บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ(BEM) ให้ข้อมูลถึงความคืบหน้าการพัฒนาระบบตั๋วร่วมบริการหรือบัตร EMV (Europay Mastercard and Visa) ในการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าและค่าผ่านทางด่วน ว่า BEM ได้พัฒนาระบบตั๋วร่วม EMV เพื่อชำระค่าบริการระบบขนส่งแทนเงินสด ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของภาครัฐ
ถือเป็นการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการบริการเพื่อรองรับสังคมไร้เงินสด เนื่องจากระบบ EMV คือการใช้บัตรเดบิตและบัตรเครดิตทุกธนาคารที่มีสัญลักษณ์ Contactless ใช้แตะจ่ายแทนเงินสดได้สะดวก เลี่ยงการสัมผัสการเดินทางวิถีใหม่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อีกด้วย
โดยได้มีการใช้ระบบ EMV ในการจ่ายค่าผ่านทาง ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร (SOE) ในปี 2564 และต่อมาได้มีการเปิดตัวระบบ EMV อย่างเป็นทางเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2564 โดยให้บริการครบทั้ง 5 สายทาง ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (วงแหวนใต้)
โดยด่านเก็บค่าผ่านทางที่เป็นช่องเงินสด สามารถใช้บัตรเครดิต หรือเดบิต ชำระแทนการจ่ายเงินสดได้ทุกด่าน ทุกสายทาง โดยปัจจุบันมีผู้ใช้ทางด่วน ชำระค่าผ่านทางด้วยบัตร EMV สัดส่วนประมาณ 2% เมื่อเทียบกับจำนวนปริมาณจราจรบนทางด่วนประมาณ 1 ล้านคัน/วัน
โดย น.ส.ปาหนัน โตสุวรรณถาวร รองกรรมการผู้จัดการ บัญชีและการเงิน กล่าวว่า การใช้บัตร EMV จ่ายค่าผ่านทางปัจจุบันยังมีสัดส่วนไม่มากนัก ขณะที่การใช้เงินสดกับบัตร EASY PASS มีสัดส่วนอยู่ที่ 50% ซึ่งเป้าหมายคือ ต้องการให้มีผู้ใช้ EMV เพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการทำประชาสัมพันธ์เพิ่มเพื่อสร้างการรับรู้ให้ผู้ใช้ทาง ซึ่งข้อดีของการใช้บัตร EMV เช่น นอกจากมีความสะดวก รวดเร็ว ในการผ่านทางแล้ว ยังลดการสัมผัสเพราะไม่ต้องใช้เงินสด
เป็นการ "ใช้ก่อน...จ่ายทีหลัง" และยังมีผลตอบแทนคืนในรูปเครดิตเงินคืน (Cash Back) และแต้มสะสม (Reward) ตามที่ธนาคารเจ้าของบัตรกำหนดอีกด้วย ส่วนเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ใช้ทางยังไม่จ่ายค่าผ่านทางด้วยบัตร EMV อาจเป็นเรื่องของความมั่นใจ ความปลอดภัยต่างๆ ซึ่งเป็นโจทย์ที่บริษัทฯ จะต้องทำให้ผู้ใช้ทางเกิดความมั่นใจว่าระบบ EMV ชำระค่าผ่านทางด่วนมีความปลอดภัย
สำหรับการพัฒนาระบบ EMV ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงและสายสีน้ำเงินนั้น BEM ดำเนินการปรับปรุงและติดตั้งระบบที่ประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติภายในสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงเพื่อรองรับการชำระค่าโดยสารผ่านบัตร EMV Contactless ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความ สะดวก รวดเร็วให้แก่ผู้โดยสาร
โดย BEM ได้มีการจัดหาระบบและติดตั้งหัวอ่านบริเวณประตูอัตโนมัติ พร้อมทั้งปรับปรุงอุปกรณ์ และระบบ network เพื่อให้รองรับการใช้บัตร EMV Contactless รวมทั้งสิ้น 53 สถานี และได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการในวันที่ 29 ม.ค. 2565
โดยในช่วงการทดลองระบบ EMV Contactless นั้น จะรองรับบัตรเครดิตวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ดของธนาคารทุกธนาคาร ส่วนบัตรเดบิต อยู่ระหว่างพัฒนาระบบคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดตัวใช้อย่างเป็นทางการพร้อมกันทั้งบัตรเครดิตและเดบิตในเดือน มิ.ย. 2565 และถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของระบบตั๋วร่วม เนื่องจากบัตร EMV ซึ่งเป็นบัตรเครดิต หรือเดบิตนั้น เป็นบัตรที่ใช้สำหรับการชำระค่าบริการ ค่าสินค้าทั่วไปอยู่แล้ว แต่วันนี้สามารถนำมาชำระค่าเดินทาง ทั้งค่าทางด่วน ค่าโดยสารรถไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังสามารถชำระค่าโดยสารรถ ขสมก. เรือโดยสารไฟฟ้าได้อีกด้วย
ขณะที่แนวโน้มหลังเริ่มทดลองใช้บัตร EMV ในรถไฟฟ้า ปลายเดือน ม.ค.ปีนี้ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเกือบ 2% แล้ว ซึ่งพบว่าผู้โดยสารหลายคนเปลี่ยนมาใช้บัตร EMV เนื่องจากมีความสะดวก เพราะมีบัตรอยู่แล้ว ไม่ต้องเติมเงินหรือซื้อบัตรใหม่”
สำหรับระบบ EMV รถไฟฟ้าจะมีความซับซ้อนมากกว่า EMV ของทางด่วน เนื่องจากทางด่วนมีค่าผ่านทางคงที่เมื่อแตะบัตรขาเข้าระบบจะคำนวณค่าผ่านทางได้เลย แต่สำหรับรถไฟฟ้านั้น เมื่อแตะบัตร EMV ขาเข้า ระบบจะยังไม่คำนวณค่าโดยสารเพราะต้องรอแตะบัตรออกก่อนเพราะคิดค่าโดยสารตามระยะทาง
นอกจากนี้ ยังมีการเดินทางข้ามสายทาง หรือรถไฟฟ้าข้ามสี ซึ่งจะต้องมีระบบคำนวณเพื่อแบ่งค่าโดยสารของแต่ละสาย โดยเรื่องนี้ภาครัฐจะทำระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) ต่อไป