ไลฟ์สไตล์

งานวิจัยพบ PM 2.5 เพิ่มความเสี่ยงซึมเศร้า กระตุ้นให้อยากฆ่าตัวตายได้

1 ธ.ค. 65
งานวิจัยพบ PM 2.5 เพิ่มความเสี่ยงซึมเศร้า กระตุ้นให้อยากฆ่าตัวตายได้

หลายๆ คนอาจจะรู้อยู่แล้วว่าฝุ่น PM 2.5 เป็นอันตรายต่อ “สุขภาพกาย” เพราะมันสามารถทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำให้แสบจมูก ไอ มีเสมหะ ทำให้เกิดโรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง และในระยะยาวอาจทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ แต่แท้จริงแล้วฝุ่น PM 2.5 ยังร้ายได้ยิ่งกว่านั้น เพราะงานวิจัยล่าสุดชี้ว่ามันส่งผลต่อ “สุขภาพจิต” ทำให้ผู้สูดดมเสี่ยงเป็นซึมเศร้า และอาจเกิดความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายได้

istock-1201826345

งานวิจัยชิ้นนี้มีชื่อว่า “Air Quality and Suicide” เป็นงานที่ศึกษาความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในอากาศ กับ เหตุฆ่าตัวตาย ทั้งที่สำเร็จและไม่สำเร็จ ของประชากรทั่วอเมริกาในระหว่างปี 2003-2010 จัดทำโดย Claudia Persico และ David Marcotte จาก American University ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี

ในการศึกษา ผู้วิจัยทั้งสองคนได้รวบรวมสถิติปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละช่วงเวลา เพื่อมาเทียบกับสถิติการฆ่าตัวตายของประชากรในพื้นที่ และเวลานั้น เพื่อหาความสัมพันธ์ และพบว่าปริมาณฝุ่นที่มากขึ้นสามารถทำให้เกิดเหตุฆ่าตัวตายมากขึ้นจริง

โดยพบว่า “ปริมาณฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุฆ่าตัวตายขึ้น 0.49%” และ “ถ้าปริมาณฝุ่นเพิ่มขึ้นวันละ 1 ไมโครกรัมทุกวันเป็นเวลาหนึ่งเดือน การพยายามฆ่าตัวตายจะเพิ่มขึ้นถึง 50%”

 

แต่ฝุ่นมันมาเกี่ยวอะไรกับอาการซึมเศร้าล่ะ?

อ่านมาถึงตรงนี้หลายๆ คนอาจจะมีคำถามนี้อยู่ในหัว เพราะคิดว่าอาการซึมเศร้าเป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้ป่วยประสบพบเหตุการณ์ที่ไม่ดีมา หรือมีความเครียดสะสมจากปัญหาส่วนตัว มากกว่าจะเกิดจากอะไรที่เป็นรูปธรรมอย่าง “ฝุ่น”

แต่แท้จริงแล้วนอกจากวิจัยชิ้นนี้ ยังมีวิจัยอีกหลายชิ้นที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณฝุ่นและระดับมลพิษกับอารมณ์ของผู้สูดดม โดยทั้งหมดได้ข้อสรุปว่าการสูดดมฝุ่น PM 2.5 ในปริมาณมากทำให้เกิดความรู้สึกซึมเศร้าได้จริง เพราะ “ฝุ่น PM 2.5 ที่มีขนาดเล็กมากสามารถซึมเข้าไปในกระแสเลือดผ่านเนื้อเยื่อปอด” และก่อให้เกิดการอักเสบภายในอวัยวะต่างๆ รวมไปถึง "สมอง" ได้

เพราะเมื่อละอองฝุ่นเหล่านี้เข้าไปในเลือดของเราได้แล้ว เซลล์ร่างกายเราย่อมมองว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งแปลกปลอม และหลั่งสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า “ไซโตไคน์ (Cytokine)” หรือสารกลุ่มโปรตีนชนิดหนึ่งขึ้นมาเพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงาน และสารไซโตไคน์นี้เองเป็นสารที่เกี่ยวพันโดยตรงกับความรู้สึกซึมเศร้า เพราะมันจะทำให้อวัยวะที่หลั่งสารนี้ออกมามาก เช่นสมอง เกิดการอักเสบ (inflammation) 

โดยจากการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย แพทย์ผู้ชันสูตรมักจะพบสารสื่อประสาทตัวนี้ตกค้างในสมองของผู้เสียชีวิตในปริมาณมากเสมอ แพทย์จึงเชื่อว่าสารนี้มีผลทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกซึมเศร้า ขาดการยั้งคิดมากกว่าปกติ ทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นที่มีชื่อว่า “Association of Short-term Particulate Matter Exposure with Suicide Death among Major Depressive Disorder Patients: a Time-stratified Case-crossover Analysis” ของกลุ่มนักวิจัยชาวเกาหลี ยังพบอีกด้วยว่าปริมาณฝุ่น PM 2.5, PM 2.5-10 และ PM 10 มีผลโดยตรงต่อความรู้สึกอยากฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในเกาหลี 

โดยพบว่าผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ที่มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 มากกว่า 32 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ที่มี PM 2.5 น้อยกว่า 16 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถึง 17%

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า กลุ่มผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากฝุ่นขนาดเล็กเหล่านี้มากที่สุด คือคนไข้หญิงอายุมากกว่า 40 ปี ที่ยังได้รับการวินิจฉัยโรคมายังไม่ถึง 5 ปี (ซึ่งเป็นช่วงที่คนไข้ซึมเศร้าฆ่าตัวตายมากที่สุด) และไม่ออกกำลังกาย

 

แบบนี้ในไทยน่ากังวลแค่ไหน?

ถึงแม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีการวิจัยที่ศึกษาปรากฎการณ์นี้ในไทย คนไทยก็ควรตระหนักเรื่องผลกระทบของฝุ่น PM 2.5 เพราะไทยถือเป็นประเทศหนึ่งที่ประสบปัญหาฝุ่นอย่างหนักตลอดทั้งปี โดยจากข้อมูลของ IQAIR ในปี 2021 ความเข้มข้น PM2.5 เฉลี่ยในปี ของไทยสูงถึง 4 เท่าของค่าแนวทางคุณภาพอากาศประจำปีขององค์การอนามัยโลก (WHO)

นอกจากนี้ ในวันที่ 17 เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ค่ามลพิษจากฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ ก็เคยพุ่งขึ้นมาครั้งหนึ่งแล้ว จนขึ้นไปเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 ของโลก

ปัจจุบัน (1 ธ.ค.) ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index) ของไทยอยู่อันดับที่ 49 ของโลก ปริมาณมลพิษอยู่ในระดับปานกลาง และมีความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 17 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร 

แต่ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ความเข้มข้นของฝุ่น PM 2.5 ในกรุงเทพฯ เคยขึ้นไปสูงถึง 36 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานของ WHO ที่ระบุว่า ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM 2.5 ราย 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ไปไกลพอสมควร

ซึ่งเมื่อเห็นแบบนี้แล้ว ถึงแม้ยังไม่มีหลักฐานทางสถิติมาพิสูจน์ได้ว่าปริมาณฝุ่น PM 2.5 ในไทยมีผลทำให้คนซึมเศร้ามากขึ้นเหมือนในพื้นที่อื่นๆ ที่มีการวิจัย PM 2.5 ก็ยังคงเป็นปัญหาด่วนที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งแก้ไข เพราะอย่างน้อยฝุ่นละอองอันตรายเหล่านี้ย่อมส่งผลต่อสุขภาพกายของประชาชนในพื้นที่อย่างปฏิเสธไม่ได้ และเมื่อประชาชนเกิดความไม่สบายกายแล้ว จิตใจของผู้คนก็ย่อมอ่อนแอลงเช่นกัน

 

ที่มา:  “Air Quality and Suicide”“Association of Short-term Particulate Matter Exposure with Suicide Death among Major Depressive Disorder Patients", The Economist, IQAir

advertisement

SPOTLIGHT