การเงิน

กสิกรฯ เผยวิกฤต AT1 กระทบแบงก์ไทยน้อย เงินทุนสำรองแกร่ง พึ่งตราสารต่ำ

22 มี.ค. 66
กสิกรฯ เผยวิกฤต AT1 กระทบแบงก์ไทยน้อย เงินทุนสำรองแกร่ง พึ่งตราสารต่ำ

วงการธนาคารยังปั่นป่วนต่อเนื่อง หลังหน่วยงานกำกับดูแลด้านการตลาดการเงินของสวิตเซอร์แลนด์ (FINMA) ออกมาประกาศว่า ตราสาร AT1 ของเครดิตสวิส (Credit Suisse) ทั้งหมดจะถูกลดมูลค่าลงเหลือศูนย์หลังการควบรวมระหว่าง UBS และเครดิตสวิส ซึ่งเท่ากับว่าผู้ที่ถือ AT1 ของเครดิตสวิสมูลค่าถึง 17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5.8 แสนล้านบาท จะไม่ได้เงินคืนแม้แต่บาทเดียว

ข่าวดังกล่าวสร้างความกังวลให้กับนักลงทุนเกี่ยวกับความเสี่ยงในการถือครอง AT1 ที่ออกโดยสถาบันการเงินต่างๆ และทำให้เกิดการเทขายตราสาร AT1 ทั่วธนาคารในยุโรปและธนาคารไทยบางแห่ง เพราะนักลงทุนกังวลว่าถ้าหากมีแบงก์ไหนล้มอีก พวกเขาก็จะไม่ได้เงินคืนเช่นเดียวกับผู้ถือ AT1 ของเครดิตสวิส

33bn9qv-highres

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด หรือ บลจ. กสิกรไทย ได้ออกมาเปิดเผยแล้วว่าผลกระทบจากวิกฤตความเชื่อมั่นในตราสาร AT1 นี้จะส่งผลกระทบต่อวงการธนาคารไทยอย่างจำกัด เพราะ

  1. ธนาคารไทยไม่ได้พึ่งพาตราสาร AT1 เป็นเงินทุนมากนัก
  2. ในปัจจุบัน ภาพรวมระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีความมั่นคง ข้อมูล ณ สิ้นปี 2022 ระบบธนาคารไทย มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ที่ 19.4% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดที่ 8.5% โดยส่วนใหญ่เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common Equity Tier 1: CET1)  หมายความว่าธนาคารไทยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงตราสาร AT1 เพื่อเป็นเงินทุนสำรอง
  3. สินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio : LCR) ยังอยู่ในระดับสูงที่ 197.3% และมีหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ในระดับต่ำที่ 2.73% ขณะที่เงินสำรองต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) สูงถึง 171.9%
  4. ธนาคารไทยไม่มีการลงทุนตรงในตราสารหนี้ AT1 ของต่างประเทศ มีเพียงการออก AT1 ของธนาคารเองในธนาคารบางแห่ง ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 0.7-1% ของสินทรัพย์เสี่ยงทั้งหมด

ทั้งนี้ ถึงแม้ภาคธนาคารของไทยจะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตตราสาร AT1 ดังกล่าว บลจ. กสิกรไทย ได้ออกมาเปิดเผยว่า กองทุนเปิดเค-โกลบอลอินคัม หรือ K-GINCOME ได้มีการลงทุนในธนาคารเครดิตสวิสในสัดส่วน 0.17% โดยแบ่งเป็น หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond) ที่ 0.14% และ AT1 ที่ 0.04% ส่วน Exposure ของกองทุนหลักที่มีบนสินทรัพย์ AT1 ในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ทั้งหมดอยู่ที่ 1.5% และมีการลงทุนในกลุ่มการเงินประมาณ 20% จึงทำให้กองทุนนี้อาจได้รับผลกระทบบ้างจากสถานการณ์แบงก์ที่กำลังปั่นป่วนในสหรัฐฯ และยุโรป

อย่างไรก็ดี บลจ. กสิกรฯ มองว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด และธนาคารกลางสวิสออกมาดำเนินการช่วยเหลืออย่างรวดเร็วจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าของธนาคารและนักลงทุนได้ นอกจากนี้ กองทุนหลักของ K-GINCOME ยังมีการกระจายการลงทุนในกว่า 3,000 สินทรัพย์ และในหลายอุตสาหกรรม จึงคาดว่าผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุนจะมีแบบจำกัด

 

ตราสาร AT1 คืออะไร? ทำไมถูกลดค่าจนเหลือศูนย์ในการควบรวม?

AT1 คือ พันธบัตร Contingent Convertibles (CoCo) ที่กำเนิดมาในช่วงหลังเกิดวิกฤตการเงินในปี 2008 เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวดูดซับแรงกระแทกธนาคารประสบปัญหาการเงิน และหากระดับเงินกองทุนของธนาคารต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด

โดยพันธบัตร/ตราสาร หรือหุ้นกู้ AT1 นี้ถือเป็นสินทรัพย์ที่มี “ความเสี่ยงสูง” เพราะมันคือหุ้นกู้ที่ไม่กำหนดอายุ (Perpetual) ที่ผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนดหลังปีที่ 5 และหุ้นกู้ประเภทนี้อาจถูกแปลงเป็นหุ้นสามัญ ถูกลดมูลค่า หรือตัดเป็นหนี้สูญตามที่กำหนดไว้ได้ทันทีเมื่อเงินกองทุน (CET1 ratio) ของธนาคารลดลงต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดโดยไม่ต้องรอให้ทางการตัดสินใจเข้าให้การช่วยเหลือ นอกจากนี้ ธนาคารพาณิชย์สามารถเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้โดยไม่มีเงื่อนไขและไม่มีการสะสมดอกเบี้ยที่ถูกเลื่อนจ่ายไปสมทบจ่ายในครั้งถัดไป 

ดังนั้น หุ้นกู้ AT1 จึงมักถูกเสนอขายและเป็นที่สนใจในหมู่ผู้ลงทุนสถาบัน เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มนี้มีความเข้าใจและคุ้นเคยความเสี่ยงของหุ้นกู้ประเภทนี้ และมีความสามารถในการรับความเสี่ยงมากกว่า โดยจุดเด่นของ AT1 ที่ดึงดูดนักลงทุนคือ ‘ผลตอบแทนที่สูง’ กว่าพันธบัตรประเภทอื่นๆ ในระดับเครดิตเดียวกัน

ดังนั้น เมื่อเครดิตสวิสเกิดปัญหาทางการเงินจน UBS เข้าไปอุ้ม การตัด AT1 เป็นหนี้สูญจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตามหลักการ 

อย่างไรก็ตาม นี่ก็ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ เพราะในขณะที่ผู้ถือหุ้นกู้ของเครดิตสวิสจะไม่ได้รับเงินคืนเลยแม้แต่นิดเดียว ผู้ถือหุ้นของเครดิตสวิสกลับจะได้รับเงินถึง 3.23 พันล้านดอลลาร์ภายใต้ข้อตกลงควบกิจการ ทั้งๆ ที่โดยปกติแล้วผู้ถือหุ้นจะถูกจัดให้มีสิทธิประโยชน์ในการรับเงินน้อยกว่าผู้ถือหุ้นกู้ในแง่ของการจ่ายเงินเมื่อบริษัทล้ม

ด้วยเหตุนี้เอง นักลงทุนที่กำลังถือหุ้นกู้ AT1 ในธนาคารอื่นๆ อยู่จึงเกิดความตื่นตระหนก เพราะกังวลว่าถ้าหากธนาคารอื่นล้ม ธนาคารจะเลือกใช้วิธีแบบเดียวกันคือเลือกให้เงินคืนแก่ผู้ถือหุ้นก่อนผู้ถือหุ้นกู้

 

 

ที่มา: บลจ. กสิกรไทย, CNN, CNBC

 

 

 

advertisement

SPOTLIGHT