ไลฟ์สไตล์

เด็กไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากว่า 1.5 ล้านคน สถิติการฆ่าตัวตาย น่าเป็นห่วง

10 ต.ค. 66
เด็กไทยป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากว่า 1.5 ล้านคน สถิติการฆ่าตัวตาย น่าเป็นห่วง


istock-902516620ในปัจจุบันเราตื่นขึ้นมาท่ามกลางโลกที่มีแต่ความเครียด ทั้งเรื่องปัญหามลภาวะทางอากาศอย่าง PM 2.5 ปัญหาสุขภาพโรคระบาดอย่าง โควิด-19 ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ข้าวของอาหารแพง จากสงครามต่างๆ นี่ยังไม่รวมปัญหาส่วนตัวในเรื่องของครอบครัว การงาน และความสัมพันธ์

นอกจากการรักษาร่างกายให้แข็งแรง เพื่อเตรียมให้มีแรงสู้ในแต่ละวันแล้ว สุขภาพจิตมีความสำคัญไม่แพ้กัน เพราะจิตใจจะส่งผลต่อความคิด ความรู้สึก รวมถึงการรับมือกับความเครียดและปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต

เมื่อปัญหาทางจิต โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า กลายเป็นหนึ่งในโรคที่คนทั่วโลกต้องเผชิญเยอะสุดลำดับ 2 เป็นรองแค่เพียงโรคหลอดเลือดหัวใจ

องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันที่ 10 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day : WMHDAY) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ รณรงค์ให้ประชากรทั่วโลกตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิต และปัญหาการเจ็บป่วยทางจิต 

SPOTLIGHT พาทุกคนมารู้จักกับปัญหาสุขภาพจิต โรคที่หลายคนมองข้ามแต่เป็นโรคที่ส่งผลในการใช้ชีวิตมากที่สุดในสังคมปัจจุบัน

istock-1437852417_1

สุขภาพจิตในสังคมไทย

คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากว่า 1.5 ล้านคน

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการรายงานว่า ปัญหาสุขภาพจิตในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จำนวนผู้ป่วยทางจิตเวชเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า จาก 1.3 ล้านคนในปี 2558 เป็น 2.3 ล้านคน ในปี 2564 ขณะที่คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึง 1.5 ล้านคน

โรคซึมเศร้า ปัญหาใหญ่ที่ทำให้คนฆ่าตัวตาย

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้ามีอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น

  • ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในปี 2563 มีอยู่ 355,537 คน มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 5 - 6 รายต่อประชากรแสนคน
  • ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในปี 2564 เพิ่มเป็น 358,267 คน มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.38 รายต่อประชากรแสนคน

สถิติการฆ่าตัวตายของคนไทย  

องค์กร UNICEF ได้มีการรายงานผ่าน “การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ระบบและบริการสนับสนุนทางจิตใจ และจิตสังคมสำหรับเด็กและวัยรุ่นในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ฉบับประเทศไทย ปี 2565” ถึงอัตราการฆ่าตัวตายของเด็กไทย

  •  การฆ่าตัวตายของคนไทยน่าเป็นห่วงมาตั้งแต่ปี 2563 เนื่องจาก อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จทั้งประเทศพุ่งขึ้นถึง 7.8 ต่อแสนประชากร
  • ภูมิภาคที่มีการฆ่าตัวตายสูงที่สุด คือ ภาคเหนือ 10.9 ต่อแสนประชากร รองลงมา คือ ภาคอีสาน 8.5 ต่อแสนประชากร
  • ช่วงอายุ 13 – 17 ปี มีความคิดที่จะฆ่าตัวตายกว่า 17.6 %จากสถิติในปี 64

istock-1126822728_1อัตราการฆ่าตัวตายของเด็กไทย ในปี 2565

  • กลุ่มอายุ 5-9 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตาย ประมาณ 1 ใน 14 คน
  • กลุ่มอายุ10-19 ปี มีอัตราการฆ่าตัวตาย ประมาณ 1 ใน 7 คน

โควิด-19 ตัวกระตุ้นความเครียด

สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้มีการรายงานว่า การระบาดของโควิดนับว่าเป็นในแนวโน้มสำคัญ ที่กระทบต่อปัญหาสุขภาพจิตของคนไทย (สถิติสูงเทียบเท่ากับวิกฤตต้มยำกุ้ง)

  • ช่วงก่อนโควิด-19 อัตราการทำร้ายตัวเองอยู่ที่ 6 - 6.3 ต่อประชากร 1 แสนคน
  • ช่วงการระบาดของโควิด ตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็น 7.3-7.4 ต่อประชากร 1 แสนคน

โดยปัจจัยหลัก คือ ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว โดยเฉพาะสถานที่ทำงาน โรงเรียน รวมทั้งอาการสุขภาพกายและใจป่วยเรื้อรัง จากการใช้สุราและสารเสพติด รวมถึงภาวะเครียดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ

istock-1027693454

Check List สุขภาพจิตของเราที่อาจเปลี่ยนไป

เมื่อการป่วยทางจิต ไม่มีแผลให้เราสังเกตเห็นเหมือนการเจ็บป่วยทางร่างกาย เราเลยจำเป็นต้องสังเกตตัวเอง และเช็คตัวเองอยู่เสมอ

  • เช็กการนอนหลับ

 มีพฤติกรรมการนอนที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น นอนไม่หลับ นอนหลับยาก หรือนอนหลับมากเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานาน

  • เช็กอารมณ์ความรู้สึก

มีอารมณ์และนิสัยที่ต่างไปจากเดิมจนสังเกตได้ เช่น มีอารมณ์เศร้าง่าย หรือรู้สึกหงุดหงิดง่ายกว่าปกติจนส่งผลต่อชีวิตประจำวัน

  • เช็กความคิด

มีความคิดเชิงลบว่าตัวเองไร้ค่าหรือไม่ควรมีชีวิตอยู่ จากที่ไม่เคยระแวงอะไรมาก่อน ก็คิดว่าจะมีคนมาปองร้าย หรือทำร้าย

  • เช็กการทำงานของสมอง

ความจำเปลี่ยนแปลงไป ความสามารถในการคิดอ่านและการตัดสินใจลดลง เป็นสัญญาณอย่างหนึ่งของโรคทางจิตเวช

  • เช็กพฤติกรรม

จากเมื่อก่อนไม่ชอบออกไปข้างนอก ตอนนี้กลับออกไปข้างนอกตลอด ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยแบบไม่คิด หุนหันพลันแล่น ชอบทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง หรือจากที่เคยเป็นคนชอบเข้าสังคมอยู่ ๆ ก็กลายเป็นคนเก็บตัว

ที่มา Unicef

BHRC

 

advertisement

SPOTLIGHT