การเงิน

ธปท.ชี้หนี้ครัวเรือนไตรมาส 4/66 สูงขึ้น 91% จับตาหนี้เสียSME-รายย่อย

19 ก.พ. 67
ธปท.ชี้หนี้ครัวเรือนไตรมาส 4/66 สูงขึ้น  91% จับตาหนี้เสียSME-รายย่อย

ธปท.คาดหนี้ครัวเรือนไตรมาส 4/66 สูงขึ้นเล็กน้อยจากมีการจับจ่ายใช้สอยดีชี้จับตาความสามารถชำระหนี้ของสินเชื่อรายย่อย และ SMEs พร้อมหารือกับสภาพัฒน์ฯ​ เรื่องมาตรการผ่อนปรนการผ่อนชำระบัตรเครดิตของ SMEs และอัตราดอกเบี้ย

ธนาคารแห่งประเทศไทยงานแถลงข่าวสรุปภาพรวมธนาคารพาณิชย์ ไตรมาส 4 ปี 2566 และปี 2566 โดย คุณสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน และ คุณอัจจนา ล่ำซำ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบแบบจำลองและวิเคราะห์สถาบันการเงิน

โดยสรุปภาพรวมของธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 4/2566 และปี 2566 

ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีเสถียรภาพ แต่ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs ขนาดเล็ก ที่จะได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ภาคครัวเรือนยังมีความเปราะบาง จากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า จีงต้องจับตาการชำระหนี้สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคด้วยเช่นกัน และคาดการณ์ว่า หนี้ครัวเรือนของไทยในไตรมาส 4/2566 จะปรับสูงขึ้นเล็กน้อย

“ ระบบธนาคารพาณิชย์ถือว่ายังมีเสถียรภาพ แม้ว่าสินเชื่อปี 2566 จะหดตัวลง 0.3% เนื่องจากสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่มีการทยอยชำระคืนหนี้เงินกู้ และมีบางส่วนหันมาใช้แหล่งตราสารหนี้แทนการกู้เงิน และจากการที่ยังมีการจับจ่ายใช้สอยอยู่ของภาคประชาชน เชื่อว่าหนี้ภาคครัวเรือนในไตรมาส 4/66 จะมีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย น่าจะอยู่ที่ประมาณ 91% แต่รอดูตัวเลขจริงอีกครั้ง”

 

มีรายละเอียด ดังนี้

  1. ระบบธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีเงินกองทุน เงินสำรอง และสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง โดยสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ ปี 2566 หดตัวเล็กน้อยที่ 0.3% จากระยะเดียวกันปีก่อนจากการทยอยชำระคืนหนี้ของภาคธุรกิจหลังเร่งขยายตัวต่อเนื่องเพื่อเสริมสภาพคล่องในช่วงโควิด โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ธุรกิจขนาดใหญ่ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ และมีการบริหารจัดการคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์ 

  2. ขณะที่การปล่อยสินเชื่อใหม่มีปริมาณเพิ่มขึ้นและกระจายตัวในหลายภาคธุรกิจ ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวได้จากสินเชื่อส่วนบุคคล 

  3. ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (non-performing loan: NPL หรือ stage 3) ไตรมาส 4 ปี 2566 ลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 492.8 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ 2.66% โดยเป็นการลดลงจากสินเชื่อธุรกิจเป็นหลักจากการบริหารจัดการคุณภาพหนี้และการกลับมาชำระคืนหนี้ ขณะที่ยอดคงค้าง NPL ของสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังเพิ่มขึ้นในทุกพอร์ต 

  4. สำหรับสัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (significant increase in credit risk: SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ 5.86% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเล็กน้อย 

  5. สำหรับผลการดำเนินงานปี 2566 ปรับดีขึ้นจากปีก่อน โดยหลักจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น แม้ต้นทุนทางการเงินปรับเพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินรับฝากและ FIDF Fee กลับสู่ระดับปกติ รวมถึงค่าใช้จ่ายดำเนินงานและค่าใช้จ่ายสำรองที่เพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้
    ที่มิใช่ดอกเบี้ยปรับลดลงจากรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ SMEs ขนาดเล็กที่ได้รับแรงกดดันจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นและครัวเรือนบางกลุ่มที่ยังมีฐานะการเงินเปราะบางจากรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ซึ่งอาจส่งผลให้ NPL ทยอยปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้และไม่เกิด NPL cliff โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไตรมาส 3 ปี 2566 ทรงตัวจากไตรมาสก่อน ขณะที่ภาคธุรกิจมีสัดส่วนหนี้สินต่อ GDP ลดลงจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและการก่อหนี้ที่ชะลอลง ด้านความสามารถในการทำกำไรโดยรวมทยอยปรับดีขึ้น ตามภาคการผลิตโดยเฉพาะกลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์และกลุ่มปิโตรเลียม ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวแม้ปรับดีขึ้นแต่ค่าใช้จ่ายต่อทริปยังคงต่ำกว่าคาด

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT