การเงิน

เมื่อค่าเงินหยวน และ ค่าเงินเยน อ่อนค่าหนักกระทบค่าเงินบาทแค่ไหน?

8 ก.ย. 65
เมื่อค่าเงินหยวน และ ค่าเงินเยน อ่อนค่าหนักกระทบค่าเงินบาทแค่ไหน?
ไฮไลท์ Highlight
  • ค่าเงินเยนอ่อนค่าหนักสุดรอบ 24 ปี-หยวนอ่อนค่าแรงรอบกว่า 2 ปี กังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ย แถมมีนโยบายภายในมาซ้ำเติม
  • คาดค่าเงินดอลลาร์จะแข็งค่าหนักสุดในไตรมาส 4/65 นี้ รับเฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแรงเร็วกว่าที่ตลาดคาด
  • ประเมินเงินบาทระยะสั้นผันผวนสูงอ่อนค่ากรอบ 35.70-37.50 บาท 
  • เงินปอนด์ ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 37 ปี กังวลเกี่ยวกับประเด็นเงินเฟ้อพุ่งเร็ว

ค่าเงินสกุลหลักในเอเชียของประเทศที่ถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 2 คือจีน และ 3 ของโลก คือ ญี่ปุ่น ทั้งค่าเงินหยวนกับเงินเยน กำลังถูกจับตาจากผู้เกี่ยวข้องในแวดวงการเงินและเศรษฐกิจโลก หลังจากค่าเงินเยนทำสถิติอ่อนค่ามากทึ่สุดในรอบ 24 ปี อยู่ที่ระดับ 144.70 เยนต่อดอลลาร์

ส่วนค่าเงินหยวนทำสถิติอ่อนค่ามากทึ่สุดในรอบกว่า 2 ปี อยู่ที่ประมาณ 6.97 หยวนนต่อดอลลาร์ แน่นอนว่ามีผลกระทบฉุดให้ค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าตามไปด้วย ล่าสุดมาอยู่ที่ประมาณ 36.75 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากในช่วงปลายเดือน ก.ค. ปีนี้ ได้อ่อนค่าไปมากที่สุดแตะระดับ 36.95 บาท มาแล้ว

 

เงินเยนอ่อนค่าหนักสุดในรอบ 24 ปี

 

มาติดตามการประเมินสถานการณ์ค่าเงินโดย นักวิเคราะห์ ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจและกำกับดูแลโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าว 'SPOTLIGHT' ว่า ค่าเงินหยวนกับเยนที่อ่อนค่าอย่างหนักเมื่อเปรียบกับค่าเงินดอลลาร์ได้เริ่มเห็นสัญญาณแนวโน้มการอ่อนค่าทั้งเงินหยวนกับเยนชัดเจนขึ้น หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) ได้ออกมาแถลงในการประชุม Jackson Hole เมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2565 ที่ผ่านมา ได้ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายแรงและเร็วขึ้นจากเดิม

พร้อมจะคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงเพื่อเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาเงินเฟ้อที่สูง จนกว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อสหรัฐจะลดลงมาตามกรอบเป้าหมายของเฟด ด้วยสัญญาณของประธานเฟดที่ส่งมาแบบนี้ ยิ่งทำให้ตลาดการเงินมีการคาดการณ์ล่วงหน้าว่าเฟดขึ้นดอกนโยบายแรงและเร็วกว่าที่คาดไว้ซึ่งอาจขึ้นดอกเบี้ยไปแตะระดับ 4% ในช่วงกลางปี 2566 จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.25-2.50% หลังจากในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(FOMC) ล่าสุดเมื่อวันที่ 26-27 ก.ค. 2565 ที่ผ่านมาได้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75%

 

เฟดขึ้นดอกเบี้่ย

 

ดังนั้นภายหลังจากที่ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ส่งสัญญาณนโยบายการเงินที่ตามแถลงดังกล่าว ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์มีทิศทางแข็งค่าขึ้นทันที เมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ของโลก อีกทั้งดอลลาร์ยังมีแนวโน้มแข็งค่าได้ต่อเนื่องไปอีกในระยะสั้นซึ่งมีโอกาสที่จะเห็นค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าทำจุดสูงสุดได้ในช่วงไตรมาส 4/2565 นี้ จากแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐที่กำลังเป็นขาขึ้นเพื่อใช้ควบคุมดูแลปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐที่สูงให้ลดลงเป็นไปตามกรอบเป้าหมาย

"เงินสกุลอื่นๆ ของโลกยังมีความเสี่ยงที่จะมีทิศทางการเคลื่อนไหวที่ผันผวนในลักษณะอ่อนค่าเมื่อเปรียบเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ต่อไปก่อน จนกว่าที่เฟดจะส่งสัญญาณชะลอหรือหยุดขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย"

ส่งผลให้ล่าสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2565 ถึงปัจจุบันค่าเงินหยวนอ่อนค่าไปแล้ว 9.66% ส่วนค่าเงินเยนอ่อนค่าไปแล้ว 27.11% ขณะที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าตามไปด้วยในระดับ 9.90% เมื่อเปรียบกับค่าเงินดอลลาร์ นอกจากนี้ค่าเงินหยวนกับเยนยังมีปัจจัยกดดันเฉพาะภายในของแต่ละประเทศ

ด้วยการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจภายในที่มากดดันเพิ่มเติมด้วย โดยเงินหยวนของจีนมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากความกังวล กรณีที่ล่าสุดรัฐบาลจีนประกาศขยายระยะเวลาปิดเมืองเฉิงตูเพิ่มเพื่อควบคุมปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 แบบไม่มีกำหนด

โดยการขยายเวลาปิดเมืองเฉิงตู ทำให้มีความกังวลว่ามีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจของจีนจะถูกกระทบจนเศรษฐกิจชะลอตัวจากปัญหาดังกล่าวนี้ ส่วนประเด็นภายในของญี่ปุ่นคือ กรณีที่ธนาคารญี่ปุ่น(BOJ)ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยที่ติดลบ 0.10% ซึ่งทำให้มีลงทุนเงินทุนไหลออกจากญี่ปุ่นเป็นจำนวนมากเพื่อย้ายออกไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เป็นดอลลาร์แทน

เพราะมีผลตอบแทนที่สูงกว่าจากแนวโน้มดอกเบี้ยของสหรัฐที่เข้าสู่ช่วงขาขึ้น โดยปัจจัยที่ต้องติดตามคือ ถ้อยแถลงในคืนวันนี้ของประธานเฟดนายเจอโรม พาวเวล ถึงการส่งสัญญาณนโยบายดอกเบี้ย โดยจะมีการประชุมดอกเบี้ย FOMC ในวันที่ 20-21 ก.ย. 2565 นี้ โดยตลาดการเงินคาดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75%

 

เงินบาทระยะสั้นผันผวนสูงอ่อนค่า กรอบ 35.70-37.50 บาท

เงินบาทอ่อนค่า

สำหรับค่าเงินของไทยระยะสั้นในช่วง 1 เดือนคาดว่าจะมีแนวโน้มการเคลื่อนไหวผันผวนที่สูงในทิศทางอ่อนค่าในกรอบระหว่าง 35.70-37.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นไปตามทิศทางค่าเงินของเอเชีย แต่ประเมินว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่าค่าเงินหยวนกับเยนที่มีปัจจัยกดดันเพิ่มเฉพาะ

ขณะในปีนี้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยอยู่ในช่วงของการฟื้นตัว ทั้งนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประเมินว่าจีดีพีของไทยในปี 2565 จะขยายตัวในระดับ 3%, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จีดีพีของไทยปี 2565 จะขยายตัว 2.7-3.2%

ดังนั้นจึงทำให้ยังมีโอกาสเห็นกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ(Fund Flow) มีโอกาสไหลเข้าลงทุนในสินทรัพย์ลงทุนของไทย ส่งหากราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงก็ยังเชื่อว่ายังมีโอกาสที่ไทยจะยังสามารถได้ประโยชน์จากการนำเข้าน้ำมันมาใช้ได้ในราคาลดลงตามราคาตลาดโลกได้บ้าง

 

'SCBS' ชี้เงินหยวน-เยน อ่อนค่าหนัด เกิดจากนโยบายภายใน

ค่าเงินหยวน เยน อ่อนค่า

 

ด้าน ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด มองว่า การอ่อนค่าของค่างินเยนและค่าเงินหยวน เกิดจากนโยบายเศรษฐกิจของประเทศตัวเอง ที่ยังชะลอตัวจากพิษโควิด-19 สถานการณ์ภาวะเงินเฟ้อของทั้งจีนและญี่ปุ่นไม่สูงมากนัก หากเทียบกับสหรัฐฯ และ ยุโรป หรือแม้แต่ไทยเอง ที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดภาวะเงินเฟ้อสูงกว่าด้วยซ้ำ ซึ่งการที่ทั้งหยวนและเยนอยู่ในทิศทางอ่อนค่าจะเป็นตัวช่วยเสริมรายได้การค้าระหว่างประเทศ ให้รายได้ในรูปเยน และ หยวนมากขึ้น

อย่างไรก็ มีมุมองว่า อาจมีผลต่อค่าเงินบาทไทยอยู่บ้างเพราะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน โดยประเมินว่า หากจีนปล่อยหยวนอ่อนไปถึง 8 หยวนต่อดอลลาร์ อาจส่งผลให้บาทไทยอ่อนไปถึง 40 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน ดังนั้นจึงต้องจับตาดูนโยบายเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศอย่างใกล้ชิดในระยะนี้


เงินปอนด์อ่อนหนักในรอบ 37 ปี

เงินปอนด์อ่อนหนักในรอบ 37 ปี

ขณะที่ล่าสุดค่าเงินปอนด์ ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 37 ปี เมื่อเทียบกับสกุลเงินดอลลาร์เมื่อวานนี้ (7 ก.ย. 65) เนื่องความกังวลเกี่ยวกับประเด็นเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอของอังกฤษ จนทำให้ค่าเงินปอนด์ร่วงทำสถิติอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2528 โดยค่าเงินปอนด์อ่อนค่าไปที่ระดับ 1.1407 ดอลลาร์ ในการซื้ขายช่วงบ่ายในตลาดลอนดอนเมื่อวานนี้ ซึ่งเป็นระดับการอ่อนค่าสูงสุดในรอบ 37 ปี

 


รัฐบาลญี่ปุ่นนัดถก 'คลัง-BOJ'รับมือเงินเยนอ่อนค่าหนักรอบ 24 ปี

เงินเยนอ่อนค่าสุด 24 ปี

ล่าสุดมีรายงานว่า รัฐบาลญี่ปุ่นและธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยว่า จะจัดการประชุมร่วมกันในวันนี้ (8 ก.ย.) เพื่อหารือเรื่องตลาดปริวรรตเงินตรา หลังจากเงินเยนอ่อนค่าลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 24 ปี

โดย กระทรวงการคลัง, BOJ และสำนักงานบริการการเงินญี่ปุ่นได้จัดการประชุม 3 ฝ่ายครั้งสุดท้ายในเดือนมิ.ย. พร้อมทั้งออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลเกี่ยวกับปัญหาเงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นแถลงการณ์ที่มีขึ้นไม่บ่อยนัก

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า เงินเยนร่วงหนักยิ่งขึ้นนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และเจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่นหลายรายได้เตือนเกี่ยวกับการที่เงินเยนอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วเพียงฝั่งเดียวเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในช่วงหลายวันที่ผ่านมา โดยเมื่อวานนี้ นายชูนิชิ ซูซูกิ รัฐมนตรีคลังญี่ปุ่นส่งสัญญาณว่า ญี่ปุ่นอาจจะเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา หากเงินเยนยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT