อินไซต์เศรษฐกิจ

ส่องสัญญาณเตือน ‘เหตุกราดยิง’ ถอดบทเรียนงานวิจัยในสหรัฐฯ

7 ต.ค. 65
ส่องสัญญาณเตือน ‘เหตุกราดยิง’ ถอดบทเรียนงานวิจัยในสหรัฐฯ

ในประเทศไทยนั้น ‘เหตุกราดยิงหมู่ (Mass Shooting)’ หรือตามการจำกัดความของสหรัฐอเมริกาคือ เหตุการณ์กราดยิงที่มีผู้เสียชีวิต 3 คนขึ้นไป ถือเป็น ‘ปรากฎการณ์ใหม่’ ที่เพิ่งปรากฎขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ โดยเหตุการณ์แรกที่เกิดในไทยคือ เหตุกราดยิงในห้างสรรพสินค้าที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อปี 2020 ที่มีผู้เสียชีวิต 31 คน ซึ่งก็ถือว่าไม่นาน เพราะเพิ่งเกิดมาเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมานี้เอง

และเมื่อมันเป็นปรากฎการณ์ใหม่ คำถามสำคัญที่ตามมาก็คือ อะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุกราดยิงในไทยทั้งที่ไม่เคยมีมาก่อน 

และเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเหตุกราดยิงที่เคยเกิดขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุสลดครั้งถัดไป 

คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่หน่วยงานรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต้องร่วมหาคำตอบ และก็เป็นคำถามที่ ‘สหรัฐอเมริกา’ ประเทศที่เกิดเหตุกราดยิงมากครั้งที่สุดในโลก พยายามหาคำตอบมานานจนมีองค์ความรู้ในการศึกษาและคิดหาวิธีป้องกันพอสมควรแล้ว ถึงแม้จะยังไม่สำเร็จผลอย่างเต็มที่ เพราะก็ยังมีเหตุกราดยิงใหญ่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี อย่างปีนี้ก็มีเหตุกราดยิงโรงเรียนประถมที่ ‘อูวัลดี’ เท็กซัส ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 22 คน เมื่อเดือนพฤษภาคม

แต่ถึงแม้สภาวการณ์แวดล้อมและปัจจัยทางสังคมและเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดเหตุกราดยิงภายในทั้ง 2 ประเทศอาจจะมี ‘จุดร่วม’ และ ‘จุดต่าง’ กันบ้าง ในฐานะประเทศที่เห็นจำนวนเหตุกราดยิงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาอันสั้น การศึกษากรณีตัวอย่างและวิธีการรับมือในประเทศที่มีประสบการณ์กับเหตุแบบนี้มามากแล้วก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราอาจจะได้แนวคิดอะไรบางอย่างมาปรับใช้กับการรับมือและป้องกันเหตุกราดยิงในพื้นที่เราได้

ในบทความนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนทุกคนมาดูกันว่าจากการวิจัยของฝั่งตะวันตก อะไรจะเป็น ‘สาเหตุ’ หรือ ‘แรงจูงใจ’ ที่ทำให้ ‘มนุษย์’ คนหนึ่งก่อเหตุที่ ‘ผิดมนุษย์’ แบบนี้ได้ และมี ‘สัญญาณเตือน’ อะไรบ้างที่เราต้องมองหาเพื่อดึงผู้ที่มีความเสี่ยงจะก่อเหตุกลับมาก่อนเขาจะถลำตัวไปเป็นฆาตกร 

เพราะผู้ก่อเหตุคนถัดไป อาจเป็นใครก็ได้ที่เรารู้จัก

 

ปัจจัยอะไรบ้างที่ก่อให้เกิดเหตุกราดยิง?

เมื่อเกิดเหตุกราดยิงขึ้น สิ่งที่คนเรามักจะใช้บรรยายผู้กระทำความผิดคือ ‘ไม่ใช่คน’ หรือ ‘เลวผิดมนุษย์’ หรือในต่างประเทศก็อาจจะนิยามว่าเป็น ‘ปีศาจ’ (monster) และพ่วงไปด้วยว่าเป็นคนที่มีอาการ ‘ป่วยทางจิต’ (mentally ill) เหมือนกับว่าผู้ที่ทำอะไรแบบนี้ได้คือคนที่ผิดปกติ ไม่ใช่คนทั่วไป

แต่จากผลการวิจัยของนักจิตวิทยา จิลเลียน ปีเตอร์สัน และ นักสังคมวิทยา เจมส์ เดนสลีย์ เจ้าของโครงการวิจัย The Violence Project การแปะป้ายผู้กระทำผิดให้เป็น ‘คนนอก’ (outsider) ที่เป็นคนไม่ดีด้วยความผิดปกติ ‘เฉพาะตัว’ ของตัวเองแล้ว อาจไม่มีประโยชน์และอาจส่งผลเสียต่อการชี้ตัวบุคคลที่เสี่ยงจะก่อเหตุกราดยิง เพราะแท้จริงแล้วผู้ก่อเหตุหลายรายไม่ได้มีความผิดปกติใดเป็นพิเศษ แต่เป็นเพียง ‘คนธรรมดา’ ที่อยู่ในสภาวะ ‘เครียดจัด’ หรือกำลังเจอ ‘ปัญหาชีวิตที่ดูไร้ทางออก’ ด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น ‘ตกงาน’ ‘มีปัญหาด้านการเงิน’ หรือ ‘ถูกกลั่นแกล้งในที่เรียนหรือที่ทำงาน’ จนทำให้คนเหล่านี้เกิด ‘ความคิดที่จะฆ่าตัวตาย’

แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ก่อเหตุกราดยิง 'แตกต่าง' จากคนที่อยู่ในภาวะเครียดจัดจนฆ่าตัวตายไปคนเดียวก็คือ ในขณะที่คนที่ฆ่าตัวตายโดยลำพังคิดว่าสิ่งที่ทำให้เขาอยู่ในสภาวะลำบากคือ ‘ตัวเอง’ คนที่ก่อเหตุกราดยิงคือคนที่คิดว่าคนผิดคือ ‘สังคม’ ที่กลั่นแกล้ง หรือไม่ยอมรับพวกเขา ทำให้พวกเขามีปัญหา

เพราะฉะนั้นในเมื่อคิดที่จะตายแล้ว พวกเขาจึงอยาก ‘แก้แค้นสังคม’ สร้างความเจ็บปวดให้คนในชุมชน หรือคนในสังคมให้ทุกข์ทรมานไปกับเขามากที่สุดก่อนจากไป ทำให้เหตุกราดยิงในสหรัฐอเมริกาส่วนมากเกิดขึ้นในสถานที่ที่ผู้ยิงเป็น ‘คนใน’ หรือ ‘คนที่คุ้นเคยกับคนในสถานที่นั้น’ เช่น ที่ทำงาน (31.5%) และ มหาวิทยาลัยหรือ โรงเรียนที่กำลังเข้าเรียนหรือเคยเข้าเรียน (11.9%)

ซึ่งเมื่อมองแบบนี้แล้ว ผู้ที่ลงมือกระทำเหตุสะเทือนขวัญเหล่านี้ได้ก็ไม่ใช่ ‘คนเลวผิดมนุษย์’ อีกต่อไป แต่อาจเป็น ‘คนที่เรารู้จักดี’ หรือ ‘ใครก็ได้’ ที่เมื่อสภาวการณ์บีบคั้นให้จนตรอกแล้วมีอาวุธอยู่ใกล้มือก็สามารถฟิวส์ขาด ตัดสินใจกระทำเหตุสะเทือนขวัญเพื่อแก้แค้นสังคม

โดยจากผลการสำรวจและวิจัยหาสาเหตุและแรงจูงใจของการกราดยิงในอเมริกา จากการสัมภาษณ์ทั้งผู้กระทำผิดที่ยังมีชีวิต และญาติและผู้ใกล้ชิดของผู้ก่อเหตุกราดยิงใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ‘สาเหตุ’ บีบคั้นที่ทำให้ผู้ลงมือกระทำผิดมากที่สุด 3 อันดับคือ 

  1. การตกงาน (70%)
  2. ปัญหาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง (23%)
  3. ปัญหาทางเศรษฐกิจ (13%)

โดย 40.6% ของผู้ก่อเหตุประสบปัญหาเหล่านี้มาแล้ว ‘หลายปี’ ในขณะที่ 29.7% ประสบปัญหาเหล่านี้มาแล้ว ‘หลายเดือน’ บ่งบอกว่าผู้กระทำผิดส่วนมากมีปัญหานำร่องมาแล้วเป็นระยะเวลานานพอสมควร

และก่อนตัดสินใจก่อเหตุ ผู้ใกล้ชิดหรือคนรอบตัวผู้กระทำผิดมักจะสังเกตเห็น ‘อาการผิดปกติทางพฤติกรรมและอารมณ์’ ที่เป็น ‘สัญญาณเตือนสำคัญ’ 8 ประการ ด้วยกัน คือ

  1. มีความหงุดหงิดฉุนเฉียวมากขึ้น (66.9%)
  2. มีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้อื่นทั้งทางร่างกาย วาจา และจิตใจ (41.9%)
  3. เก็บตัวโดดเดี่ยว แยกตัวจากสังคม (39.5%)
  4. สูญเสียความสามารถในการรับรู้ความจริง หลงผิด คิดไปเอง (33.1%)
  5. มีอาการซึมเศร้า (29.7%)
  6. อารมณ์แปรปรวน (27.3%)
  7. ไม่สามารถทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ เช่น การกิน นอน อาบน้ำ (24.4%)
  8. มีความหวาดระแวง (23.8)

โดยผลจากการวิจัยชี้ว่า 43.15% ของผู้กระทำผิดมีอาการเหล่านี้ประมาณ 1-4 อาการ ก่อนที่จะลงมือก่อเหตุ ในขณะที่ 37.7% มีอาการเหล่านี้ร่วมกันเกิน 5 อาการขึ้นไป โดย 69.8% คือมากกว่าครึ่ง ‘ไม่ได้ป่วยเป็นโรคจิตเภท’ ทำให้ข้อสัณนิษฐานของคนทั่วไปที่ว่าผู้ก่อเหตุเหล่านี้ส่วนมากเป็นคนที่ป่วยทางจิตร้ายแรง สติไม่ดีนั้น กลายเป็นข้อสังเกตที่ไม่มีหลักฐานทางสถิติมารองรับ 

อย่างไรก็ตาม ผู้ก่อเหตุส่วนมากคือ 68% มีประวัติเกี่ยวกับ ‘ปัญหาทางสุขภาพจิต’ เช่น อาการซึมเศร้า ซึ่งแตกต่างอย่างมากจาก ‘โรคจิตเภท’

นอกจากนี้ ปัจจัยบ่งชี้อื่นๆ นอกจากลักษณะพฤติกรรมส่วนตัวยังรวมไปถึง ประวัติทางอาชญากรรม โดยผู้กระทำผิดกว่า 57% มีประวัติทำผิดกฎหมายในรูปแบบต่างๆ มาก่อน และที่สำคัญคือ 44% ของผู้กระทำผิดมี ‘การบอกเปรยล่วงหน้า’ ว่ามีแผนจะทำการรุนแรง ซึ่งอาจจะเป็นข้อความที่โพสต์ในโซเชียลมีเดีย และสิ่งที่หลุดปากหรือพูดออกมาตรงๆ เพื่อบอกกับคนรอบข้างว่าเครียดและรู้สึกกดดันจนทนไม่ไหวแล้ว

 

เราสามารถเฝ้าระวัง และป้องกันไม่ให้เกิดเหตุกราดยิงอย่างไรได้บ้าง?

คำถามนี้เป็นคำถามที่ท้าทายมาก เพราะวิธีการป้องกันแก้ไขปัญหานี้ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมเฉพาะที่ทำให้คนเหล่านี้เกิด ‘ภาวะเครียดจัด’ ขึ้นมา

ซึ่งถ้ามองจากมุมกว้างในระดับโครงสร้าง วิธีแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็คือ การกำจัดต้นตอของความเครียดและภาวะสิ้นไร้ไม้ตอกที่ผลักให้คนขาดสติก่อเหตุกราดยิง เช่น การพัฒนาสภาพสังคมให้ประชากรทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีคุณภาพ จริงจังกับการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว การใช้อำนาจในทางที่ผิดในที่ทำงาน และปัญหายาเสพติด แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ควบคุมระบบเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ มีระบบประกันสังคมที่ดีที่เป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ 

และให้ความดูแลสุขภาพจิตของคนในทุกองค์กรและทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชน โรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ โดยอาจจะลงทุนให้ทุกองค์กรมีนักจิตวิทยาประจำที่ทุกคนสามารถไปปรึกษาได้หากเกิดความเครียด

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือความจริงจังกับบังคับใช้กฎหมายควบคุมปืน หรืออาวุธสังหารระดับสูง มีระบบตรวจสอบตัวตนผู้ครอบครองปืนอย่างเป็นระบบ และมีการกวาดล้างปืนเถื่อนและปืนประกอบเองอย่างแข็งขัน

ในกรณีนี้ขอยกตัวอย่างประเทศ ‘นิวซีแลนด์’ ซึ่งหลังเกิดเหตุกราดยิงมัสยิดในเมืองไครสต์เชิร์ช เพียงหนึ่งวัน นายกรัฐมนตรี จาซินดา อาร์เดิร์น ก็ออกมาประกาศทันทีว่า จะเดินหน้าผลักดันแก้ไขกฎหมายควบคุมอาวุธปืนให้เข้มงวดขึ้น และมีการประกาศรายละเอียดตามมาในอีกหนึ่งสัปดาห์หลังจากนั้น และภายในไม่ถึง 1 เดือน เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2562 รัฐสภานิวซีแลนด์ก็ลงมติอย่างท่วมท้น ด้วยคะแนนเสียง 119:1 ผ่านร่างแก้ไขกฎหมายเพื่อแบนอาวุธปืนกึ่งอัตโนมัติและปืนไรเฟิลจู่โจมแทบทุกชนิดทั้งประเทศ

นอกจากการแก้ไขในระดับโครงสร้างแล้ว การเฝ้าระวังและสังเกตคนรอบข้างในระดับปัจเจกก็มีความสำคัญ เพราะจากผลการวิจัย บ่อยครั้งมากที่ผู้ก่อเหตุจะมีอาการบ่งชี้นำมาก่อนอยู่แล้ว ซึ่งถ้าคนทั่วไปรู้วิธีสังเกต และไม่คิดว่าเป็นแค่อาการเครียดทั่วไปแล้วเข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เหตุสลดหลายๆ ครั้งก็อาจจะไม่เกิด 

ซึ่งสิ่งที่จะทำให้คนทั่วไปรู้จักสังเกตเห็นสัญญาณเตือนเหล่านี้ได้ก็คือ ‘การให้การศึกษาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ’ อย่างเป็นระบบ
เพราะเราจะได้ไม่มองว่า คนที่จะก่อเหตุแบบนี้ได้จะต้องเป็น ‘คนสติไม่ดี’ หรือ ‘คนโรคจิต’ เสมอไป จนเผลอมองข้ามคนรอบตัวที่อยู่ในภาวะเครียด และกำลังมีปัญหาชีวิตร้ายแรงที่แก้ไม่ตก 

เพราะคนที่ก่อเหตุแบบที่เราเรียกว่า ‘เลวเกินมนุษย์’ เหล่านั้นได้ ก็อาจเป็น ‘มนุษย์’ ที่เรารู้จักเดินสวนกันไปมา และเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันนี่เอง

 

ที่มา: The Violence Project, The New York Times, Politico, BBC



advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT