ข่าวเศรษฐกิจ

เปิดข้อมูล คนไทยส่วนใหญ่เกษียณแล้วยังต้องทำงาน เพราะแทบไม่มีเงินออม

22 พ.ค. 67
เปิดข้อมูล คนไทยส่วนใหญ่เกษียณแล้วยังต้องทำงาน เพราะแทบไม่มีเงินออม

ผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในประเทศไทยแทบไม่มีเงินออมและไม่ได้วางแผนเพื่อการเกษียณ ส่งผลให้แม้จะอายุเกิน 60 ปีแล้วก็ยังคงต้องทำงานต่อไปเพื่อหาเลี้ยงชีพ สถานการณ์นี้กำลังกลายเป็นความเสี่ยงในภาคการคลังของประเทศไทย ที่ต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆในการดูแลผู้สูงอายุ  

สำนักงานสถิติแห่งชาติสรุปข้อมูลตัวเลขประชากรผู้สูงอายุในประเทศไทยตัวเลขล่าสุดเป็นของปี 2564 พบว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 13.64 ล้านคนคิดเป็น 19.5% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ซึ่งหมายถึงมีคนอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด และมีคนอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่า 7% ของประชากรทั้งหมด 

ผลจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น กระทบต่อโครงสร้างของประชากรโดยเฉพาะโครงสร้างของกำลังแรงงานที่กำลังเปลี่ยนไปคนหนุ่มสาวในวัยทำงานน้อยลง ขณะที่เด็กเกิดใหม่น้อยลง สังคมจึงมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

ทั้งนี้พบว่าแนวโน้มของผู้สูงอายุในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องโดยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2537 ประเทศไทยมีผู้สูงอายุจำนวน 4.01 ล้านคนหรือคิดเป็น 6.8% ของประชากรทั้งหมด แต่พอในปี 2564 ผู้สูงอายุในประเทศไทยกับเพิ่มขึ้นถึง 13.36 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 20% ของประชากรทั้งหมด

สัดส่วนผู้สูงอายุของไทย

ผู้สูงอายุแทบไม่มีเงินออม ไม่ได้วางแผนเกษียณ 

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่แทบไม่มีเงินออมนั่นหมายความว่าสภาพความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุในประเทศไทย ยังคงต้องทำงานต่อไปเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง อีกส่วนหนึ่งต้องอาศัยเงินจากบุตรหลานหรือคนในครอบครัว รวมทั้งสวัสดิการจากภาครัฐซึ่งไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ

ในการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2564 ระบุว่า การออม หมายถึง กาสะสมเงินทอง พันธบัตร สกุลเงินดิจิทัล  หุ้น หรือออมในกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ หรือประกันชีวิต ยกเว้นบ้าน ที่ดิน และยานพาหนะ โดยพบว่า 45.7% ของผู้สูงอายุในประเทศไทยไม่มีการออมเงิน ส่วน 54.3% ของผู้สูงอายุมีการออม แต่ก็พบว่า คนส่วนใหญ่มีเงินออมน้อย 

มูลค่าการออมต่ำกว่า 50,000 บาท  สัดส่วน  41.4%
มูลค่าออมระหว่าง 50,000-99,999 บาท สัดส่วน  21.7%
มูลค่าออมระหว่าง  100,000 - 399,999 บาท สัดส่วน  25.0%
มูลค่าออมระหว่าง  400,000 บาทขึ้นไป สัดส่วน  11.9% 

คนไทยไม่มีเงินเกษียณ

ผู้สูงอายุในไทยยังต้องทำงานเลี้ยงชีพต่อไป

เมื่อการออมน้อยทำให้ผู้สูงอายุจำนวนมากในประเทศไทยยังคงทำงานต่อไป ข้อมูลจากโครงการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไตรมาสที่ 3/2566 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าในปี 2566 มีจำนวนผู้สูงอายุที่ยังต้องทำงาน 5.11 ล้านคนหรือคิดเป็น 37.5% ซึ่งถือว่าเพิ่มขึ้นมา 4 แสนคนจากปี 2565 ส่วนใหญ่ 57.6% ทำอาชีพเป็นผู้ปฏิบัติงานที่มีฝีมือด้านการเกษตรและประมง 

โดยหาแยกประเภทอุตสาหกรรมและรายได้ที่ผู้สูงอายุเหล่านี้ทำงานอยู่พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการเกษตร 59.3% มีค่าจ้างหรือเงินเดือนเฉลี่ยที่ 5,796 บาท  ภาคบริการและการค้า 30.5% มีค่าจ้างหรือเงินเดือนเฉลี่ยที่ 12,555 บาท ส่วนภาคการผลิตคิดเป็นสัดส่วน 10.2% มีค่าจ้างหรือเงินเดือนเฉลี่ยที่ 13,848 บาท  

การทำงานของผู้สูงอายุ

จังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดและน้อยที่สุด

หากดูข้อมูลพื้นที่หรือจังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดและน้อยที่สุดไม่รวมกรุงเทพมหานครพบว่า

5 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุด (คน)

1.นครราชสีมา 550,475   
2.ขอนแก่น 375,753
3.เชียงใหม่ 359,752
4.อุบลราชธานี 354,191
5.นครศรีธรรมราช 335,402 

5 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้สูงอายุน้อยที่สุด (คน) 

1.ระนอง 30,336

2.แม่ฮ่องสอน 35,260

3.สตูล 41,579

4.พังงา 43,029

5.ตราด 49,025 

ปัญหาความไม่พร้อมทางการเงินของคนไทยกำลังเป็นปัญหาใหญ่และสำคัญมากของประเทศ คนไยส่วนใหญ่มีหนี้สินล้นพ้นตัว เห็นได้จากหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งสูงถึง 90% ของจีดีพี NPL สูงทะลุ 1 ล้านล้านบาท กลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นหนี้เร็ว ด้วยพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป ขณะที่คนสูงอายุเองก็ไม่ได้วางแผนการเงินเพื่อเตรียมเกษียณ หนักกว่านั้น หลายคนเกษียณแล้วก็ยังเป็นหนี้ เฉลี่ยคนละ 400,000 บาท เป็นคำถามตัวโตๆว่า ประเทศไทยจะพัฒนาต่อไปได้อย่างไร ในเมื่อสภาพความเป็นอยู่ของคนส่วนใหญ่ในประเทศมีความพร้อมในการดูแลตัวเองได้น้อยเช่นนี้ 

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT