนจะต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลง หรือความท้าทายด้านใดบ้าง และควรจะลงทุนอย่างไร จึงจะได้ผลตอบแทนที่ดีและเอาตัวรอดจากความผันผวนในอนาคตไปได้

 

เศรษฐกิจเปลี่ยนเร็ว จากความท้าทาย 4 ปัจจัยหลัก

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัดกล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับในแต่ละประเทศแกนหลักของโลกต่างก็ให้ภาพจังหวะการฟื้นตัวที่แตกต่างกัน โลกของการลงทุนจึงต้องปรับตัวให้ทันกับความท้าทายที่โลกต้องเผชิญใน 4 เรื่องหลัก ได้แก่ 

  1. การทวนกระแสโลกาภิวัตน์ (Deglobalization) ซึ่งเกิดจากการที่ประเทศใหญ่ๆ ในโลกเริ่มย้ายฐานการผลิตกลับประเทศตัวเอง เกิดความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศทำให้เกิดการกีดกันทางการค้า 
  2. ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่างๆ (Uncertainty) ดังที่จะเห็นได้จากจังหวะของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศ รวมไปถึงสภาวะเงินเฟ้อที่ถึงแม้ดอกเบี้ยนโยบายจะถูกปรับให้สูงแล้ว แต่ก็ยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร และยังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่
  3. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Global Heating) ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และความมั่นคงด้านอาหารของคนทั่วโลก ทำให้เทรนด์การลงทุนในธุรกิจที่ยึดถือหลัก ESG หรือ เทคโนโลยีที่จะช่วยลดผลกระทบจากสภาพอากาศ ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น
  4. สังคมสูงวัยขยายตัว (Silver Gen) ที่จะทำให้โครงสร้างประชากรแต่ละประเทศเปลี่ยนไป ส่งผลต่อ productivity ของประเทศ และอาจทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับการแพทย์ การดูแลผู้สูงอายุ หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนได้รับความสนใจ และมีมูลค่าสูงมากยิ่งขึ้น รวมไปถึงเกิดการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยในการดูแลผู้สูงอายุที่กำลังจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

ความท้าทายทั้ง 4 ประการนี้ทำให้นักลงทุนมีโอกาสและจังหวะในการลงทุนในหุ้นและสินทรัพย์ในแต่ละตลาดไม่เหมือนกัน ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องพิจารณาให้ดีว่าแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อหุ้นที่เรากำลังถือ หรือจะเข้าไปถืออย่างไรบ้าง รวมไปถึงกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่กำลังถือให้เหมาะสม เพราะเหตุการณ์ในโลกเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็ว หากเทไปที่ตลาดใดตลาดหนึ่งจะทำให้ถ้าเสียจะเสียหายหนัก

995154

 

เงินเฟ้อยังลงไม่พอ ดอกเบี้ยค้างนาน แต่ไม่น่าเกิด recession

ในปัจจุบัน ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าหลายๆ ประเทศในโลกผ่านช่วงพีคของเงินเฟ้อมาแล้ว หลังจากธนาคารทั่วโลกมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นเพื่อลดภาวะเงินเฟ้อซึ่งเกิดทั้งจากการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19, pent-up demand ที่เกิดระเบิดขึ้นหลังจากมีการเปิดประเทศ และสงครามรัสเซียยูเครนที่ดันราคาพลังงานให้สูงขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ดร.เกียรติพงศ์ เผยว่า ถึงแม้จะผ่านจุดที่เลวร้ายที่สุดมาแล้ว ในปัจจุบันเงินเฟ้อก็ยังเป็นปัญหา เพราะระดับเงินเฟ้อในปัจจุบันก็ยังสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลางตั้งไว้ราว 2% ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกน่าจะ stay high for longer คือคงดอกเบี้ยนโยบายที่สูงในปัจจุบันนี้ไว้จนกว่าเงินเฟ้อจะลงไปต่ำกว่าระดับที่ต้องการ 

โดยจากข้อมูลของ นาย วจนะ การที่ภาวะเงินเฟ้อยังคงระดับสูงอยู่ ไม่ลงไปอย่างที่คิดนี้ เป็นเพราะถึงแม้จะมีการปรับดอกเบี้ยนโยบายให้สูงขึ้น เศรษฐกิจในประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐ ก็ยังคงเติบโตค่อนข้างดีอยู่ ดังจะเห็นได้จากอัตราการว่างงานที่อยู่ที่เพียง 3.5% ซึ่งเท่ากับระดับก่อนโควิด ซึ่งแปลว่าคนส่วนมากยังมีงานทำ และยังมีกำลังจับจ่ายใช้สอยในระดับสูงอยู่ ในขณะที่ราคาพลังงานและสินค้าก็ยังสูงเพราะสงครามรัสเซียยูเครนยังไม่สงบ และซัพพลายเชนยังถูก disrupt ทำให้ในปัจจุบันโลกยังมีดีมานด์สูง ในขณะที่ซัพพลายต่ำ ซึ่งเป็นสภาวะที่ทำให้ราคาสินค้าต่างๆ สูงขึ้น

ทั้งนี้ นี่ก็ไม่ได้หมายความว่านักลงทุนจะไม่มีโอกาสลงทุน เพราะหลังจากธนาคารกลางหยุดการขึ้นดอกเบี้ยแล้ว เศรษฐกิจมักจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุล ทำให้ตลาดมีเซนทิเมนต์ที่ดีขึ้น โดยจากสถิติของ KAsset หลังจากเฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย 3-6 เดือน ผลตอบแทนจากการลงทุนจะเพิ่มขึ้นถึง 7-15% เลยทีเดียว

นอกจากนี้ คุณวจนะ และ ดร. เกียรติพงศ์ ยังมองว่าประเทศต่างๆ ไม่น่าจะเข้าสู่ recession เพราะรัฐบาลแต่ละประเทศยังมีพื้นที่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อยู่ แม้แต่สหรัฐฯ ที่มีคนคาดว่าน่าจะเจอเศรษฐกิจถดถอยก็ยังเติบโต เพราะว่าบริษัทเทคโนโลยียังทำรายได้และกำไรได้ดี คนก็ยังมีงานทำ มีกำลังใช้จ่ายพยุงเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ 

 

ดูข้อมูลเจาะเซกเตอร์ที่ทำผลงานดี อย่ามองแต่ภาพรวม

ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมาจะมีความกลัวว่าเศรษฐกิจจะซบเซา และดูเหมือนว่าเศรษฐกิจโลกในภาพรวมจะยังเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้ง ดร. ภากร และ คุณ Elaine Wu แนะนำว่านักลงทุนควรมีความเฉพาะเจาะจง มองข้อมูลในเชิงลึก เจาะเซกเตอร์ที่จะได้ประโยชน์จากเทรนด์การเปลี่ยนแปลงใหญ่ในอนาคตต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ การ deglobalization การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด และการเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุในโลก

ดร. ภากร กล่าวว่า ถึงแม้เศรษฐกิจไทยในภาพรวมจะฟื้นตัวและเติบโตในระดับไม่สูงนัก คือประมาณ 3% เพราะยอดการส่งออกที่ลดลง และการที่นักท่องเที่ยวบางประเทศยังไม่กลับมา ก็มีบางเซกเตอร์ที่ฟื้นตัวขึ้นดีเหนือเซกเตอร์อื่น ไปสู่ระดับก่อนโควิดแล้วเช่น เซกเตอร์เทคโนโลยี ที่สามารถให้ผลตอบแทน และปรับตัวขึ้นได้ในทุกเหตุการณ์ 

ดังนั้นเวลาจะลงทุน นักลงทุนต้องดูข้อมูลแบบเจาะลึก ไม่ดูแค่ aggregate number หรือตัวเลขรวมที่ไม่บ่งบอกเทรนด์อะไร ซึ่งอาจจะทำให้พลาดสินทรัพย์หรือหุ้นในเซกเตอร์ที่มีศักยภาพในการผลตอบแทนสูงในช่วงนั้นๆ ได้

screenshot2023-09-06083952

โดยในอนาคต ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมองว่าธุรกิจที่มีศักยภาพสูงและน่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคตคือ หุ้นในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า การแพทย์ และการท่องเที่ยวแบบใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจ well-being ซึ่งรวมไปถึงธุรกิจท่องเที่ยว อาหาร การแพทย์การรักษา ซึ่งจะเป็นตัวทำรายได้ กำไร และสร้างภาษี เปิดโอกาสให้รัฐบาลหาเงินทุนงบประมาณไปอัดฉีด และพัฒนาอุตสาหกรรมหรือธุรกิจที่มีความซับซ้อน และสร้างรายได้ได้มากกว่านี้ได้

นอกจากนี้ แนวคิดนี้ยังสอดคล้องกับแนวคิดของคุณ Elaine Wu ที่มองว่านักลงทุนในสมัยปัจจุบันต้องรู้จักวางกลยุทธ์ (tactical) มีความยืดหยุ่น (nimble) ปรับเปลี่ยนการลงทุนของตัวเองให้เหมาะกับสถานการณ์อยู่เสมอ และมีความเฉพาะเจาะจง (granular) คือเน้นเจาะธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากเทรนด์การเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ได้ผลตอบแทนสูงสุด 

โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใหญ่ หรือ mega forces ของ Blackrock มีทั้งหมด 5 ประการด้วยกันคือ 1. ปัญญาประดิษฐ์ 2. การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดหรือพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ 3. ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ 4. การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุ และ 5. การเปลี่ยนแปลงในภาคการธนาคาร

เน้นลงทุนแบบหลากหลาย กระจายความเสี่ยง

จากข้อมูลภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนรวมของไทย KAsset พบว่า นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่ในสินทรัพย์บางประเภท ทำให้พอร์ตการลงทุนมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนจากการเทน้ำหนักไปที่สินทรัพย์ใดสินทรัพย์หนึ่งมากจนเกินไป แม้สินทรัพย์ประเภทนั้นจะมีความเสี่ยงที่น้อย หรือ อยู่ในระดับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนยอมรับได้ก็ตาม 

ดังนั้น ในความเห็นของ K Asset พอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมจึงควรแบ่งสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 

ส่วนที่ 1 : Core Portfolio เน้นลงทุนระยะยาวแบบ asset allocation ประมาณ 70%-80% ของพอร์ต โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกกองทุนเพื่อจัดพอร์ตเองได้ เป็นหุ้นต่างประเทศ หุ้นในประเทศ ตราสารหนี้ และอื่นๆ หรือสามารถลงทุนในกองทุนผสม ซึ่งมีนโยบายกระจายการลงทุนในหลากหลายประเภทสินทรัพย์อยู่แล้ว อาทิ K-GA,  K-GINCOME, K-PLAN2, K-PLAN3 และ Wealth PLUS 

ส่วนที่ 2 : Satellite Portfolio เน้นลงทุนระยะสั้นแบบจับจังหวะตลาด (market timing) ประมาณ 20%-30% ของพอร์ต โดยผู้ลงทุนสามารถเลือกกองทุนได้ตามสถานการณ์การลงทุนในเวลานั้นเพื่อเพิ่มโอกาสทำกำไร ไม่ว่าจะเป็นกองทุนตามประเทศ หรือตามธีมการลงทุน

screenshot2023-09-06084030

สำหรับการลงทุนตามประเทศ ตลาดที่ KAsset มองบวกเป็นพิเศษ คือ ตลาดสหรัฐฯ และตลาดอินเดีย 

โดยจากข้อมูลโดยคุณ มทินา ตลาดสหรัฐฯ มีความน่าสนใจเนื่องจากภาคส่วนเทคโนโลยียังมีความแข็งแรง ดูได้จากรายได้และกำไรที่ยังเพิ่มขึ้น รวมไปถึงความสามารถในการฟื้นตัวทั้งในแง่การจ้างงาน และการบริโภคถึงแม้จะเจอภาวะเงินเฟ้อ และดอกเบี้ยที่สูง 

ขณะที่ตลาดอินเดียน่าสนใจเพราะ ถึงแม้จะมีราคาสูงจนทำให้นักลงทุนบางรายไม่อยากไปลงทุน อินเดียก็มีข้อได้เปรียบเหนือประเทศอื่นๆ ในด้านโครงสร้าง ทั้งด้านประชากรที่กำลังเพิ่มขึ้นในขณะที่ประเทศอื่นลดลง และหนี้สาธารณะและครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ทำให้รัฐบาลมีพื้นที่ทางการคลังในการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกมาก

นอกจากนี้ บริษัทอินเดียยังมีศักยภาพในการทำกำไร และให้ผลตอบแทนที่สูง โดยจากสถิติให้ผลตอบแทนมากกว่าทั้งหุ้นอเมริกา จีน และไทย โดยเฉพาะหุ้นธนาคาร เพราะถ้าหากเศรษฐกิจดี กิจการธนาคารก็มักจะดีตามไปด้วย เพราะสะท้อนว่ามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมาก ในฐานะที่ธนาคารเป็นทั้งแหล่งเก็บและแจกจ่ายเงินทุนให้บุคคลและธุรกิจในประเทศ 

screenshot2023-09-06084052

 

advertisement

SPOTLIGHT