การเงิน

KBANK ชี้สินเชื่อ 2 เดือนแรกโตดี ศก.ฟื้น จากท่องเที่ยวหนุน

28 ก.พ. 67
KBANK ชี้สินเชื่อ 2 เดือนแรกโตดี  ศก.ฟื้น จากท่องเที่ยวหนุน

กสิกรไทยชี้ 2 เดือนแรกปีนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดี นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับเข้ามา ตัวเลขส่งออกขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มสุขภาพ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจโรงแรมขยายตัวดี ยอมรับลูกค้ากลุ่มเปราะบางยังน่าเป็นห่วง ยังไม่ฟื้นตัว

ขณะที่สินเชื่อธนาคารในช่วง 2 เดือนแรก ขยายตัวดีตามไปด้วย ซึ่งทั้งปีตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 3-5% ขณะที่ NPL จะรักษาไม้ให้สูงกว่าปีก่อนที่ 3.11% พร้อมรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ (Net Interest Margin : NIM) ไว้ที่ระดับ 3.66% 

นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) หรือ KBANK  เปิดเผยว่า โดยในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สินเชื่อของธนาคารยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อรายใหญ่ และสินเชื่อเอสเอ็มอี จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย ซึ่งปีนี้ธนาคารตั้งเป้าขยายสินเชื่อไว้ที่ 3-5% จากปีก่อนหดตัว 0.19%

"เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีขึ้น จากการท่องเที่ยวฟื้น และการส่งออกโตได้ดี โดยเฉพาะกลุ่มสุขภาพ โรงแรม ที่ดีขึ้น แต่ยังไม่ดีเท่ากับช่วงก่อนโควิด เพราะยังมีบางกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัว เช่น กลุ่มเปราะบาง" นางสาวขัตติยากล่าว

กสิกรชะลอปล่อยสินเชื่อรายย่อยตั้งแต่ต้นปี 2566

สำหรับในขณะที่สินเชื่อรายย่อย หรือ สินเชื่อที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางธนาคารได้ชะลอการปล่อยสินเชื่อไปตั้งแต่ต้นปี 2566 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่าธนาคารได้รับผลกระทบจากกลุ่มนี้พอสมควร

img_0266

โดยเป้าหมายของการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ (Loan Growth) ที่ 3-5% สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพในธุรกิจที่ฟื้นตัว สินเชื่อมีหลักประกัน และการเติบโตในภูมิภาค พร้อมยกระดับการดูแลคุณภาพสินทรัพย์ โดยปรับกลยุทธ์การปล่อยสินเชื่อ เสริมศักยภาพด้านเครดิตแบบ end-to-end ตั้งเป้าสินเชื่อบรรษัทธุรกิจเติบโต 2-4% สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีเติบโต 1-2% และสินเชื่อลูกค้าบุคคลเติบโต 1-2%

กสิกรไทยมองว่า เศรษฐกิจไทยในระยะ 3 ปีข้างหน้า จะเติบโตประมาณปีละ 3% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะยังคงฟื้นตัวอย่างไม่ทั่วถึง (K-Shaped Recovery) ขยายตัวที่ 3.1% หลักๆ มาจากการท่องเที่ยว การส่งออก และการใช้จ่ายของภาครัฐท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

ผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin: NIM) อยู่ในระดับทรงตัว สอดคล้องกับทิศทางอัตราดอกเบี้ย และการเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ในขณะที่ต้นทุนทางการเงินยังสูงจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในปีที่แล้ว

รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ (Net Fee Income Growth) เติบโตที่ Mid to high-single Digit ผ่านการสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนให้กับลูกค้า ในขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมรับจากการทำธุรกรรมลดลงจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลง

ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to Income Ratio) คาดว่าจะอยู่ในระดับ Low to Mid-40s จากรายได้ที่เติบโตสอดคล้องกับการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การลงทุนเพื่อสนับสนุน K-Strategy โดยยังคงให้ความสำคัญกับการจัดการต้นทุนและการเพิ่มประสิทธิภาพ (Productivity) อย่างต่อเนื่อง

ขณะที่เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (NPL Ratio - Gross) น้อยกว่า 3.25% ทรงตัวภายใต้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ทั่วถึง

Credit Cost คาดว่าจะอยู่ในช่วง 175-195 bps โดยยังคงใช้หลักความระมัดระวังเพื่อรองรับสภาวะความไม่แน่นอนต่างๆ

ส่วนการตั้งสำรองในปีนี้คาดว่า จะอยู่ในระดับสูง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น โดยแม้ว่าธนาคารจะมีการตั้งสำรองที่สูงไปแล้วตั้งแต่ปี 2565 

ตั้งเป้าจำนวนผู้ใช้งาน K PLUS เติบโตประมาณ 20-30% ภายในปี 2569 พร้อมรักษาความเป็นผู้นำ

นอกจากนี้ ตั้งเป้าสินทรัพย์กองทุนรวมภายใต้การจัดการ (Mutual Fund AUM) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (KAsset) เติบโตประมาณ 30-40% ภายในปี 2569

img_0265


ส่วนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยนั้น ต้องจับตาอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในปีนี้จะมีการลดดอกเบี้ยหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากเฟดลดดอกเบี้ยก็มีโอกาสให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่หากไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะมีผลต่อเงินทุนไหลออก อัตราแลกเปลี่ยน 

ปี 2567 เน้นการเติบโตสมดุล ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ท้าทาย

ธนาคารกสิกรไทยจึงให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างสมดุล มุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการให้สินเชื่ออย่างระมัดระวังควบคู่กับการรักษาระดับเงินทุนที่เหมาะสมสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ

กสิกรไทยตั้งเป้าดัน ROE แตะ 2 หลัก ภายในปี 2569

กสิกรไทยเดินหน้ายุทธศาสตร์ 3+1 มุ่งเน้นการขับเคลื่อนแกนหลัก 3 ด้าน เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน และภารกิจ +1 ที่จะสร้างรายได้ใหม่ในระยะกลางและระยะยาว 

ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ 3 +1” ธนาคารมียุทธศาสตร์หลักที่มุ่งเน้น 3 ด้าน  

ยุทธศาสตร์หลักที่ 1 ยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพด้านสินเชื่อ โดยมีกลยุทธ์หลัก คือ การขยายพอร์ตผลิตภัณฑ์สินเชื่ออย่างมีคุณภาพ เสนอผลิตภัณฑ์แก่กลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ รวมทั้งการดำเนินการเชิงรุกในการรักษากลุ่มลูกค้าที่มีสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้วในปัจจุบัน มุ่งเติบโตสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ตั้งเป้าการเติบโตสินเชื่อปี 2567 ที่ 3-5% พร้อมเสริมศักยภาพด้านสินเชื่อแบบ end-to-end ยกระดับความสามารถด้านเครดิตรองรับการเติบโตทางธุรกิจ

​ยุทธศาสตร์หลักที่ 2 ขยายธุรกิจรายได้ค่าธรรมเนียม นำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนและการให้คำปรึกษาด้านความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนแบบองค์รวมที่เหมาะสมกับความต้องการตลอดช่วงชีวิตของลูกค้า ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนที่ครอบคลุมทั้งของธนาคารและจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด และพันธมิตร อาทิ กองทุนรวม แบงก์แอสชัวรันส์ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่น ๆ ด้วยการนำเสนอผ่านช่องทางการขายและบริการอย่างครอบคลุม โดยตั้งเป้าสินทรัพย์กองทุนรวมภายใต้การจัดการ (Mutual Fund AUM) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (KAsset) เติบโตประมาณ 30-40% ภายในปี 2569 โดย KAsset มี Mutual Fund AUM ในกองทุนรวมที่ 9.24 แสนล้านบาทในปี 2566

​นอกจากนี้ ธนาคารจะมุ่งตอกย้ำความเป็นผู้นำในการให้บริการชำระเงินทางดิจิทัลผ่านช่องทาง K PLUS ที่มีผู้ใช้งานมากที่สุด ด้วยการยกระดับและเพิ่มนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น ส่งมอบความปลอดภัย สะดวก และง่ายในทุกฟังก์ชันการใช้งาน

 ​ยุทธศาสตร์หลักที่ 3 เสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับช่องทางต่าง ๆ ของธนาคารที่มีอยู่ในปัจจุบัน ควบคู่กับการริเริ่มช่องทางใหม่ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าในทุกที่ทุกเวลา ภายใต้ยุทธศาสตร์นี้ ธนาคารจะบูรณาการ K PLUS ซึ่งเป็นผู้นำในช่องทางดิจิทัล กับแพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่หลากหลาย ผสมผสานกับการส่งมอบบริการในช่องทาง Physical เพื่อส่งมอบประสบการณ์บริการอย่างไร้รอยต่อและปลอดภัย ตั้งเป้าหมายเพิ่มฐานผู้ใช้งาน K PLUS เติบโตประมาณ 20-30% ภายในปี 2569 และรักษาความเป็นผู้นำ จากปัจจุบันที่มีจำนวนผู้ใช้งาน 21.7 ล้านราย ในปี 2566

​นอกเหนือจากยุทธศาสตร์หลักแล้ว ยังมี ยุทธศาสตร์ ‘+1’ คือ สิ่งที่ธนาคารดำเนินการเพื่อแสวงหารายได้ใหม่ ได้แก่ การลงทุนผ่านบริษัท กสิกร อินเวสเจอร์ จำกัด (KIV) การขยายธุรกิจในภูมิภาค และนวัตกรรมที่เป็นมากกว่าบริการทางการเงิน โดยคาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ‘+1’ จะมีสัดส่วนประมาณ 5% ของกำไรสุทธิของธนาคาร 

​“แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว สอดคล้องกับการจัดลำดับความสำคัญทางธุรกิจของธนาคารเพื่อการเติบโตอย่างสมดุล โดยมุ่งเน้นการดำเนินนโยบายการให้สินเชื่ออย่างระมัดระวัง ควบคู่กับการรักษาระดับเงินทุนที่เหมาะสมสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การกำหนดเป้าหมายทางการเงินปี 2567 ที่เหมาะสม”  คุณขัตติยากล่าว

ขับเคลื่อนด้วย 3 Enablers ประสาน เทคโนโลยี-ข้อมูล-คน เพื่อบรรลุเป้าหมาย พร้อมนำพาเศรษฐกิจไทยเดินหน้า

​ปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวช่วยขับเคลื่อน (Enablers of K-Strategy) ทำให้ธนาคารสามารถเดินหน้าได้ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 

  1. เทคโนโลยีที่ทันสมัย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และเป็นเครื่องมือในการสร้างนวัตกรรมที่ยกระดับให้ธนาคารเป็นผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำในระดับภูมิภาค 
  2. ความสามารถในการวิเคราะห์และการใช้ข้อมูล เป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของธนาคาร 
  3. ทรัพยากรบุคคลที่มีศักยภาพ ด้วยรูปแบบการทำงานที่เห็นผลลัพธ์ เป็นหัวใจสำคัญในการทำแผนงานทั้งหลายให้เกิดขึ้นจริงและวัดผลได้

img_0263

ล่าสุก ธนาคารกสิกรไทย โดย เคแบงก์ ไพรเวทแบงก์กิ้ง และลอมบาร์ด โอเดียร์ ร่วมจัดงานเสวนาด้านความยั่งยืน ‘RETHINK SUSTAINABILITY: A CALL TO ACTION FOR THAILAND’ เพื่อผลักดันและเร่งให้เกิดการลงมือทำเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน จากการเล็งเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งจากภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการลงทุน เพื่อสร้างเศรษฐกิจและเพิ่มการลงทุนในธุรกิจที่สามารถสร้างความยั่งยืนแห่งอนาคต ครอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อาหารและการเกษตรปิโตรเคมี และพลังงานหมุนเวียน พร้อมตอกย้ำบทบาทสำคัญของนักลงทุนในการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อีกทั้งชี้โอกาสในการลงทุนเพื่อความยั่งยืนด้วยเม็ดเงินในการกระจายการลงทุนมูลค่ามหาศาลถึง 34 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (หรือกว่า 1.2 พันล้านล้านบาท) ภายในปีพ.ศ. 2573

การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ ถือเป็นความท้าทายทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะความพยายามในการทำให้อุณหภูมิโลกไม่เพิ่มเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส รวมถึงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปีพ.ศ. 2593 ดังนั้นทุกภาคส่วนทั้งภาคธุรกิจและประชาชนจะต้องปรับตัวเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืนร่วมกัน ‘RETHINK SUSTAINABILITY: A CALL TO ACTION FOR THAILAND’ งานเสวนาด้านความยั่งยืนแห่งปี จึงจัดขึ้นเพื่อมุ่งเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เศรษฐกิจประเทศไทยก้าวไปสู่ความยั่งยืน ตามแนวคิด‘RETHINK SUSTAINABILITY’ เพื่อกระตุ้นให้ประเทศไทยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งไปสู่ความยั่งยืน ด้วยการยึดโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนและ CLIC® Economy  มาเป็นแกนหลักในการเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นในระยะยาว ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ สร้างผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว ตลอดจนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต

โดยคุณขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่าปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืน ประกอบด้วย 4 แรงขับเคลื่อนสำคัญ ได้แก่ การกำหนดนโยบายและกฎเกณฑ์จากภาครัฐ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม และการเลือกลงทุนของนักลงทุน แต่ละภาคส่วนล้วนมีบทบาทที่แตกต่างกันในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 

โดยต้องอาศัยความร่วมมือจึงจะบรรลุเป้าหมายในการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อก้าวไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง ในฐานะสถาบันการเงิน ธนาคารกสิกรไทยมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศไทยเพื่อก้าวสู่ Net Zero อย่างจริงจัง ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดงานเสวนาในครั้งนี้ ที่เชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจริง

ขณะนี้กสิกรปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่นำเงินไปพัฒนาธุรกิจสู่ Net Zero แล้วประมาณ 74,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่จะปล่อยสินเชื่อ 200,000 ล้านบาท ในปี 2573 

advertisement

SPOTLIGHT