อินไซต์เศรษฐกิจ

5 ยุควิกฤตของธุรกิจไทย เมื่อถูกสินค้าจีนบุกหนัก 

28 ก.พ. 67
5 ยุควิกฤตของธุรกิจไทย เมื่อถูกสินค้าจีนบุกหนัก 
ไฮไลท์ Highlight
“ต้องใช้คําว่าวิกฤติ แต่ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือว่า “ฝีแตก” ครับ เพราะว่า20ปีที่ผ่านมาการขาดดุลการค้าของประเทศไทยให้กับประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากระดับ20,000ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันราว 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1.2ล้านล้านบาทไทย ตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมเลยบอกว่ามันวิกฤตแล้ว ถ้าไม่มีใครทําอะไรนะครับผมคิดว่ามันจะขาดดุลไปเรื่อยๆและอาจจะได้เห็นตัวเลขขาดดุลสูงถึง  70,000 80,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ”  ดร.อัทธ์ กล่าว  

การเข้ามาของสินค้าจีนตีตลาดในไทย กำลังเป็นสถานการณ์ที่บีบคั้นผู้ประกอบการคนไทย บางรายถึงกับยอมยกธง พ่ายแพ้ให้กับสินค้าจากจีนเพราะแข่งขันไม่ได้โดยเฉพาะจากปัญหาต้นทุนสินค้าไทยที่สูงกว่าจีนหลายเท่าตัว 

SPOTLIGHT  สัมภาษณ์พิเศษ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ ที่วิเคราะห์ถึงสถานการณ์สินค้นค้าจีนบุกไทยในเวลานี้ว่าคือ วิกฤต สำหรับธุรกิจไทย พร้อมเสนอแนะทางออกซึ่งพุ่งเป้าไปที่ภาครัฐที่จะต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการปกป้องและดูแลผู้ประกอบไทยให้มากกว่าที่ผ่านมา 

ต้องใช้คําว่าวิกฤติ แต่ถ้าพูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือว่า “ฝีแตก” ครับ เพราะว่า20ปีที่ผ่านมาการขาดดุลการค้าของประเทศไทยให้กับประเทศจีนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากระดับ20,000ล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันราว 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1.2ล้านล้านบาทไทย ตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผมเลยบอกว่ามันวิกฤตแล้ว ถ้าไม่มีใครทําอะไรนะครับผมคิดว่ามันจะขาดดุลไปเรื่อยๆและอาจจะได้เห็นตัวเลขขาดดุลสูงถึง  70,000 80,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ”  ดร.อัทธ์ กล่าว  

5 ยุควิกฤตของธุรกิจไทย เมื่อถูกสินค้าจีนบุกหนัก 

สถานการณ์สินค้าจีนที่เข้ามาในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า การเปิดเสรีการค้าระหว่างกันเพราะไทยเรามี  FTA กับจีน และไทยยังมี FTA อาเซียน-จีน รวมถึง RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค อาเซียน กับ อีก 5 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ซึ่งแน่นอนว่า การเปิดเสรี การลดกำแพงภาษีเพิ่มโอกาสให้สินค้าจีนเข้ามาในไทยได้อยู่แล้วแถมมาด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าแต่ตัวเร่งให้สินค้าจีนไหลทะลักเข้ามาในไทยคือกระแสของสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา เป็นตัวเร่งสำคัญให้จีนเบนเข็มไปค้าขาย ไปลงทุนประเทศอื่นๆมากขึ้น 

การไหลเข้ามาของสินค้าจากจีนนั้น หากมองในแง่ผู้บริโภค อาจมองเป็นเรื่องดีที่สามารถซื้อสินค้าได้ถูกลง แต่ปัญหาที่ผลกระทบสำคัญคือผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศไทยจำนวนมากไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการจีนได้เลย โดยเฉพาะในเรื่องต้นทุนราคาสินค้าจากจีนที่ถูกกว่าซื้อจากไทย ทำให้ดร.อัทธ์ ฉายภาพให้เห็นชัดขึ้นว่า ธุรกิจไทยกำลังล้มหายตายจากไปเรื่อยๆ หากไม่มีการแก้ไขสถานการณ์ใดๆเลย โดยแบ่งช่วงเวลาที่ธุรกิจจีนเข้ามาในไทยหลักๆเป็น 5 ยุค ดังนี้

  • ยุคแรก - ราวปี 2008 ผักและผลไม้จากจีนเข้าไทย ตัวอย่างหอม กระเทียม จากจีนเข้ามาในบ้านเราผลกระทบคือทำให้เกษตรกรที่ปลูกพืชเหล่านี้ต้องล้มหายตายจากเลิกกิจการไป 
  • ยุคที่สอง - จีนคลื่อนย้ายโรงงานมาตั้งในอาเซียน รวมถึงในประเทศไทย
  • ยุคที่สาม - เป็นยุคของการตั้งคลังสินค้าในประเทศไทย หลังจากยุคอีคอมเมิร์ซรุ่งเรืองขั้นสุด การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่แสนง่ายดาย จากอดีตที่เคยเห็นคนไทยแห่ไปจีนเพื่อหาสินค้าราคาถูกมาขายทำกำไร แต่ในยุคนี้ไม่ใช่อีกต่อไป เพราะผู้บริโภคคนไทยสามารถสั่งสินค้าจีนมาส่งตรงถึงหน้าบ้านได้เลย โดยไม่ต้องผ่านคนกลางด้วยซ้ำเนื่องจากคลังสินค้าก็เป็นของจีนและมาตั้งในประเทศไทยเรียบร้อย
  • ยุคที่สี่ - เป็นยุคของการซื้อเครื่องจักร ซึ่งโรงงานผลิตในประเทศไทยส่วนใหญ่มีเครื่องจักรที่ค่อนข้างเก่าไม่ทันสมัยได้เวลาที่จีนจะระบายเครื่องจักร เครื่องมือเครื่องไม้ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เยอะออกมา ซึ่งก็ยังถือว่าทันสมัยกว่าเครื่องจักรในไทยปัจจุบันอยู่ดี
  • ยุคที่ห้า - เป็นยุคในอนาคตที่จีนน่าจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการผลิต

รัฐบาลไทยต้องปรับกฏเกณฑ์...ทำไมอินโดนีเซีย ขาดดุลการค้ากับจีนน้อยลงได้ ? 

ทั้ง 5 ยุคที่ดร.อัทธ์ กล่าวมานั้น จะเห็นว่า SME ไทยที่ไม่มีศักยภาพในการแข่งขันย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน  ดังนั้น แนวทางการแก้ปัญหาคือ รัฐบาลต้องมาทบทวนมาตรการต่างๆที่เรามีอยู่ คําว่ามาตรการก็รวมทั้งกฎหมาย กฎระเบียบ กติกาที่เรามีอยู่เพียงพอแล้วหรือไม่? ที่สุดท้ายแล้วเนี่ยมันสะท้อนจากการขาดดุลการค้าที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น กฎหมายเรื่องของมาตรฐานสินค้าเกษตร มาตรฐานอุตสาหกรรมมีความทันสมัยพอที่จะใช้กับการค้าปัจจุบันที่มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหรือไม่ ?

อย่างที่สอง คือ นี่คือวาระเร่งด่วนที่ท่านนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ต้องมาเป็นประธานด้วยตัวเองเพราะสถานการณ์นี้เกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง เพราะมันคือศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย ไม่ใช่แค่เรื่องสินค้าใดสินค้าหนึ่งเท่านั้น 

ดร.อัทธ์ ย้ำว่า ไม่ได้เห็นด้วยที่ไทยจะไปตั้งกำแพงภาษี เหมือนอย่างที่สหรัฐอเมริกาทำกับจีน ซึ่งสหรัฐฯก็พยายามลดการขาดดุลการค้ากับจีนลงเช่นกัน แต่วิธีนี้ก็อาจไม่ได้เป็นผลดี

ตัวอย่างประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงกับไทย อย่างอินโดนีเซียช่วง3-4ปีที่ผ่านมา ขาดดุลการค้ากับจีนลดลงเพราะอินโดนีเซียมีกฎหมายที่ปกป้องเกษตรกร สาระสำคัญของกฏหมายมีทั้งเรื่องการค้าและการผลิตตัวอย่างเช่น ในช่วงระยะเวลาผลิตของอินโดนีเซียออกมา จะต้องห้ามนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อไม่ให้มากระทบผลผลิตในประเทศตัวเอง เป็นต้น เช่นเดียวกับเรื่องการขนส่งต่างๆ ก็มีมาตรการในเชิงคุ้มครอง ปกป้องธุรกิจในประเทศมากกว่า ประเทศไทย ทำให้อินโดนีเซีย ถือเป็นตัวอย่างของประเทศที่ใช้มาตรการที่หลากหลายมาก และเจรจาด้วยดีกับจีนโดยไม่ได้มีปัญหาทางความสัมพันธ์กับจีนเลย ซึ่งนั่นแปลว่า มาตรการที่ใช้ไม่ได้จำกัดหรือเจาะจงไปที่จีนเท่านั้น แต่หมายถึงทุกประเทศที่ทำการค้าขายกับอินโดนีเซีย 

“เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่นะครับ เราพึ่งพิงเศรษฐกิจจีนเยอะมากทั้งเรื่องของนักท่องเที่ยวก็พึ่งตลาดจีน การลงทุนโดยตรง หรือ FDI ก็มาจากจีน การค้าส่ง-ค้าปลีก ก็ต้องพึ่งพาจีน ทำให้วันนี้ต้องคิดถึงเรื่องของการดีไซน์เครื่องไม้เครื่องมือโดยเอาโจทย์ของการขาดดุลการค้าเป็นตัวตั้งแล้วล่ะ” 

ติดตามการสัมภาษณ์พิเศษ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ ฉบับเต็มได้ในรายการ SPOTLIGHT Live Talk วันอังคารที่ 5 มีนาคม 2567 ช่องทาง Youtube SPOTLIGHT  

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT