ข่าวเศรษฐกิจ

‘สิงคโปร์’ ขึ้นแท่นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในโลก ไทยอันดับที่ 39 เด่นนโยบายEV-พลังงานสะอาด

2 เม.ย. 67
‘สิงคโปร์’ ขึ้นแท่นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในโลก ไทยอันดับที่ 39 เด่นนโยบายEV-พลังงานสะอาด

‘สิงคโปร์’ คว้าตำแหน่งประเทศที่น่าไปลงทุนมากที่สุดในโลก จากความพร้อมด้านเศรษฐกิจ การเมือง คุณภาพมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ขณะที่ ‘ไทย’ อยู่อันดับที่ 39 โดดเด่นในด้านการออกมาตรการดึงดูดการลงทุนจากบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

การจัดอันดับนี้ทำขึ้นโดย Economist Intelligence Unit (EIC) หรือหน่วยงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของสื่อด้านเศรษฐกิจและการเมืองชื่อดัง The Economist ซึ่งได้รวบรวมข้อมูลด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของ 82 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลกมาเพื่อจัดอันดับประเทศที่มีสภาพแวดล้อมโดยรวมเหมาะและสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศได้มากที่สุด

ในการจัดอันดับนี้ แต่ละประเทศจะถูกประเมินผ่านตัวชี้วัด 91 ข้อ จาก 11 เกณฑ์ประเมิน ซึ่งประกอบไปด้วย 

  • สภาพแวดล้อมและเสถียรภาพทางการเมือง 
  • สภาพเศรษฐกิจในระดับมหภาค
  • โอกาสในการตีตลาดภายในประเทศ
  • นโยบายของรัฐที่มีต่อเอกชนและนโยบายสนับสนุนการแข่งขันในประเทศ
  • นโยบายของรัฐในการควบคุมและดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI)
  • มาตรการและกฎระเบียบในการกำกับดูแลการค้าระหว่างประเทศ 
  • ระบบในการจัดเก็บภาษี
  • ระบบการเงินและแหล่งทุนสำหรับธุรกิจ
  • ตลาดแรงงาน และคุณภาพมนุษย์ภายในประเทศ
  • โครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบรถราง รถไฟ ทางหลวง
  • ความพร้อมด้านเทคโนโลยี 

โดยถ้าหากประเทศนั้นมีความพร้อมในด้านใดด้านหนึ่งมาก ก็จะได้คะแนนเต็ม 5 คะแนน และลดลงหากมีความพร้อมน้อยลงไปจนถึงระดับ 1 คะแนน ซึ่งบ่งบอกว่าประเทศนั้นๆ มีความพร้อมในด้านดังกล่าวต่ำมากที่สุด

สิงคโปร์พร้อมที่สุด การเมืองมั่นคง โครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยีดีเยี่ยม

จากการประเมิน ประเทศที่ได้คะแนนโดยรวมสูงที่สุดในโลกก็คือ ประเทศในอาเซียนเราเองอย่าง ‘สิงคโปร์’ ที่ได้รับคะแนนไปทั้งหมด 8.56 คะแนนเต็มสิบ และได้คะแนนดีเยี่ยมในด้านเสถียรภาพทางการเมือง ความพร้อมด้านเทคโนโลยี และนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนให้มีภาคเอกชนในประเทศพัฒนาด้านเทคโนโลยีได้อย่างเต็มที่

นี่ทำให้ประเทศสิงคโปร์เป็นแหล่งลงทุนและทำธุรกิจชั้นดี โดยเฉพาะสำหรับบริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าและศักยภาพในการเติบโตสูง ที่ไม่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก แต่ต้องการแรงงานทักษะสูงที่มีคุณภาพ และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีที่พร้อม ซึ่งสิงคโปร์มีครบทั้งหมด

ถัดจากสิงคโปร์ ประเทศอื่นๆ ใน 10 อันดับแรกก็ล้วนแต่เป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี เช่น เดนมาร์ก ที่มาเป็นอันดับสอง ตามมาด้วยสหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา สวีเดน นิวซีแลนด์ ฮ่องกง และฟินแลนด์

จากรายงานของ EIC เดนมาร์กโดดเด่นในด้านปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจและลงทุน รวมไปถึงระบบขนส่งสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่ดีเยี่ยม ขณะที่สหรัฐฯ โดดเด่นในแง่ที่มีนโยบายเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ 

 

‘ไทย’ อยู่อันดับที่ 39 เด่นด้านนโยบาย EV และการขยายโครงสร้างพื้นฐาน

จากการจัดอันดับดังกล่าว ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 39 โดยมีความโดดเด่นในแง่ที่เป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียนที่มีการออกมาตรการดึงดูดบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสีเขียวและพลังงานสะอาดอื่นๆ เข้ามาลงทุนในประเทศ ทั้งด้วยการช่วยเหลือด้านภาษี และการอำนวยความสะดวกอื่นๆ 

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไทยประสบความสำเร็จพอสมควรในการดึงดูดการลงทุนด้าน EV โดยในปี 2023 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรม EV จำนวนถึง 103 โครงการ เงินลงทุนรวม 77,192 ล้านบาท เป็นโครงการผลิต EV มากที่สุด จำนวน 18 โครงการ มูลค่า 40,004 ล้านบาท รองลมาเป็นโครงการผลิตแบตเตอรี่สำหรับ EV และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) จำนวน 39 โครงการ มูลค่ารวม 23,904 ล้านบาท

นอกจากนี้ ไทยยังมีพัฒนาการที่ดีในแง่ของการขยายโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการขยายเส้นทางรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ และขยายเส้นทางขนส่งออกไปยังเขตเศรษฐกิจสำคัญของประเทศต่างๆ เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออกหรือ EEC รวมไปถึงเป็นประเทศทางเลือกในการลงทุนที่ดีอีกหนึ่งที่ ในการกระจายความเสี่ยงจากจีน นอกเหนือไปจากอินเดีย และเวียดนาม

‘อินเดีย’ แหล่งแรงงานขนาดใหญ่ อนาคตตลาดและฐานการผลิตใหม่

นอกจากประเทศที่ได้คะแนนดีเยี่ยมแล้ว การศึกษานี้ยังชี้ให้เห็นถึงกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาสภาพแวดล้อมให้ดึงดูดการลงทุนได้มากขึ้น และหนึ่งในประเทศดังกล่าวก็คือ ‘อินเดีย’ ที่ปัจจุบันอยู่ในอันดับที่ 51

รายงานของ EIC ระบุว่าอินเดียถือเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีสเกลด้านสถานที่และแรงงานใหญ่พอแข่งขันกับจีนในการเป็นฐานการผลิตและตลาดในการขายสินค้าได้ เพราะมีประชากรอายุน้อยจำนวนมาก และมีการออกมาตรการ ระบบควบคุมการค้าระหว่างประเทศ และระบบภาษี ที่เอื้อให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ

นอกจากอินเดียแล้ว ประเทศอื่นๆ ที่มีพัฒนาการดีในด้านสภาพเศรษฐกิจได้แก่ ‘กรีซ’ ที่เพิ่งได้รัฐบาลใหม่ที่มีนโยบายสนับสนุนการลงทุนของเอกชนและการลงทุนจากต่างชาติ โดยการปฏิรูปทางเศรษฐกิจมากมาย เช่น การลดภาษี และ ‘กาตาร์’ ที่รัฐบาลลงทุนเงินถึง 2.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขยายสนามบินนานาชาติฮาหมัด เครือข่ายถนน และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการท่องเที่ยวอื่นๆ 

ทั้งนี้ ประเทศที่ได้คะแนนต่ำที่สุดในการจัดอันดับนี้คือ ‘เวเนซุเอลา’ ที่ยังคงต้องเผชิญกับภาวะล่มสลายทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองมายาวนานตั้งแต่ปี 2016 จากภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ซึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นด้วยการพิมพ์ธนบัตรออกมาเรื่อยๆ จนปริมาณเงินในระบบสูงขึ้นโดยปราศจากทุนหนุนหลัง ทำให้ค่าเงินลดมูลค่าอย่างรวดเร็ว

 

ที่มา: EIC

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT