การเงิน

สรุปประเด็นหุ้นกลุ่ม JMART เจอแรงเทขาย สูญมูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท

20 ก.พ. 66
สรุปประเด็นหุ้นกลุ่ม JMART เจอแรงเทขาย สูญมูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท

ในวงการหุ้นตอนนี้คงไม่มีหุ้นกลุ่มไหนร้อนแรงกว่าหุ้นกลุ่ม JMART ที่ถูกเทขายจนราคาร่วง มูลค่าตลาดเสียหายรวมกัน 5 บริษัทกว่า 66,000 ล้านบาท หลัง กลต. ออกมารายงานเมื่อวันที่ 17 ก.พ. ว่า 2 ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ JMART คือ นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา และยุวดี พงษ์อัชฌา ภรรยา ขายหุ้นกว่า 54 ล้านหุ้น มูลค่ารวม 1,459 ล้านบาท ให้กับนักลงทุนสถาบัน 

โดยในเบื้องต้น สาเหตุของการขายหุ้นมาจากการที่นายอดิศักดิ์ถูก Margin Call และต้องเร่งขายหุ้นเพื่อนำเงินสดมาวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติมให้กับบริษัทหลักทรัพย์ เพราะบัญชีซื้อขายหุ้นของนายอดิศักดิ์มีมูลค่าหลักประกันต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

เกิดอะไรขึ้น? Margin Call คืออะไร? ทำไมหุ้นในกลุ่ม JMART ถึงปรับตัวลงตามข่าว? และในตอนนี้สถานการณ์ทางการเงินของ JMART เป็นอย่างไร? ทีมข่าว Spotlight สรุปมาให้อ่านกัน

 

ทำไมหุ้น JMART จึงลงยกแผง?

การปรับตัวลงของหุ้นกลุ่ม JMART เกิดขึ้นจากการที่นักลงทุนเกิดความกังวลที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือ นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารสูงสุดของ JMART และภรรยา ขายหุ้นล็อตใหญ่กว่า 54 ล้านหุ้น ให้กับนักลงทุนสถาบัน เพราะนายอดิศักดิ์ติด Margin Call และต้องการเงินสดเข้าไปเพิ่มในบัญชีส่วนตัว 

โดยตามความหมายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย Margin Call คือการที่บริษัทหลักทรัพย์เรียกให้ลูกค้านำเงินสดมาวางเป็นหลักประกันเพิ่มเติม เพื่อให้มูลค่าหลักประกันของลูกค้า เมื่อไปเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ใน Margin Account ของลูกค้าคิดเป็นอัตราส่วนไม่ต่ำกว่าเกณฑ์วางเงินหลักประกัน ( Maintenance Margin Rate) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าของบัญชีซื้อหุ้นโดยวิธีกู้ยืมจากโบรกเกอร์ ไม่ได้ออกเงินของตัวเอง 100% และเมื่อราคาหุ้นที่ถือลดต่ำลง มูลค่าหลักประกันก็จะลดลง ทำให้เจ้าของบัญชีต้องหาเงินมาโปะเพิ่มให้ในบัญชีมีหลักประกันในอัตราที่กำหนด

ซึ่งเมื่อเห็นแบบนี้แล้ว จึงไม่น่าแปลกใจที่นักลงทุนรายย่อยจะเกิดแตกตื่นขึ้นมา เมื่อผู้บริหารบริษัทที่ตัวเองถือหุ้นอยู่โดน Margin Call เพราะมันบ่งบอกว่าเขากำลังประสบปัญหาด้านการเงิน

อย่างไรก็ตาม JMART และนายอดิศักดิ์ได้ออกมาชี้แจงกับสื่อแล้วว่าการซื้อขายหุ้นดังกล่าวเป็นไปเพื่อแก้ไขปัญหาส่วนตัว และไม่มีความเกี่ยวข้องกับ JMART และจะไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารงาน หรือโครงสร้างการจัดการของบริษัท และยืนยันว่า JMART ยังเป็นบริษัทที่มีความมั่นคงด้านการเงิน และตนเองจะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ JMART อยู่

โดยหลังจากขายหุ้นไปแล้ว ปัจจุบันสัดส่วนการถือหุ้น JMART ของนายอดิศักดิ์ ลดลงจาก 13.41% เหลือสัดส่วน 12.45% เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ในขณะที่สัดส่วนการถือหุ้นของนางสาวยุวดี พงษ์อัชฌาลดลงจาก 7.61% เหลือสัดส่วน 4.86%

ในส่วนของพอร์ตหุ้นส่วนตัว ปัจจุบันนายอดิศักดิ์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ 3 บริษัทคือ

  1. บมจ. เจ มาร์ท หรือ JMART ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 จำนวน 192,971,116 หุ้น หรือ 13.53%
  2. บมจ. กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง หรือ GUNKUL ถือหุ้นใหญ่อันดับ 4 จำนวน 166,684,500 หุ้น หรือ 1.88%
  3. บมจ. เจเอเอส แอสเซ็ท หรือ J ถือหุ้นใหญ่อันดับ 8 จำนวน 9,468,913 หุ้น หรือ 1.01%

 

เปิดอาณาจักร JMART และงบการเงินล่าสุด

บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2531 โดยคุณอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา และนางสาวยุวดี พงษ์อัชฌา โดยเริ่มแรกขายเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบผ่อนชำระ 

ปัจจุบัน บริษัทมีสถานะเป็นโฮลดิ้ง คอมพานี หรือประกอบธุรกิจลงทุนในธุรกิจอื่น 6 แห่ง และบริษัทร่วมทุน 1 แห่งโดยมีธุรกิจหลักของบริษัทแกนคือ จำหน่ายทั้งค้าปลีกและค้าส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่หลักทุกรายและผู้ให้บริการเครือข่าย และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง

ในปี 2565 บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) มีรายได้รวม 14,741.59 บาท กำไรสุทธิ 1,794.96 ล้านบาท ลดลง 27% จาก 2,467.59 ล้านบาทเมื่อปี 64 แต่สามารถพลิกมามีกำไรมาตลอดตั้งแต่ปี 62 

จากข้อมูลของตลาดหลักทรัพย์ ณ เวลา 12.30 น. วันที่ 20 ก.พ. บริษัทที่เป็นบริษัทมหาชนภายใต้การควบคุมของ JMART 5 บริษัทมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 136,549.55 ล้านบาท ลดลง 66,518.48 บาท เมื่อเทียบกับมูลค่าตลาดในช่วงปลายปี 2565 การเคลื่อนไหวของมูลค่าตลาดและหุ้นรายบริษัทเป็นดังนี้

1. บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT

มูลค่าตลาดวันที่ 20 ก.พ. อยู่ที่ 66,756.48 ล้านบาท ลดลง 33,924.79 ล้านบาทจาก 100,681.27 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 65

ราคาหุ้นปิดการซื้อขายช่วงเช้าวันที่ 20 ก.พ. ที่ 46.75 บาทต่อหุ้น ลดลง -30.74% จากต้นปี

2. บริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART 

มูลค่าตลาดวันที่ 20 ก.พ. อยู่ที่ 39,711.96 ล้านบาท ลดลง 18,436.35 ล้านบาทจาก 58,148.31 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 65

ราคาหุ้นปิดการซื้อขายช่วงเช้าวันที่ 20 ก.พ. ที่ 29 บาทต่อหุ้น ลดลง -29.27% จากต้นปี

3. บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SINGER

มูลค่าตลาดวันที่ 20 ก.พ. อยู่ที่ 14,226.52 ล้านบาท ลดลง 9413.64 ล้านบาทจาก 23,640.16 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 65

ราคาหุ้นปิดการซื้อขายช่วงเช้าวันที่ 20 ก.พ. ที่ 19.70 บาทต่อหุ้น ลดลง -30.88% จากต้นปี

4. บริษัท เอสจี แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SGC

มูลค่าตลาดวันที่ 20 ก.พ. อยู่ที่ 11,772.00 ล้านบาท ลดลง 4447.2 ล้านบาทจาก 16,219.20 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 65

ราคาหุ้นปิดการซื้อขายช่วงเช้าวันที่ 20 ก.พ. ที่ 3.66 บาทต่อหุ้น ลดลง -22.46% จากต้นปี

5. บริษัท เจเอเอส แอสเซ็ท จำกัด (มหาชน) หรือ J

มูลค่าตลาดวันที่ 20 ก.พ. อยู่ที่ 4,082.59 ล้านบาท ลดลง 296.5 ล้านบาทจาก 4,379.09 ล้านบาทเมื่อสิ้นปี 65

ราคาหุ้นปิดการซื้อขายช่วงเช้าวันที่ 20 ก.พ. ที่ 3.64 บาทต่อหุ้น ลดลง -2.67% จากต้นปี 

เชื่อว่า หลังจากมีประเด็นข่าวร้อนตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จากนี้ไปนักลงทุนน่าจะจับตาความเคลื่อนไหวของ JMART อย่างใกล้ชิดต่อไป


อีกหุ้นร้อน 'DELTA' บริษัทที่มูลค่าหุ้นสูงที่สุดในประเทศไทย 

ส่วนอีก 1 บริษัทที่เป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องมานานหลายปี ก็คือหุ้นของบริษัทบริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA เนื่องด้วยราคาหุ้นที่ร้อนแรงไม่หยุด เฉียด 1,000 บาท/หุ้นมาแล้วหลายรอบ 

ล่าสุดหุ้น DELTA ปิดการซื้อขายช่วงเช้าในราคาถึง 958 บาท/หุ้น ขึ้นมา 3.01% จากช่วงต้นปี รับผลประกอบการปี 65 ที่บริษัททำรายได้ไปรวมถึง 119,501.16 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 15,344.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 129% จากกำไรในปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 6,699.01 ล้านบาท

สำหรับเทรดเดอร์ทั่วไป เป็นที่รู้กันว่าหุ้น DELTA เป็นหุ้นที่มีความผันผวนสูง และมีความเสี่ยงถูกปั่นราคาได้ง่ายเพราะมีจำนวนหุ้นที่ถือโดยนักลงทุนทั่วไป หรือ Free Float เพียง 22.35% ซึ่งเท่ากับว่าหุ้นที่ถูกซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ตอนนี้มีจำนวนน้อย ทำให้นักลงทุนรายใหญ่สามารถใช้เงินกว้านซื้อแล้วดันให้ราคาสูงขึ้นได้ง่าย

ในเริ่มแรก หุ้น DELTA ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัทในเครือของ Delta Electronics, Inc. จากประเทศไต้หวัน ก็เป็นหุ้นธรรมดาที่ไม่ได้มีความหวือหวาเป็นพิเศษ โดยได้เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2538 ในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี หมวดธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ด้วยราคาเปิดการซื้อขายที่ 74 บาท/หุ้น และมีการซื้อขายในระดับ 40-70 บาทมาตลอด

อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 ราคาหุ้นของ DELTA ก็เริ่มดีดตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ จากที่ไม่เคยทะลุระดับ 100 บาทได้ ก็พุ่งไปจบที่จุดสูงสุดของปีเลยที่ราคา 838 บาท/หุ้น ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่ามีสาเหตุมาจากการที่หุ้น DELTA มี Free Float น้อย ประกอบกับมีการเติบโตในการธุรกิจ ทำให้เกิดการเก็งกำไร ดันราคาจนมูลค่าตลาดของ DELTA สูงพอผ่านเกณฑ์สำหรับถูกใช้คำนวณในดัชนี เช่น SET50 ทำให้กองทุนรวมดัชนีหุ้น หรือ Index Fund ต้องนำเงินมาซื้อหุ้นเหล่านี้ และทำให้ปริมาณหุ้นในตลาดลดน้อยลงไปอีก

ในช่วงปี 2563 ถึงปัจจุบัน ราคาหุ้น DELTA มีความผันผวนตลอดเวลา โดยเคยลงไปแตะ 286 บาทในปี 2564 ก่อนขึ้นมาใหม่ถึงระดับ 700-800 บาทในปีเดียวกัน และลงไปถึง 300-400 บาท ในปี 2565 สวิงขึ้นมาในช่วง 800-900 บาทในปีเดียวกัน ก่อนขึ้นมาแตะจุดสูงสุดที่ 990 บาทในช่วงต้นปี 2566

ซึ่งแม้จะยังไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้หุ้น DELTA ดีดตัวขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีนี้คืออะไร แต่การเคลื่อนไหวของหุ้นในระดับนี้ย่อมถูกเพ่งเล็งจากหน่วยงานด้านกฎหมายและนักวิเคราะห์ต่างๆ ซึ่งต่างก็วิเคราะห์ว่าปัจจัยที่ทำให้หุ้น DELTA มีความร้อนแรงนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นจำนวน free float การเก็งกำไร ผลการประกอบการ และแผนธุรกิจของ DELTA ที่เน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ EV ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในอนาคต

 

  • บริษัทหลักทรัพย์ PI แนะนำให้ขาย พบมูลค่าซื้อขายสูงกว่ามูลค่าพื้นฐาน

ทางด้านความเห็นจากนักวิเคราะห์ นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ PI แนะนำให้นักลงทุน "ขาย" เพราะพบมูลค่าซื้อขายสูงกว่ามูลค่าพื้นฐานซึ่งอยู่ที่ 434 บาท 

โดยนักวิเคราะห์คาดว่ากำไรปี 2566 ของ DELTA จะไม่โตเหมือนกับปี 2565 เพราะแรงหนุนในปีก่อนมาจากการเริ่มดำเนินงานโรงงานหน่วยที่ 7 ในไตรมาส ที่ 1 ของปี 2565 เพื่อรองรับธุรกิจพาวเวอร์ซัพพลายและระบบจัดการความร้อน ส่วนโรงงานที่ 8 ของบริษัทที่จะมาหนุนธุรกิจ EV คาดว่าเริ่มเดินเครื่องในช่วงท้ายปี 2566 ในภาพรวมนักวิเคราะห์จึงยังกังขาต่อการเติบโตของบริษัท และคาดว่ายอดขายปี 2023 จะโตเพียง 10% ปีต่อปี

นอกจากนี้ DELTA ยังอาจเผชิญแรงกระแทกจากการชะลอตัวในกลุ่มยานยนต์ในปีนี้ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนก้อนใหญ่ต่อรายได้รวมของบริษัท เพราะแค่ธุรกิจ EV ก็คิดเป็น 22% ของธุรกิจทั้งหมดของ DELTA แล้ว

 

jmart-delta1

 

ที่มา: Settrade 





advertisement

SPOTLIGHT