บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า คณะกรรมการบริษัท สยาม แมนเนจเมนท์ โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยอของ ปตท. มีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัท โกลบอล มัลติโมดัล โลจิสติกส์ จำกัด (GML) โดย SMH ถือหุ้นสัดส่วน 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 230 ล้านบาท
โดยมีวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจโลจิสติกส์ โดยเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศไทย รวมถึงระบบขนส่งเชื่อมต่อระหว่างประเทศ โดยมีบริการหลัก อาทิ การขนส่งสินค้าทางราง ทางทะเล ทางบกและทางอากาศ การบริหารจัดการคลังสินค้าห้องเย็น รวมถึงการบริหารและให้เช่าทรัพย์สินสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโลจิสติกส์
ทั้งนี้เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ให้กับผู้ประกอบการ โดยการจัดตั้งงบริษัทของ ปตท. ดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และกลยุทธ์ New S-Curve ของ ปตท. ในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน โดยได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ดังกล่าวแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2565
ทั้งนี้มีการรวบรวมตัวเลขว่าในปี 2564 ประเทศไทยมีมูลค่าตลาดโลจิสติกส์อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาท เป็นธุรกิจขนส่งพัสดุมูลค่าประมาณ 50,000 ล้านบาท โดยปี 2565-2567 เติบโตเฉลี่ยราว 11% ต่อปี
ด้านสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ รายงาน ข้อมูลว่า ณ สิ้นปี 2564 มีจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทย ที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า 36,733 ราย โดยเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ที่เปิดกิจการใหม่จำนวน 4,411 ราย เพิ่มขึ้น 34.1 เมื่อเทียบกับปี 2563 และมีมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศในธุรกิจโลจิสติกส์ 48,743.73 ล้านบาท หรือสัดส่วน 10.2% ของการลงทุน โดยในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์ทั้งหมด
โดยกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนการเปิดกิจการมากที่สุด 3 อันดับแรก ของจำนวนธุรกิจโลจิสติกส์ที่เปิดใหม่ทั้งหมด
ด้านธุรกิจการขนส่งทางบกและธุรกิจรับส่งพัสดุ มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีจำนวนธุรกิจเปิดใหม่ รวม 3,666 ราย เติบโต 34.68% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยคาดว่ามีปัจจัยจากพฤติกรรมการรักษาระยะห่างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งลดการเคลื่อนที่ของบุคคล และผลักดันให้เกิดการเคลื่อนที่ของสินค้าทั้งห่วงโซ่เพิ่มขึ้น
สังเกตได้จากการเพิ่มขึ้นของธุรกิจในหมวดการขนส่งทางบก ส่วนใหญ่เป็นการขนส่งสินค้าระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (Business-to-Business: B2B) และธุรกิจประเภทไปรษณีย์และการรับส่งพัสดุภัณฑ์ ที่เป็นการขนส่งสินค้าระหว่างผู้ค้ากับผู้บริโภค (Business-to-Customer: B2C) รวมถึงธุรกิจขนส่งสินค้าขั้นสุดท้าย (Last-Mile Delivery) ที่มีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่มูลค่าการค้าระหว่างประเทศในปี 2564 มีมูลค่า 17.09 ล้านล้านบาท ไทยพึ่งพาการขนส่งทางเรือเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วน 67.2% ของมูลค่าการค้ารวมของไทย เติบโต 28.8% มีสินค้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันปิโตรเลียมดิบ และชิ้นส่วนรถยนต์ รองลงมา คือ การขนส่งทางอากาศ คิดเป็นสัดส่วน 21.7% เติบโต 13.3% มีสินค้าสำคัญ
ได้แก่ วงจรอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสาร การขนส่งทางถนน คิดเป็นสัดส่วน 10.9% เติบโต 32.7% มีสินค้าสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์บันทึกเทป และยางธรรมชาติ และการขนส่งทางราง คิดเป็นสัดส่วน 0.1% เติบโต 34.8% สินค้าสำคัญ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ ยางธรรมชาติ และแผ่นไม้อัด โดยมีตลาดที่สำคัญ คือ จีน เป็นอันดับหนึ่งในทุกรูปแบบการขนส่ง
ปัจจุบัน ภาคโลจิสติกส์ของไทยมีศักยภาพสูงขึ้น และยังมีโอกาสขยายตัวอีกมากในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของการบริโภค โดยเฉพาะการส่งออกผลไม้สดจากไทยไปจีน จำพวกทุเรียน มังคุด และลำไย ซึ่งเป็นโอกาสของการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิ (Cold Chain Logistics) ด้วย สำหรับภาครัฐจะต้องร่วมมือกันเร่งผลักดันการใช้ประโยชน์รถไฟจีน-ลาว เพื่อเป็นอีกทางเลือกในการส่งออกของไทย