ข่าวเศรษฐกิจ

เปิดโผครม. เพื่อไทย 9 กระทรวงเศรษฐกิจ ใครนั่งตำแหน่งไหน? นโยบายไหนได้ไปต่อ?

22 ส.ค. 66
เปิดโผครม. เพื่อไทย 9 กระทรวงเศรษฐกิจ ใครนั่งตำแหน่งไหน? นโยบายไหนได้ไปต่อ?

เรียกได้ว่าเป็นอีกวันสำคัญแห่งประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะในที่สุดในวันนี้ (22 ส.ค.) ประเทศไทยก็อาจจะได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่แล้ว หาก ‘เศรษฐา ทวีสิน’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย และอีก 11 พรรคร่วมรัฐบาลสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาได้เกินครึ่ง หรือ 376 เสียงขึ้นไป

จากกำหนดการณ์ในวันนี้ การถ่ายทอดสดการประชุมสภาจะเริ่มขึ้นในเวลาประมาณ 10.00 น. ก่อนที่จะมีการโหวตนายกรัฐมนตรีในเวลาประมาณ 15.00 น. ซึ่งนอกจากผลการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องมาลุ้นกันก็คือผู้นั่งเก้าอีรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน

ในวันนี้ทีม SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาดูก่อนว่าจากข้อมูลและการคาดการณ์ในตอนนี้ ตัวแทนจากพรรคใดจะได้คุมกระทรวงด้านเศรษฐกิจใดบ้าง และมีนโยบายทางเศรษฐกิจไหนจากพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลที่น่าจะถูกนำมาใช้ในรัฐบาลชุดใหม่

 

เพื่อไทยจ่อนั่ง 8 กระทรวง คาดได้คลัง-คมนาคม

เมื่อวานนี้ พรรคเพื่อไทยพร้อมแกนนำพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล รวม 11 พรรค รวมเสียง สส. 314 เสียง แถลงข่าวร่วมกันที่รัฐสภา พร้อมเปิดเผยแผนการแบ่งตำแหน่งสำคัญในรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งประกอบด้วย

  1. พรรคเพื่อไทย : รัฐมนตรีว่าการ 8 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รวม 9 ตำแหน่ง
  2. พรรคภูมิใจไทย : รัฐมนตรีว่าการ 4 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 4 ตำแหน่ง
  3. พรรคพลังประชารัฐ : รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง
  4. พรรครวมไทยสร้างชาติ : รัฐมนตรีว่าการ 2 กระทรวง และรัฐมนตรีช่วย 2 ตำแหน่ง
  5. พรรคชาติไทยพัฒนา : รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง
  6. พรรคประชาชาติ : รัฐมนตรีว่าการ 1 กระทรวง
  7. พรรคอื่นๆ อีก 5 พรรค ได้แก่ พรรคชาติพัฒนากล้า 2 ที่นั่ง, พรรคเพื่อไทยรวมพลัง 2 ที่นั่ง, พรรคเสรีรวมไทย 1 ที่นั่ง, พรรคท้องที่ไทย 1 ที่นั่ง และพรรคพลังสังคมใหม่ 1 ที่นั่ง 

จากแผนนี้จะเห็นได้ว่า การจัดโควตาตำแหน่งสำคัญนั่นลดหลั่นลงมาตามคะแนนเสียงและเก้าอี้ ส.ส. ในสภา แต่ยังไม่มีการเปิดเผยว่า ผู้แทนของแต่ละพรรคการเมืองจะได้นั่งเก้าอี้กระทรวงใดบ้าง โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้เปิดเผยในแถลงการณ์เมื่อวานแล้วว่า พรรคร่วมรัฐบาลได้พูดคุยถึงรายละเอียดของรัฐมนตรีของแต่ละพรรค และได้พูดคุยตกลงกันแล้ว ซึ่งพรรคจะนำไปดำเนินการต่อ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม จากโผครม. ชุดใหม่ที่มีการเปิดเผยออกมา ตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจทั้ง 9 กระทรวงนั้น น่าจะมีการชิงตำแหน่งกันอยู่ในหมู่พรรคใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ รวมไทยสร้างชาติ และชาติไทยพัฒนา

โดยพรรคที่น่าจะได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี ‘กระทรวงการคลัง’ ที่ได้งบประมาณสูงที่สุดในหมู่กระทรวงเศรษฐกิจ และมีอำนาจสูงสุดในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ค่อนข้างเป็นที่แน่นอนว่าจะเป็น ‘พรรคเพื่อไทย’ โดยมีตัวเต็งสำคัญหลายคน คือ ตัวนายเศรษฐา ทวีสิน เอง รวมไปถึง แพทองธาร ชินวัตร และ เผ่าภูมิ โรจนสกุล

ในขณะที่ เก้าอี้ที่มีผู้ชิงตำแหน่งมากที่สุดก็คือ ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีการคาดการณ์ว่าเป็นไปได้ถึง 4 คนด้วยกัน คือ นายไชยา พรหมา และ นาย วิสุทธิ์ ไชยณอรุณ จากพรรคเพื่อไทย และสนอรรถ กลิ่นประทุมจาก พรรคภูมิใจไทย และ นาย ธนกร วังบุญคงชนะ จากรวมไทยสร้างชาติ

770189

 

นโยบายเงินดิจิทัล-กัญชาได้ไปต่อ

นอกจากการเปิดแผนการแบ่งเก้าอี้สำคัญในครม. แล้ว พรรคเพื่อไทยยังได้เปิดเผยรายชื่อนโยบายสำคัญที่ได้รับการยอมรับร่วมกันจากพรรคร่วมรัฐบาล โดยยืนยันว่าจะไม่มีการเสนอแก้กฎหมายมาตรา 112 ซึ่งเป็นนโยบายที่เป็นที่ถกเถียง และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้สำเร็จ

นอกจากนี้ ทุกพรรคยังได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันว่าจะนำนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่หาเสียงไว้เป็นนโยบายหลักในการบริหารประเทศ เช่น 

  1. นโยบาย digital wallet กระเป๋าเงินดิจิทัล และเงินกระตุ้นเศรษฐกิจคนละ 10,000 บาท
  2. นโยบายที่ดินทำกิน สนับสนุนให้เกษตรกรทุกครัวเรือนมีที่ดินทำกินอย่างพอเพียง
  3. นโยบายขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 600 บาทภายในปี 2570
  4. นโยบายขึ้นเงินเดือนปริญญาตรีขั้นต่ำ 25,000 บาท
  5. นโยบายเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ
  6. นโยบายเพิ่มราคาพืชผลเกษตร
  7. นโยบายแก้ปัญหาความขัดแย้งและสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
  8. นโบายกัญชาทางการแพทย์และสุขภาพ
  9. นโยบายแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และยังคงไว้ในส่วนของหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์

ทั้งนี้ พรรคร่วมจะนำนโยบายเข้ามาบูรณาการร่วม พร้อมปรับ เสริม หรือประสานนโยบายของ “พรรคร่วมรัฐบาล” ให้เป็นนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนมากที่สุด และนำมาจัดทำเป็นนโยบายร่วมกัน เพื่อแถลงต่อรัฐสภาต่อไป

จากแถลงการณ์นี้ จึงเป็นที่แน่ชัดแล้วว่านโยบายทางเศรษฐกิจหลักๆ ที่จะถูกนำมาใช้ในอีก 4 ปีข้างหน้า ก็คือนโยบายของพรรคเพื่อไทย ในขณะที่มีนโยบายของพรรคร่วมอันดับ 2 คือภูมิใจไทยมาร่วมบ้าง ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปว่าในวันนี้พรรคเพื่อไทยจะสามารถตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และดำเนินการตามแผนที่แถลงไว้ได้หรือไม่ ที่สำคัญเสถียรภาพของรัฐบาลหลังจับมือรวมกันถึง 11 พรรคการเมืองนี้ จะทำให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตเข้มแข็งขึ้นกว่าอดีต และ ปัจจุบันได้แค่ไหน 




advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT